ผู้เชี่ยวชาญเผย บริษัท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเทอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน และ หัวเว่ย (Huawei) ยังคงรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่องในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิปชั้นสูง แม้จะถูกสหรัฐฯ กีดกันทุกวิถีทาง และคาดว่าเครื่องจักรลิโธกราฟีของ ASML ที่ทาง SMIC มีใช้งานอยู่แล้วจะสามารถช่วยให้ผู้ผลิตจีนรายนี้พัฒนาชิประดับ 5 นาโนเมตรได้สำเร็จในที่สุด
เบิร์น เจ. ลิน (Burn J. Lin) วิศวกรไฟฟ้าซึ่งเป็นอดีตรองประธานบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ให้สัมภาษณ์กับสื่อบลูมเบิร์ก โดยระบุว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯ จะปิดกั้นอย่างสมบูรณ์แบบไม่ให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีชิปของตัวเอง”
แม้สหรัฐฯ จะทั้งคว่ำบาตรและควบคุมการส่งออกเพื่อสกัดการพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีน แต่มันกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ SMIC สำแดงความยืดหยุ่น (resilience) และความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น (ingenuity) ด้วยการพัฒนาชิป 7 นาโนเมตรรุ่นที่ 2 ออกมา และยังมีกำลังผลิตมากพอที่จะทำให้หัวเว่ยนำไปใช้เป็นขุมพลังให้กับสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ได้ถึง 70 ล้านเครื่อง
ว่ากันว่า SMIC ใช้เครื่องจักรลิโธกราฟีของ ASML รุ่น Twinscan NXT:2000i ซึ่งมีเทคโนโลยี deep ultraviolet (DUV) และสามารถยิงชิปขนาด 7 นาโนเมตร และ 5 นาโนเมตรได้ ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เพิ่งจะประกาศห้ามส่งออกเครื่องจักรดังกล่าวให้กับจีนเมื่อต้นปีนี้เอง
ทั้งนี้ ความละเอียดของเครื่อง Twinscan NXT:2000i นั้นอยู่ที่ระดับ ≤ 38nm ซึ่งดีพอที่จะใช้พิมพ์ลายบนแผ่นเวเฟอร์แบบ single-patterning สำหรับการผลิตชิป 7 นาโนเมตรในปริมาณมากๆ ได้ แต่หากจะก้าวไปถึงกระบวนการผลิตระดับ 5 นาโนเมตรนั้นจำเป็นต้องใช้ความละเอียดที่สูงขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นผู้ผลิตชิปสามารถใช้กลวิธีที่เรียกว่า การถ่ายแบบลายวงจรหลายครั้ง หรือ multi-patterning เพื่อให้ได้ลวดลายจุลภาคระดับนาโนเมตรที่แม่นยำและละเอียดขึ้น แต่เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนทำให้ไม่เอื้อต่อการผลิตในปริมาณมากๆ
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ทำให้ SMIC ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้วิธี multi-patterning เพื่อให้ได้ความละเอียดที่สูงขึ้น และก็ดูเหมือนว่ากำลังผลิตจะอยู่ในระดับสูงพอที่หัวเว่ยรับได้ด้วย ดังนั้นจึงเป็นคำถามที่น่าคิดว่า มาตรการกีดกันของสหรัฐฯ ต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนนั้น “เวิร์ค” จริงหรือไม่?
“สิ่งที่สหรัฐฯ ควรจะทำก็คือ พยายามรักษาความเป็นผู้นำในด้านการออกแบบชิป มากกว่าพยายามสกัดกั้นความก้าวหน้าของจีน ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะจีนใช้ยุทธศาสตร์หลอมรวมทั้งประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชิปของตัวเอง และ (สิ่งที่สหรัฐฯ ทำ) ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกด้วย” ลิน ระบุ
มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ยังดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับ SMIC โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการที่วอชิงตันออกข้อจำกัดต่างๆ จนทำให้ TSMC ไม่สามารถทำธุรกรรมกับองค์กรจีนบางแห่ง ส่งผลให้คำสั่งซื้อจำนวนมากตกไปอยู่ในมือของ SMIC แทน และเอื้อให้บริษัทแห่งนี้สามารถพัฒนาเทคนิคการผลิตและศักยภาพทางเทคโนโลยีมากขึ้นตามไปด้วย
ที่มา: Bloomberg