กระทรวงดีอี เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาหลอกลวงผ่านการซื้อของออนไลน์แบบเก็บเงินปลายทาง (COD) หลังพบมิจฉาชีพหลอกขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ด้วยการกำหนดมาตรฐานการรับส่งสินค้า ยืนยันตัวคนผู้ส่ง และพัฒนาฐานข้อมูลกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลมิจฉาชีพ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีดีอี ได้สั่งการให้นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในการประชุม “การแก้ไขปัญหาการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ กรณีใช้ช่องทาง Cash On Delivery (COD)” โดยมี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี ผู้แทนจากตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า และตัวแทนบริษัทขนส่งพัสดุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ
ปัจจุบัน ปัญหาการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ สูงมาก มีจำนวนคดีหลอกลวงซื้อขายออนไลน์แจ้งความกว่า 130,000 คดี ในรอบ 1 ปี 7 เดือนที่ผ่านมา (1 มี.ค.2565-30 ก.ย.2566) โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ไอจี ติ๊กต็อก และไลน์ เพราะเป็นช่องทางติดต่อซื้อขายสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และคนร้ายหลอกลวงออนไลน์มักจะใช้ช่องทาง Cash on Delivery (COD) หรือการส่งพัสดุสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง
คนร้ายจะใช้ช่องทางนี้หลอกผู้สั่งสินค้าออนไลน์ และให้เลือกการส่งพัสดุแบบเก็บเงินปลายทาง โดยเมื่อผู้รับสินค้าจ่ายเงินพนักงานขนส่งแล้ว ภายหลังเมื่อแกะพัสดุออกมา พบว่าไม่ตรงปก เป็นของที่ผู้สั่งไม่ได้สั่งซื้อ หรือเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ ใช้งานไม่ได้ ไม่สามารถขอคืนเงินได้ สาเหตุมักเกิดจากคนร้ายมีการปกปิดข้อมูล เช่น ไม่แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถติดตามขอคืนเงิน หรือหาตัวคนร้ายได้
ในที่ประชุมวันนี้ ได้หารือมาตรการแก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์เก็บเงินปลายทาง (COD) สรุปได้ดังนี้
1.การจัดทำมาตรฐานการรับส่งสินค้าของผู้ให้บริการรับส่งสินค้าและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น การชะลอการโอนเงินให้ร้านค้า/ผู้ส่งสินค้า (ซึ่งอาจจะเป็นคนร้าย) วิธีการและระยะเวลาในการร้องเรียนของผู้รับสินค้า เป็นต้น
2.แนวทางการยืนยันตัวตนของผู้ส่งสินค้า
3.แนวทางการพัฒนาฐานข้อมูลกลางและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะข้อมูลคนร้ายและกิจกรรมที่ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้าย เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดปัญหาการหลอกลวงประชาชนเป็นจำนวนมาก ดีอีได้เร่งรัดเเก้ปัญหาให้ประชาชนที่ถูกหลอกลวงจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และได้สินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ได้รับสินค้า โดยเฉพาะกรณี COD ที่คนร้ายมักจะใช้
สำหรับประชาชนหรือผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้า บริการต่างๆ ทางออนไลน์แล้วเกิดปัญหา ถูกโกง หลอกลวง อย่านิ่งนอนใจ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน หรือปัญหา หรือขอคำปรึกษาเข้ามาได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1212 OCC ของ ETDA ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจะทำการประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ท่านเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือและได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีมากที่สุด