ไปรษณีย์ไทยเตรียมเปลี่ยนพื้นที่อาคารไปรษณีย์กลาง จัดงาน ‘โพสต์ติเวิร์ส’ พร้อมจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 หวังสร้างซอฟต์เพาเวอร์จากเรื่องราว 140 ปี กิจการแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-3 ธ.ค. สร้างจุดเช็กอินใหม่ย่านบางรัก
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) กล่าวว่า ในอนาคตไปรษณีย์ไทย จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นทั้งในเรื่องของการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ รวมถึงการใช้งานระบบคลาวด์กลางภาครัฐมาใช้งาน เพราะไปรษณีย์ไทยมีข้อมูลจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมาก
ปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทยถือเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโอกาสทางการเติบโตทางดิจิทัล ทั้งจากภาพของการเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีข้อมูลเครือข่ายผู้ใช้บริการ ระบบโลจิสติกส์ที่ไว้ใจได้ จนถึงความปลอดภัยด้านดิจิทัลของข้อมูลด้วย Digital ID ที่คาดว่าจะพลิกรูปแบบงานเอกสารออนไลน์ทั่วประเทศในปี 2567
“การให้บริการของไปรษณีย์ไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ด้วยเครื่องมือดิจิทัล ซึ่งกระทรวงดีอีถือเป็นหนึ่งในกระทรวงที่พร้อมผลักดันไปรษณีย์ไทยให้ไปสู่ตลาดโลก”
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยถือเป็นหนึ่งในไม่กี่หน่วยงานที่สามารถเชื่อมการให้บริการระหว่างดิจิทัล และออฟไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงไปด้วยกัน และพร้อมที่จะช่วยผลักดันสิ่งใหม่ๆ ในอนาคต
จุดแข็งของไปรษณีย์ไทยคือมีโครงข่ายที่ครอบคลุม เข้มแข็ง และมีความสำคัญกับประชาชนไทย ทั้งในเรื่องของระบบ CRM ที่มีความรู้จักลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำให้ระบบโลจิสติกส์แข็งแรง ช่วยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโต ช่วยให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนให้พาร์ตเนอร์
ภายในงาน POSTiverse ส่งสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปี ไปรษณีย์ไทย และงานแสดงไปรษณียากรโลก 2566 ระหว่าง 27 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม ที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก จะมีทั้งการจัดแสดงนิทรรศการ ‘เจ้าฟ้านักสะสม’ POST Gallery 5 โซน จัดแสดงเรื่องราวของไปรษณีย์ไทย พร้อมกิจกรรม การจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึก 140 ปี และคาแร็กเตอร์อาร์ตทอยต่างๆ
“การจัดงานที่ไปรษณีย์กลางบางรัก ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยในทุกยุคทุกเวลา พร้อมร่วมสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟต์เพาเวอร์ ป็อปคัลเจอร์ ที่จะมาครีเอทีฟพื้นที่ให้กลุ่มครีเอเตอร์ยุคใหม่เข้าใจถึงไปรษณีย์ไทยไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญในการจัดแสงตราไปรษณียากรโลก คือ สแตมป์สีม่วงแดง 1 เซ็นต์บริติชกีอานา ปี 1856 ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก มูลค่ามากกว่า 300 ล้านบาท และแสตมป์มังกร 500 mon (พิมพ์กลับหัว) ปี 1871 จากญี่ปุ่น ที่มีราคาแพงสุดในทวีปเอเชีย ด้วยมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท