xs
xsm
sm
md
lg

HPE เล่นใหญ่ AI เดิมพันวันตลาดทรงตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าพ่อไอทีระดับโลก ‘ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์’ หรือเอชพีอี (HPE) มองธุรกิจในไทยปิดปีทรงตัว แม้เห็นความต้องการแต่แนวโน้มการลงทุนขององค์กรไทยแผ่วลงในบางเซกเมนต์หลังจุดพีกยุคโควิด-19 ชี้ตลาด AI ไทยยังเป็นช่วงเริ่มต้นโดยสัญญาณดีไม่ได้อยู่ที่กลุ่มแบงก์ การันตีหากองค์กรไทยสนใจสามารถนำเข้าระบบล่าสุด ‘เอชพีอี กรีนเลค สำหรับโมเดลภาษาขนาดใหญ่’ หรือ HPE GreenLake for LLMs ที่เพิ่งเปิดตัวในสหรัฐฯ มาทำตลาดได้ทันที

HPE GreenLake for LLMs นั้นเป็นดาวเด่นจากงาน Discover ที่ HPE ลั่นกลองกระหึ่มลาสเวกัสเมื่อมิถุนายน 2023 เพราะนอกจากจุดยืนนำเสนอโซลูชันเอดจ์ทูคลาวด์ (Edge-to-Cloud) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ขอบปลายเครือข่ายจนถึงระบบคลาวด์เหมือนที่เคยทำ แต่การประกาศนี้แปลว่า HPE ได้หันมาวางเดิมพันยิ่งใหญ่กับบริการ ‘พับลิกคลาวด์สำหรับ AI’ ถือเป็นการประเดิมตลาดผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะสำหรับพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ HPE ไม่ได้มุ่งที่ไพรเวทคลาวด์ส่วนตัว แต่เป็นคลาวด์สาธารณะที่อาจจะสร้างโมเมนตัมให้ธุรกิจ HPE GreenLake ยิ่งขึ้นในอนาคต

HPE GreenLake นั้นเป็นธุรกิจที่ช่วยดันรายได้จากสมาชิกรายปี (ARR) ให้ HPE จนโตขึ้นกว่า 50-60% ต่อเนื่องหลายไตรมาส เห็นได้จากไตรมาส 3 ปีการเงิน 2023 (สิ้นสุดเดือนกรกฎาคม) HPE มีรายได้ทั่วโลก 7,002 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน พบว่ารายได้ ARR นั้นเพิ่มขึ้น 48% เป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์ ผลจากธุรกิจเอดจ์ (Intelligent Edge) และ HPE GreenLake ที่ขยายตัวโดดเด่น ขณะที่กลุ่มระบบประมวลผลศักยภาพสูงและปัญญาประดิษฐ์ (HPC & AI) มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจ Intelligent Edge ทำรายได้ให้ HPE มากกว่า 1,415 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 50% ชนะกลุ่ม HPC & AI ที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 836 ล้านดอลลาร์ โดยรายได้หลักของ HPE ยังคงมาจากกลุ่มประมวลผล หรือ Compute มูลค่า 2,624 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ากลุ่มสตอเรจที่ทำได้ 1,074 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสล่าสุด

***ผนึกกำลังเอดจ์ คลาวด์ และ AI

พลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวในงาน HPE Discover More 2023 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทย ว่า HPE วางธีมงานที่การทำให้ธุรกิจทันสมัยด้วยเทคโนโลยี Edge-to-Cloud เนื่องจาก HPE มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ทุกคนเข้าสู่ยุคที่องค์กรจะมีศูนย์กลางเป็น ‘เอดจ์ คลาวด์ และขับเคลื่อนด้วยข้อมูล’ ผ่านองค์ประกอบ 3 ส่วนคือเอดจ์ คลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ AI

‘ส่วนแรกคือเอดจ์ เป็นส่วนสร้างข้อมูลมหาศาลจากหลายอุปกรณ์ HPE มุ่งทำให้องค์กรสามารถปกป้องและวิเคราะห์ข้อมูลได้ รวมถึงใช้ซอฟต์แวร์ส่งต่อข้อมูลให้ปลอดภัยสู่คอร์ของระบบ หรือคลาวด์ อีกส่วนคือไฮบริดคลาวด์ องค์กรต้องการโซลูชันนี้เพราะปัจจุบันต้องควบคุมต้นทุน และต้องการการใช้งานที่ยั่งยืนต่อโลก และส่วนที่ 3 คือ AI ซึ่งเป็นโซลูชันที่จำเป็นมาก ช่วยให้องค์กรใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างคุ้มค่า ล่าสุดเราได้เปิดตัว GreenLake for LLM เป็นโซลูชันให้องค์กรใหญ่ใช้ generative AI ได้อย่างปลอดภัยและข้อมูลไม่รั่วไหล ถือเป็น 3 แนวโน้มเทคโนโลยีในปีนี้ ที่ HPE จะนำเสนอให้ลูกค้า’

พลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์
สุรชัย อรรถมงคลชัย ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่าย HPE Data Services and HPC & AI, ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การมุ่งเน้น 3 องค์ประกอบนี้ของ HPE เกิดขึ้นบนมุมมองต่อการดำเนินการด้านไอทีที่เปลี่ยนไป ซึ่งไม่เพียงการโฟกัสข้อมูลที่กลายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าฮาร์ดแวร์ HPE ยังต้องการให้ทุกองค์กรได้รับประสบการณ์เหมือนการใช้คลาวด์ เช่น การใช้งานแบบจ่ายตามจริงโดยไม่ต้องเชื่อมข้อมูลทั้งหมดขึ้นคลาวด์ รวมถึงลดข้อจำกัดที่หลายองค์กรไม่สามารถคุมค่าใช้จ่ายและความปลอดภัย จนต้องเอาระบบลงจากคลาวด์

‘สมัยก่อนคนไอทีเน้นดูฮาร์ดแวร์เพราะมองว่าฮาร์ดแวร์สำคัญ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ทุกอย่างอยู่บนคลาวด์ ความสำคัญย้ายไปอยู่ที่ข้อมูล ถ้าหายไปเอากลับมาไม่ได้ เชื่อว่าองค์กรใหญ่รู้เรื่องนี้หมดแล้ว แต่องค์การขนาดรองลงมายังต้องระวังให้ไม่สูญเสีย HPE จึงมองทั้งในแง่ของการทำข้อมูลทุกสายให้มาจัดการบริหารร่วมกัน นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะข้อมูลจะอยู่ที่ไหนก็ได้ และเราควรจัดการได้จากทุกที่ทุกทาง’

สุรชัย อรรถมงคลชัย
สุรชัย ย้ำว่า HPE มีจุดขายด้านการเปิดทางให้องค์กรสามารถจ่ายตามการใช้งานจริง โดยเชื่อมต่อระบบในองค์กรหรือออนพริมกับพับลิกคลาวด์ได้ รองรับลูกค้าทุกระดับ นำไปสู่การเติบโตต่อเนื่องเพราะไร้คู่แข่ง แถมยังช่วยเรื่องความยั่งยืนต่อโลก สามารถออกจดหมายการันตีให้องค์กรที่เป็นลูกค้าได้ว่าระบบใช้คาร์บอนเท่าใดต่อปี ขณะเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์เก่าขององค์กรเป็นเงินได้ และนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาลดค่าใช้จ่ายพลังงาน

‘ทั้งหมดเป็นผลของ GreenLake มีระดับราคาและความยืดหยุ่นเหมือนพับลิกคลาวด์ องค์กรไม่ต้องจ่ายครั้งเดียว HPE จะเอาของวางให้เลยในปีแรกในช่วงพีกอาจจ่ายเงินหลักพันและไม่พีก อาจไม่ต้องจ่ายเงิน องค์กรสามารถควบคุมที่ดาต้าเซ็นเตอร์
เรามอง GreenLake คลุมทั้งเซิร์ฟเวอร์ ซอฟต์แวร์ สตอเรจ จัดการมัลติเวนเดอร์ทั้ง AWS, Azure ได้ สามารถตรวจจับแรนซัมแวร์ได้แบบเรียลไทม์ และมีตัวป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์ลบข้อมูล’



***ครบเครื่อง Edge-to-Cloud

ที่ผ่านมา HPE ได้ร่วมมือกับพันธมิตรไอทีหลัก 4 รายในไทยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เน้นทำตลาด Data Management & Protection Solutions เพื่อบริหารจัดการ และป้องกันการสูญหายของข้อมูล รวมถึงโซลูชันในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การสำรองข้อมูล การทำไฟล์แชร์ และการปกป้องข้อมูล


พันธมิตรอีกรายคือ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์แบบครบวงจรในประเทศไทยภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า SiS Cloud เป็นบริการคลาวด์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากทุกที่ที่ต้องการ เป็นบริการ Infrastructure as a Service ซึ่งรองรับระบบ VMWare และ Nutanix และยังรวมถึงระบบ ERP เช่น SAP

นอกจากนี้ ยังมี Metro Cloud บริการด้าน Public Cloud ที่ดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท เมโทรซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐาน ช่วยให้องค์กรไทยได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมดิจิทัล และคลาวด์คอมพิวติ้ง สร้างการเติบโตของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ








รวมถึง NTT Cloud ของบริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด โซลูชันสำคัญที่ NTT ขับเคลื่อนร่วมกับ HPE นี้จะยกระดับประสิทธิภาพให้โครงสร้างอินฟราสตรักเจอร์ขององค์กรได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็นระบบที่รันบน Edge ไปจนถึงการทำงานที่อยู่บนคลาวด์


***AI ยังจับต้องไม่ได้?

ในส่วน AI ซึ่ง HPE มีตัวชูโรงเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ชื่อฟรอนเทียร์ (Frontier) มาก่อนหน้านี้ สุรชัยเชื่อว่าวันนี้บางองค์กรยังไม่สามารถจับต้อง AI ได้อย่างแท้จริง เพราะต้องลงทุนสูง ระบบหลังบ้านต้องมีขนาดใหญ่ และทำงานได้รวดเร็ว การใช้ CPU ธรรมดานั้นล่าช้าเกินไป จนต้องทดแทนด้วย GPU ซึ่งต้องลงทุนหลักแสนบาทต่อการ์ด โดยปัจจุบัน AI เป็นประเด็นที่องค์กรต้องการเรียนรู้ ซึ่ง HPE เองก็ยังต้องเรียนรู้เพื่อให้ลูกค้าไปถึง AI ได้อย่างแท้จริง

‘เรามีการจับมือกับพาร์ตเนอร์ ให้ลูกค้าสามารถใช้ AI บนระบบเราได้ โดยทำเป็น GreenLake ให้องค์กรจ่ายเป็นรายเดือน ใช้เท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น’

ระบบ AI ล่าสุดของ HPE มีชื่อว่า GreenLake for large language models (LLMs) ซึ่งเน้นช่วยให้องค์กรสามารถฝึกอบรม ปรับแต่ง และปรับใช้ AI ขนาดใหญ่แบบส่วนตัวบนเทคโนโลยีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Cray ของ HPE ที่นำเสนอเป็นบริการคลาวด์สาธารณะ ข้อมูลล่าสุดระบุว่า HPE เนรมิตบริการนี้บนความร่วมมือกับ Aleph Alpha สตาร์ทอัปด้าน AI ของเยอรมนี เพื่อมอบ LLM หรือโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่พร้อมใช้งานทั้งในส่วนข้อความและรูปภาพ เบื้องต้นมีการติดตั้งเพื่อให้บริการที่อเมริกาเหนือเป็นภูมิภาคแรก

สุรชัยเชื่อว่าบริการแรกในกลุ่มผลิตภัณฑ์บริการคลาวด์สาธารณะสำหรับ AI ของ HPE นี้จะรองรับตลาดนิชขนาดใหญ่ แม้จะยังไม่ออกให้บริการแต่เชื่อว่าเสียงตอบรับจะขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งบางกลุ่มอาจกังวลเรื่องการลงทุน LLM และมีการทำงานร่วมกับพันธมิตร

‘ขึ้นอยู่กับองค์กร บางองค์กรไม่ให้เอาข้อมูลตัวเองลง Chat GPT เพราะกลัวข้อมูลหลุด แต่เราเห็นโอกาสเติบโตสูงมาก การสั่งการ์ดจาก NVidia ต้องรอไม่ต่ำกว่า 10 เดือน ถือว่าเป็นเทรนด์ และมีดีมานด์สูง’

ในภาพรวม ผู้บริหาร HPE เชื่อว่าหากมีความต้องการในไทย บริษัทจะสามารถทำเรื่องขอกับ HPE ระดับโลกเพื่อนำระบบ GreenLake for large language models (LLMs) เข้ามาทำตลาดได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายนั้นไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็นบริษัทด้านกลุ่มงานวิจัยและกลุ่มพลังงาน คาดว่าหากมีการทำตลาดจริง จะใช้พันธมิตรกลุ่มเดิมทั้งที่เป็น SI และไม่ใช่

‘ตลาด LLM ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายแม้จะมีการพูดถึงมาก LLM ในตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์ไทยก็ยังไม่ตื่นตัวในการใช้งาน ส่วนใหญ่นำมาใช้กับกลุ่มแชตบอทและข้อมูลข้อความ (text) ซึ่งการเริ่มต้นที่ผ่านมา ระบบจะต้องมีครบทั้งบุคลากรและแพลตฟอร์ม คาดว่าต้นทุนของการลงทุนทรัพยากรระบบประมวลผลอาจเริ่มต้นได้ที่หลัก 3-5 ล้าน เป็นชุดเล็กสุดที่ประกอบด้วยหน่วยเก็บข้อมูลและ GPU’



นอกจากตลาดโครงสร้างสำหรับพัฒนา LLM ที่เชื่อว่าจะเติบโตในอนาคต ธุรกิจที่ครองส่วนแบ่งรายได้ใหญ่ที่สุดของ HPE ในปีนี้และปีหน้าจะยังเป็นส่วนธุรกิจเอดจ์ ขณะที่ตลาดสตอเรจในประเทศไทยยังเติบโตได้ เนื่องจากแม้ตลาดจะซบเซาจากผลกระทบในกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ แต่ความต้องการโซลูชันระบบจัดการและป้องกันข้อมูลยังคงเติบโตต่อเนื่อง จนมีผลช่วยอัดฉีดให้กลุ่มสตอเรจไม่หดตัวมากนัก

‘ธุรกิจ HPE ปีนี้จะทรงตัว เนื่องจากการลงทุนครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงโควิด อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ HPE จะมุ่งไปที่ 2 ตลาดในช่วงปีหน้า ได้แก่ กลุ่มที่ไปคลาวด์แล้วต้องการดึงระบบกลับลงมา อีกกลุ่มคือกลุ่มที่ต้องการขยายบริการ บนสภาพแวดล้อมของตัวเอง’

ปัจจุบัน HPE ดำเนินการสื่อสารเรื่องเทคโนโลยีทั้งหมดถึงลูกค้าผ่านโครงการไลฟ์สเปซ ที่เปิดให้องค์กรที่เป็นลูกค้าสามารถเรียนรู้ รับคำแนะนำ และทราบรายละเอียดโซลูชันที่ HPE มี จากสถิติชี้ว่าโครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขจุดอ่อนด้านปกป้องข้อมูลได้มากที่สุด นำไปสู่การปิดโปรเจกต์ของ HPE ได้ในหลักล้านเหรียญสหรัฐ

คาดว่าโครงการนี้จะเป็นบันไดให้ HPE สามารถเผยแพร่แนวคิดด้าน AI ได้อย่างเต็มที่ และสามารถรับชัยชนะจากเดิมพันในวันที่ตลาดไทยทรงตัวได้ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น