xs
xsm
sm
md
lg

ธีออส-2 (THEOS-2) ดาวเทียมสำรวจ-ถ่ายภาพ สัญชาติไทย ล้ำสุดในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ ธีออส-2 (THEOS-2) ดาวเทียมสำรวจ-ถ่ายภาพ สัญชาติไทย ล้ำสุดในอาเซียน



ในที่สุด ดาวเทียม “ธีออส-2” ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจและถ่ายภาพสัญชาติไทย ซึ่งเป็นผลงานของ 20 วิศวกรชาวไทย ของจีสด้า หรือ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ ก็ได้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยจรวด “เวก้า” จากฐานปล่อยที่มีชื่อว่า ยุโรปเฟรนช์เกียนา ในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เวลา 08.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีการถ่ายทอดสดมาจากฐานปล่อยยุโรปเฟรนซ์เกียนา จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 7 ตุลาคม แต่ต้องเลื่อนออกมาเนื่องจากพบข้อขัดข้องทางเทคนิคบางประการ

หลังจากจรวดแบบเวก้า ซึ่งใช้เชื้อเพลิงแข็ง ได้ถูกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าทางทิศเหนือ และปล่อยดาวเทียมธีออส- 2 ภายในเวลา 50 นาที หลังทะยานขึ้นจากพื้นโลก ธีออส-2 ได้เข้าสู่วงโคจร เรียบร้อยตามแผนและเชื่อมต่อสัญญาณ กับสถานีรับที่แหลมฉบังได้ในเบื้องต้นแล้ว

ธีออส-2 จะต้องใช้เวลาอีก 6 เดือน ในการเซ็ตระบบอื่นๆ เพื่อความเสถียรของคุณสมบัติทั้งหมด อันจะทำให้การใช้งานสมบูรณ์แบบทุกประการ

วิศวกรของจีสด้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จนี้ อธิบายเพิ่มเติมว่า วงโคจรของดาวเทียมจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มจากวงโคจร ระดับความสูงต่ำ หรือที่เรียกว่า Low Earth Orbit วงโคจรระดับความสูงปานกลาง หรือ Medium Earth Orbit และสุดท้ายคือ วงโคจรค้างฟ้า หรือ Geostationary orbit ซึ่งเป็นวงโคจรที่หมุนด้วยความเร็วเท่ากับโลก

สำหรับดาวเทียมธีออส- 2 จัดเป็นดาวเทียมระดับความสูงต่ำ เนื่องจากเน้นภารกิจในการสำรวจและถ่ายภาพเป็นหลัก จึงไม่ต้องการวงโคจรที่มีความสูงมากนัก และวงโคจรนี้สามารถใช้ในภาคการสื่อสารได้ด้วย ซึ่งวงโคจรของธีออส-2 จะอยู่ที่ความสูง 621 กม.หรือเทียบเท่าระยะทางจากกรุงเทพฯถึงจังหวัดลำพูน

ชื่อธีออส นั้นมาจากคำย่อภาษาอังกฤษว่า Thailand Earth Observation Satellite (THEOS) หมายถึง ระบบสำรวจพื้นผิวโลกด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย

ดาวเทียมธีออส-2 มีความกว้าง 1.2 ม. ยาว 1.2 ม. สูง 1.8 ม. น้ำหนักทั้งหมด 455 กก.

ด้วยวิถีโคจรที่กล่าวมาข้างต้น ธีออส-2 จะโคจรผ่านพื้นที่ประเทศไทยวันละ 4 ครั้ง โดยเป็นช่วงกลางวัน 2 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการถ่ายภาพ ส่วนการโคจรผ่านในเวลากลางคืน ซึ่งไม่มีแสงสว่างจะเป็นช่วงเวลาที่ธีออส-2 ใช้ประมวลภาพต่างๆ ที่ถ่ายไว้ได้ และจัดส่งลงมายังสถานีภาคพื้นในประเทศไทย

ดร. ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิสารสนเทศหรือจิสด้า เปิดเผยว่า

ปัจจุบันไทยมีดาวเทียมสำรวจโลกธีออส-1 ใช้งานมาว่า 15 ปี แล้ว ซึ่งเกินกว่าอายุที่คาดการณ์ไว้นับสิบปีจึงจำเป็นต้องสร้างความต่อเนื่อง ดังนั้นจิสด้าได้พัฒนาดาวเทียมธีออส- 2 ขึ้นมา นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellite) ที่มีเซ็นเซอร์บันทึกภาพ ที่ความละเอียดสูงมากถึง 50 cm/ pixel ขึ้นสู่อวกาศ

รายละเอียดภาพ 50 cm/pixel หมายถึง 1 จุดภาพ หรือ pixel เทียบเท่ากับระยะบนพื้นโลกจริง 50x50 เซนติเมตร ซึ่งโดยปกติแล้ววัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 2x2 pixel ก็จะสามารถเห็นได้ในภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส-2 เช่น กลุ่มคน รถยนต์ สะพาน ตรอกซอกซอย หรือทางเดินเท้ากลางป่าใหญ่
ถือว่าสเปกของธีออส-2 ดีที่สุดในอาเซียน คุณภาพเทียบชั้นดาวเทียมสำรวจโลกระดับแนวหน้าของโลกอย่าง WorldView GeoEye และ Pleiades

ดาวเทียมสำรวจโลกเปรียบเสมือนการติดกล้องถ่ายภาพไว้บนดาวเทียม ที่สามารถถ่ายภาพประเทศไทยได้ทุกวัน ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยิ่งถ่ายภาพไว้เปรียบเทียบมากเท่าไหร่จะยิ่งได้ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ได้ตรงจุดมากเท่านั้น ซึ่งธีออส-2 สามารถถ่ายภาพทั่วโลกและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้จากดาวเทียมธีออส-2 มีทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิใช้ประเมินพื้นที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก ที่ตรงกับความต้องการของตลาด และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช การติดตามพื้นที่เพาะปลูก คาดการณ์ผลผลิตและวันเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ติดตามการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเล ใช่วางแผนการขนส่งบริหารจัดการอุปสงค์อุปทานให้สอดคล้องกับกลไกลตลาด ใช้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินทำกิน ปัญหาเขตที่ดินทับซ้อน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร การวางแผนบริหารจัดการน้ำ รวมไปถึงการวางแผนเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้อีกด้วย

ดร.ปกรณ์ หรือ “ดร.เดียว” กล่าวในตอนท้ายว่า

“ผมเชื่อว่า การส่งดาวเทียมธีออส-2 ขึ้นสู่วงโคจรในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความตื่นรู้ในด้านเทคโนโลยีดาวเทียมแก่คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งวิถีชีวิตในอนาคตต้องพึ่งพาความมั่นคงทางเทคโนโลยี และธีออส-2 ซึ่งคนไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาสร้างสรรค์ จะเป็นหลักประกันความเชื่อมั่นในเรื่องดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากนี้เป็นต้นไป”

-------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android

สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )

ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1


กำลังโหลดความคิดเห็น