กลายเป็นว่าการเปิดตัว Samsung Galaxy S23 FE เพื่อทำตลาดในช่วงปลายปี 2023 ของ Samsung ได้สร้างคำถามสำคัญให้แก่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในประเทศไทยในกลุ่มของแฟลกชิป เนื่องจากทางซัมซุงตัดสินใจนำแฟลกชิปสมาร์ทโฟนที่ทำงานบนชิปที่พัฒนาขึ้นเองอย่าง Exynos กลับมาทำตลาดอีกครั้ง เพื่อให้สามารถทำราคาแข่งขันได้มากขึ้น
เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสินค้าในกลุ่มแฟลกชิปของซัมซุง ไม่ว่าจะเป็น Galaxy S22 ซีรีส์ ต่อเนื่องมายัง Galaxy S23 ซีรีส์ รวมถึง Galaxy Z Fold และ Z Flip ทั้งหมดที่วางจำหน่ายในไทย ได้ชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon เช่นเดียวกับในตลาดสหรัฐฯ
ขณะที่สมาร์ทโฟนในกลุ่มแฟลกชิปของซัมซุงที่ใช้ชิป Exynos รุ่นสุดท้ายในไทย ย้อนไปคือ Galaxy S21 FE ที่เปิดตัวและวางจำหน่ายในช่วงต้นปี 2022 ก่อนที่จะมาในรุ่นล่าสุดนี้คือ Galaxy S23 FE ที่จะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ตุลาคมนี้
การทำตลาด Galaxy S23 FE รอบนี้ กำลังกลายเป็นจุดชี้วัดอนาคตของตลาดสมาร์ทโฟนแฟลกชิปของซัมซุง เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของชิปเซ็ตเท่านั้น แต่เป็นการนำสินค้าเข้ามาเจาะในตลาดช่วงระดับราคา 2 หมื่นบาทที่ซัมซุงว่างเว้นไป เพราะสินค้าในกลุ่มแฟลกชิปปัจจุบันราคาขึ้นไปอยู่ในช่วง 3-7 หมื่นบาท
เพราะถ้ามองในภาพของตลาดรวมสมาร์ทโฟนเวลานี้ แม้ซัมซุงจะยังเป็นผู้นำในตลาดจากส่วนแบ่งมากที่สุด แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือการโดนบีบจากทั้งคู่แข่งทั้งในตลาดบนที่ Apple ครองส่วนแบ่งมากกว่า ขณะเดียวกัน ในตลาดราคาต่ำกว่า 3 หมื่นบาทเจอแบรนด์จีนทั้ง OPPO Xiaomi vivo realme เข้ามาชิงส่วนแบ่งไปอย่างต่อเนื่อง
***ชิงตลาดแฟลกชิป 20,000 บาท
เป้าหมายหลักของซัมซุงในการทำตลาด Galaxy S23 FE คือการมีสินค้าเข้ามาอุดในช่องว่างราคาสมาร์ทโฟนระหว่าง Galaxy A ซีรีส์ในปัจจุบัน กับ S23 ซีรีส์เดิม ที่ปัจจุบันกลายเป็นว่าตั้งแต่ช่วงราคา 15,000-25,000 บาท ซัมซุงไม่มีสินค้าที่เป็นไฟติ้งโมเดลเข้าไปแข่งขันได้เลย นอกจากรุ่นเก่าที่ปรับราคาลง
ดังนั้น หลังจากนี้ซัมซุงตั้งใจที่จะมีการรีเฟรชสินค้าของสมาร์ทโฟนแฟลกชิปในตระกูล S ซีรีส์ ด้วยรุ่น Fan Edition ในช่วงเดือนตุลาคมหรือเข้ามาในช่วงกลาง Life Cycle ของ Galaxy S เพื่อให้ลูกค้าที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อสมาร์ทโฟนในช่วงปลายปีมีตัวเลือกมากยิ่งขึ้นก่อนที่ Galaxy S รุ่นใหม่จะเปิดตัวในช่วงต้นปีหน้า
ถ้าเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ Galaxy S23 FE เข้ามาทำตลาดต่อเนื่องจาก Galaxy S23 ซีรีส์ที่เปิดตัวมาเกินครึ่งปีแล้ว ก่อนที่ Galaxy S24 ซีรีส์ จะเปิดตัวในช่วงต้นปี 2024 ซึ่งกลุ่มลูกค้าของตลาดนี้ จะไม่ไปชนกับลูกค้าที่สนใจสมาร์ทโฟนจอพับอย่าง Galaxy Z Flip และ Galaxy Z Fold ที่เพิ่งเปิดตัวไปอยู่แล้วจากระดับราคาที่เปิดมาในช่วง 2 หมื่นต้นๆ
ความคาดหวังของซัมซุง คือการเข้ามาเป็นตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคในช่วงระดับราคา 20,000-25,000 บาท เพื่อให้มีส่วนแบ่งในตลาดนี้บ้างจากที่ก่อนหน้านี้ กรณีที่ผู้บริโภคมีงบประมาณจำกัด แต่อยากได้สินค้าในระดับแฟลกชิป แบรนด์ของซัมซุงจะไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ การเพิ่ม Galaxy S23 FE เข้ามาจึงตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงสเปกของสินค้าต้องยอมรับว่า Galaxy S23 FE ถือว่ายังมีจุดที่ต้องทำการบ้านหนักอยู่เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการเจาะตลาดนี้ เนื่องจากคู่แข่งในตลาดสามารถนำเสนอสมาร์ทโฟนที่มีสเปกที่ประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในราคาที่คุ้มค่ามากกว่า ไม่ว่าจะเป็น Xiaomi 13T และ 13T Pro ที่เพิ่งเปิดตัวในราคาต่ำกว่า 2 หมื่นบาท มาพร้อมเลนส์ถ่ายภาพที่ปรับแต่งร่วมกับ Leica หรือแม้แต่ vivo V29 ที่ชูความโดดเด่นในเรื่องของการถ่ายภาพพอร์ตเทรดขึ้นมา
ประเด็นถัดมาคือเรื่องของการเรียกความเชื่อมั่นกับสินค้าในกลุ่มแฟลกชิปที่ใช้งานชิปเซ็ตที่ซัมซุงผลิตขึ้นมาใช้งานเองอย่าง Exynos ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาจากการขาดแคลนชิปเซ็ตในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดทำให้การผลิตก่อนหน้านี้ค้างอยู่ที่ Exynos 2200 ซึ่งตามเดิมต้องเป็นชิปเซ็ตที่ใช้งานกับ Galaxy S22 ซีรีส์ แต่ซัมซุงนำมาใช้งานกับ Galaxy S23 FE ที่จะเข้ามาเป็นรุ่นเริ่มต้นของแฟลกชิปตระกูล Galaxy S
เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในตลาด Exynos 2200 ซีรีส์ จะผลิตบนสถาปัตยกรรม 4 นาโนเมตร ทำให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ Qualcomm Snapdragon 8 Gen 1 หรือรุ่นที่ใช้งานใน Galaxy S22 ซีรีส์เดิม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ซัมซุงตัดสินใจนำมาใช้ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทำราคามาแข่งขันได้ในตลาด
เพราะถ้ามองไปในตลาดคู่แข่งหลักอย่าง Apple ก็เลือกที่จะนำชิป A16 Bionic ที่ใช้งานกับ iPhone 14 Pro ของรุ่นปีที่ผ่านมา มาใช้งานกับ iPhone 15 รุ่นไม่โปรอยู่เช่นกัน หรือถ้าย้อนไปก่อนหน้าตอนที่เป็นตัว iPhone 14 รุ่นไม่โปร ก็เลือกใช้ชิป A15 Bionic จาก iPhone 13 เสียด้วยซ้ำ
ในอีกมุมยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ Exynos สู่ตลาดเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้ใช้งาน ทั้งในแง่ของการระบายความร้อนของตัวชิป ที่กลายเป็นประเด็นสำคัญของสมาร์ทโฟนหลายรุ่นในท้องตลาดเวลานี้
ส่วนประกอบอื่นๆ ของ Galaxy S23 FE คือมากับหน้าจอขนาด 6.4 นิ้วให้อัตราการแสดงผล 120 Hz กล้องหลักความละเอียด 50 ล้านพิกเซล พร้อมเลนส์ซูม 8 ล้านพิกเซล รองรับการซูมออปติคัล 3 เท่า และเลนส์มุมกว้าง 12 ล้านพิกเซล แบตเตอรี่ 4,500 mAh รองรับการชาร์จเร็ว 25W ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Android 13
เบื้องต้น Galaxy S23 FE จะวางจำหน่ายในราคา 22,900 บาท โดยในช่วงแรกซัมซุง มีการทำโปรโมชันเพิ่มความจุฟรี 1 เท่า จากรุ่นเริ่มต้นที่มีพื้นที่เก็บข้อมูล 128 GB จะได้รับเป็นรุ่น 256 GB ทันที ในขณะที่ราคาปกติของรุ่น 256 GB จะอยู่ที่ 25,900 บาท มีวางจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 6 สี ได้แก่ สีเขียว Mint สีขาว Cream สีดำ Graphite สีม่วง Purple และสีพิเศษเฉพาะช่องทางออนไลน์ สีฟ้า Indigo และสีส้ม Tangerine
นอกเหนือจากเรื่องของชิปเซ็ตแล้ว ปัจจุบันสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy ของซัมซุงยังถือว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตที่ให้ความเชื่อถือในการเลือกใช้งานโดยเฉพาะในกลุ่มของแฟลกชิปจากการที่มีการันตีอัปเกรดระบบปฏิบัติการ และความปลอดภัยของตัวเครื่องต่อเนื่องไปอีก 4 รุ่นข้างหน้า
ทำให้ในจุดนี้ถือว่าตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้เปลี่ยนเครื่องบ่อยๆ ใช้งานต่อเนื่องหากเสียค่อยเปลี่ยนก็จะได้รับความมั่นใจจากแบรนด์ในเรื่องนี้อยู่เช่นเดิม ซึ่งนับเป็นฐานลูกค้าสำคัญที่ซัมซุงต้องดึงความเชื่อมั่นไว้ให้ได้
***ปูทางสู่ Galaxy S24 ที่มากับ Exynos ในตลาดไทย
การกลับมาเดินหน้าไลน์การผลิตชิป Exynos เพื่อทำตลาดในสมาร์ทโฟนแฟลกชิปทั่วโลก เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงในกลุ่มของชิป IoT และในรถยนต์ไฟฟ้า เพราะถือเป็นแนวทางที่จะช่วยผลักดันให้ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้รายนี้ขึ้นมาแข่งขันได้ในตลาดชิปเซ็ตประมวลผลอีกครั้ง
โดยภายในงานประชุมนักพัฒนาของซัมซุง (Samsung System LSI Tech Day 2023) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดของ Exynos 2400 ที่จะถูกนำไปใช้งานกับ Galaxy S ซีรีส์รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวในช่วงต้นปี 2024 นี้
ยอง อิน ปาร์ค ประธาน และหัวหน้าหน่วยธุรกิจ LSI ที่เป็นฝ่ายผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของซัมซุง ออกมาเล่าถึงประสิทธิภาพการทำงานของ Exynos 2400 ที่กำลังพัฒนาอยู่ว่าจะแรงกว่า Exynos 2200 ถึง 1.7 เท่า ประกอบกับการทำงานร่วมกันระหว่าง Samsung และ AMD ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ในความร่วมมือพัฒนากราฟิกบนชิปเซ็ตมือถือ Xclips 940 บนสถาปัตยกรรมแบบ RDNA3 ช่วยให้การประมวลผลกราฟิกดีขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าถึง 70%
อีกส่วนที่ขาดไม่ได้สำหรับสมาร์ทโฟนในยุคใหม่คือการใส่ชิปประมวลผล AI หรือ NPU เข้ามาช่วยในการทำงานด้วย ซึ่งใน Exynos 2400 จะประมวลผล AI ได้เร็วขึ้น 14.7 เท่า ซึ่งช่วยให้ตัวเครื่องมีความสามารถอย่าง Generative AI ที่ประมวลผลในตัวเครื่องจากการป้อนข้อความและเพื่อให้ AI ประมวลผลออกมาเป็นรูปภาพได้
แน่นอนว่าในการทำงานของ AI จะต้องใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ที่จะช่วยดึงประสิทธิภาพของ NPU ออกมาด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง Google ก็แสดงให้เห็นถึงการนำ AI มาช่วยในการทำงานหลายๆ ส่วนภายใน Android 14 เพื่อช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้นอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะได้เห็นลูกเล่น หรือฟีเจอร์ที่เรียกเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานในการเปิดตัว Galaxy S24 ซีรีส์ได้อย่างแน่นอน
หลังจากนี้ คงต้องรอดูถึงผลตอบรับที่เกิดขึ้นจากการวางจำหน่าย Galaxy S23 FE ของทางซัมซุง ประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคในกลุ่มแฟลกชิปประเทศไทยต่างเรียกร้องสมาร์ทโฟนรุ่นที่มากับชิปเซ็ต Qualcomm เป็นหลัก รวมถึงคาดหวังว่าในรุ่นหน้าจะยังมีตัวเลือกที่เป็น Snapdragon 8 Gen 3 เข้ามาทำตลาดด้วยอยู่ และซัมซุงจะจัดการกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างไร