xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยชูส่งเสริมการเกิดบนเวทีโลก APPC ห่วงไทยประชากรลดครึ่งหนึ่งใน 60 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย ร่วม APPC ชูส่งเสริมการเกิดบนเวทีนานาชาติ หลังไทยติด 23 ประเทศประชากรลด อีก 60 ปี คนไทยลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 33 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นสูงอายุ เด็ก 0-14 ปีเหลือ 1 ล้านคน



เมื่อวันที่ 17 พ.ย. พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการประชุม The Seventh Asian and Pacific Population Conference (APPC) ที่ The United Nations Conference Center (UNCC) กทม. เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” ซึ่งการประชุมดังกล่าวถือเป็นการครบรอบ 60 ปีของการประชุม และครบรอบ 30 ปี ของการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา สิ่งที่ท้าทายสำหรับไทย คือ อัตราการเกิดที่ลดลง ส่งผลให้ในอีก 60 ปีข้างหน้าหรือปี 2626 จำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน วัยแรงงานช่วงอายุ 15-64 ปี จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน วัยเด็กช่วงอายุ 0-14 ปี จะลดลงจาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน ส่วนสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ หากประชากรลดลงมากขนาดนี้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก


นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมฯ เสนอให้ที่ประชุมเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการเกิด ภายใต้แคมเปญ “Give Birth Great World” การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไทยติดอยู่ในกลุ่ม 23 ประเทศที่ประชากรลดลง สธ.จึงมีนโยบายให้เร่งผลักดันมาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งในเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูก ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยเร่งภาครัฐและเอกชนยกเครื่องคลินิกส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ยังให้คำมั่นสัญญาในการประชุม Nairobi ว่าจะให้ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จในปี 2573 ตามเป้าหมาย SDGs ส่วนใหญ่ ด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคีเครือข่ายจะต้องร่วมมือกัน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น