ในยุคที่กระแสการดูคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์ม OTT (Over The Top) ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน 4G 5G ในประเทศไทย ที่ทำให้ความสะดวกในการเข้าถึงคอนเทนต์เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านทุกแพลตฟอร์มออนไลน์และบนสมาร์ทโฟน รวมทั้งจำนวน OTT ของผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาทำตลาดในไทย จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT ไทยที่จะเร่งขยายตลาดผนึกกำลังสร้างความแข็งแกร่ง ยกระดับประสบการณ์การรับชม รวมทั้งเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้แก่อุตสาหกรรม OTT รวมถึงสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนำนวัตกรรมมาใช้กำหนดทิศทาง OTT ของไทย
ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการทรู ไอดี หนึ่งในแพลตฟอร์ม OTT ชั้นนำของไทยได้แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจ OTT ในงาน “NBTC International OTT Symposium in Digital Ecosystem” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงาน กสทช. โดยนายวินท์รดิศ กลศาสตร์เสนี ประธานฝ่ายดิจิทัลมีเดีย ได้กล่าวว่า “ที่ผ่านมาทั้งผู้ประกอบการทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ต่างได้รับประโยชน์จาก OTT โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้การรับชมคอนเทนต์ผ่าน OTT ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างแพร่หลาย เห็นได้ชัดจากปริมาณการรับชม VDO on Demand ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ นอกจากนี้ ผู้ชมผ่านทรูไอดี ยังเลือกที่จะรับชมเนื้อหาตามเวลาที่ตนเองต้องการ มากกว่ารับชมตามเวลาที่กำหนดในผังรายการ นี่คือการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในการเลือกรับชมตามความต้องการ (VDO on demand) พฤติกรรมเหล่านี้ยังทำให้เกิดกระแสการลงทุนในคอนเทนต์ โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนวัตกรรมสำหรับสินค้าและบริการต่างๆ อีกด้วย
กระแสที่มาแรงในปี 2023 ยังเป็นเทรนด์ของ AI ที่ถูกพัฒนาจนสามารถใช้งานได้ในวงกว้าง ผู้บริโภคเองสามารถใช้งานได้ เช่น Chat GPT สำหรับอุตสาหกรรม OTT สามารถนำ AI มาช่วยลดค่าใช่จ่ายในการผลิต (Production) โดยทั่วไปขั้นตอนการผลิตค่าใช้จ่ายสูงมีโอกาสสร้างกำไรหรือขาดทุนได้ ดังนั้น AI สามารถช่วยลดระยะเวลาและปรับปรุงกระบวนการผลิต อีกทั้งยังสามารถทำได้อีกหลายสิ่งแทนที่มนุษย์เคยทำ ในขณะเดียวกัน AI ยังสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมในรับชมของคนในวัยต่างๆ ที่แตกต่างกันแล้วประมวลผลเพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจผู้ชมมากยิ่งขึ้น”