xs
xsm
sm
md
lg

โกลบเทคชี้เทคโนโลยีอวกาศสมัยใหม่ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โกลบเทค หวัง New Space Economy เปิดมิติใหม่ของการสำรวจ วิจัย รวมถึงการจัดการความเสี่ยงภัยจากการเคลื่อนตัวของพื้นดินและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ด้วยดาวเทียมสำรวจโลกความละเอียดระดับมิลลิเมตร

ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ รองประธานบริหาร บริษัท โกลบเทค จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีดีจี กล่าวว่า การนำข้อมูลเทคโนโลยีทางอวกาศมาใช้ในการตัดสินใจ และกำหนดแนวทางในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการสร้าง New Space Economy ถือว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ดาวเทียมความละเอียดสูงสามารถประยุกต์ใช้งานในเรื่องของการสำรวจ การวิจัย การจัดการ รวมถึงการใช้พื้นที่บนอวกาศ และประเทศไทยเพิ่งจะมีการปล่อยดาวเทียม THEOS-2 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร จัดอยู่ในกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกที่มีความละเอียดสูง จะโคจรผ่านประเทศไทยถึง 4 รอบใน 1 วัน”

ในมุมของนอสตร้า จึงได้นำเอาเทคโนโลยี Ground Motion มาประยุกต์ใช้สำหรับวิเคราะห์ความเสี่ยงภัย ด้วยการนำข้อมูลจากดาวเทียม SAR ที่โคจรอยู่บนอวกาศเหนือพื้นโลกกว่า 700 กิโลเมตร ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล การประมวลผลข้อมูล

โดยสามารถวัดเคลื่อนตัวของแผ่นดินในระดับความละเอียดมีหน่วยเป็น “มิลลิเมตร” ด้วย Interferometric Synthetic Aperture Radar (InSAR) เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนที่เรียกว่า Interferometric Processing ผลลัพธ์ที่ได้จะมีส่วนช่วยในการทำนายและติดตาม วิเคราะห์ความเสี่ยงภัยการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการวางแผนการใช้งานเชิงพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่ลาดชัน และการเกษตรในพื้นที่สูง

ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีทางด้านอวกาศจะทำให้เห็นข้อมูลภาพรวมเชิงพื้นที่มากขึ้น เพราะดาวเทียมที่เก็บภาพข้อมูลในพื้นที่กว้างมากด้วยช่วงคลื่นความถี่ที่สามารถตรวจวัดระดับได้ละเอียดกว่าตาของมนุษย์ เมื่อนำข้อมูลมาแสดงการเปรียบเทียบจะเห็นได้ชัดเจนว่า พื้นที่นั้นๆ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีการเคลื่อนตัวขึ้นหรือยุบตัวลงมากน้อยเพียงใด


การใช้งานระบบ Ground Motion จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.Ground Motion (InSAR) เทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียมความละเอียดสูง สามารถเก็บข้อมูลในพื้นที่บริเวณกว้าง หรือครอบคลุมทั้งประเทศไทย และสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ตรวจสอบและแสดงผลการเปลี่ยนแปลงของพื้นดิน และโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถเลือกได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด หรือย้อนหลังสูงสุดถึง 8 ปี และเฝ้าติดตามการเคลื่อนตัวในทุกๆ 12 วัน ซึ่งข้อมูลแสดงผลผ่านทางระบบ Ground Motion Service ผ่านระบบออนไลน์


2.Infra Motion (IoT) ชุดอุปกรณ์สำหรับวัดความเคลื่อนไหวของพื้นดิน และการตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างที่เกิดขึ้น โดยใช้ชุดอุปกรณ์ IoT เชื่อมต่อสัญญาณข้อมูลไร้สายชนิด Wireless Condition Monitoring ในกรณีต้องการเฝ้าระวังสิ่งปลูกสร้างหรือพื้นดินที่มีความละเอียดอ่อนสูงเฉพาะพื้นที่ เช่น พื้นที่ก่อสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เป็นต้น

สำหรับภาคการเกษตร การนำเอาเทคนิค InSAR มาประยุกต์ใช้เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวทางดินอย่างละเอียดทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ทำให้เราประเมินการใช้พื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยปัจจัยพื้นที่ ภูมิอากาศ หรือความจำเป็นในการส่งเสริมพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ลาดชัน


กำลังโหลดความคิดเห็น