xs
xsm
sm
md
lg

‘Healthy marketing’ หลังควบรวม โอเปอเรเตอร์หน้าใสผู้บริโภคหน้าซีด!! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปรัธนา ลีลพนัง
ผลประโยชน์มูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านบาท ที่เกิดขึ้นจากการ “Synergies” หลังควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ได้แสดงให้เห็นถึงภาพของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการที่โอเปอเรเตอร์สามารถลดต้นทุนโครงข่ายจากการผสานโครงสร้างเสาสัญญาณเป็นระบบโครงข่ายเดียว

จนทำให้ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ คาดการณ์ว่าจะทำกำไรได้หลังจากการควบรวมกิจการในปี 2568 และจะสามารถประหยัดกระแสเงินสดได้ในระดับคงที่ราว 22,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2569 ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการลงทุนหลังจากรวมโครงข่ายสัญญาณ จะช่วยประหยัดงบลงทุนที่ปัจจุบันตั้งไว้ที่ราว 25,000-30,000 ล้านบาท ลงไปครึ่งหนึ่ง

ข้อมูลเหล่านี้คือประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังทรู แถลงผลการดำเนินการในรอบครึ่งปีแก่กลุ่มผู้ถือหุ้นโดย ‘มนัสส์ มานะวุฒิเวช’ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุชัดเจนว่า ทรู คอร์ปอเรชั่นเป็นผลจากการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียเมื่อพิจารณาจากมูลค่าของกิจการ

มนัสส์ มานะวุฒิเวช
“วันนี้เราเป็นผู้นำในตลาดโทรคมนาคมเคลื่อนที่ของไทยด้วยยอดผู้ใช้งานมากกว่า 51 ล้านเลขหมาย โดยมีผู้ใช้บรอดแบนด์ 3.8 ล้านคน และผู้ใช้งานบริการดิจิทัล 40 ล้านคน พร้อมกับเปลี่ยนองค์กรจากบริษัทโทรคมนาคม สู่บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำของไทย”

มนัสส์ มานะวุฒิเวช
สิ่งที่ต้องจับตาดูหลังจากนี้คือในแง่ภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค เมื่อผู้ประกอบการในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงเหลือ 2 รายหลัก และการแข่งขันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการสู้กันด้วยการลดราคาอีกต่อไป แต่แข่งขันกันในแง่ของคุณภาพ และการให้บริการ

ปรัธนา ลีลพนัง
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า ในมุมของการแข่งขันในตลาดเวลานี้ โอเปอเรเตอร์จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของบริการ และประสบการณ์ใช้งานเป็นหลัก ทำให้อาจจะไม่เห็นการแข่งขันทางด้านราคาเหมือนในสมัยก่อนแล้ว เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ทุกฝ่ายเจ็บตัว

พร้อมระบุว่า ก่อนหน้านี้การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมคือการทุ่มตลาดเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้า เมื่อมีรายใดลดราคา อีกรายก็จะลดราคาตาม บนเป้าหมายที่จะลดจำนวนคู่แข่งให้ไม่สามารถอยู่รอดในตลาดได้ เพียงแต่แนวทางที่ผ่านมาของ AIS จะมีความชัดเจนว่า ไม่เข้าไปแข่งขันในเรื่องของสงครามราคา

แน่นอนว่า สภาพการแข่งขันแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในธุรกิจโทรคมนาคมแต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอื่นๆ ก็จะเจอการทุ่มตลาดไม่แตกต่างกัน อย่างฟูดเดลิเวอรี อีคอมเมิร์ซ หรือแม้แต่โลจิสติกส์ ที่สุดท้ายจะมีเฉพาะรายใหญ่เท่านั้นที่อยู่รอด

กลับมาที่ในปัจจุบัน การที่ตัวเลือกผู้ให้บริการลดลงเหลือ 2 ราย ประเด็นหลักที่ผู้บริโภคจะเลือกเปลี่ยนเครือข่ายการใช้งาน จึงไปอยู่ที่คุณภาพของสัญญาณ และการบริการ เพราะถ้าไม่พอใจก็สามารถย้ายไปยังค่ายคู่แข่งได้ทันที ดังนั้น โอเปอเรเตอร์จึงต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง


ในขณะที่มุมของราคาแพกเกจต่างๆ เชื่อว่าระดับราคาในปัจจุบันอยู่ในช่วงที่ ‘healthy’ ต่อทุกฝ่าย ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้บนความยั่งยืน เพราะด้วยสภาพการแข่งขันในช่วงก่อนหน้านี้ ทุกรายต่างต้องทุ่มลงทุนมหาศาลทั้งค่าคลื่นความถี่ การขยายพื้นที่การให้บริการ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา AIS สามารถติดตั้งสถานีฐานให้บริการ 5G ไปครอบคลุมแล้วทั่วประเทศ 98% ของพื้นที่ใช้งาน

สวนทางกับค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ จากการแข่งขันที่จะทุ่มตลาด ทำให้เชื่อว่าด้วยระดับราคาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทุกฝ่ายสามารถอยู่รอดได้ ผู้บริโภคได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ ผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถนำรายได้กลับมาลงทุนเพิ่มคุณภาพและบริการ ทำให้ไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องไปแข่งขันทางด้านราคากันอีกต่อไป

*** ภาพราคาแพกเกจชัดช่วงขาย iPhone 15

สิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนคือ การเลือกซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องเปล่าแบบไม่เปลี่ยนแพกเกจ มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะใน iPhone 15 ที่เพิ่งวางจำหน่ายไป เนื่องจากลูกค้าคำนวณแล้วว่า ราคาส่วนลดที่ได้เพิ่มจากการซื้อเครื่องพร้อมขยับราคาแพกเกจที่สูงขึ้นไม่คุ้มค่า เนื่องจากแพกเกจที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันได้ราคาที่คุ้มค่ามาใช้งานอยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องจ่ายใช้งานแพกเกจในราคาสูงขึ้น

iPhone 15
อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญที่โอเปอเรเตอร์ ไม่ทุ่มแข่งขันด้านราคา เพราะยังมีปัจจัยในเรื่องของอัตราส่วนการใช้งานเลขหมายโทรศัพท์ต่อประชากรในปัจจุบันพุ่งขึ้นไปถึง 140% ทำให้ในแง่ของปริมาณลูกค้าในตลาดจะไม่ได้เพิ่มมากไปกว่านี้ในช่วงนี้ แต่จะเป็นการเพิ่มของซิมเสริม ประเภท eSIM หรือการนำไปใช้กับอุปกรณ์ IoT ในอนาคตแทน

อีกประเด็นที่ควรจับตามองหลังจากนี้ คือการที่ผู้บริโภคที่เดิมเคยใช้งานโปรโมชันลดราคา หรือส่วนลดลูกค้าย้ายค่ายต่างๆ ที่ทยอยครบระยะสัญญา จะไม่ได้ส่วนลดโปรโมชันเหมือนก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมกับการแจ้งปรับราคาที่สูงขึ้นเมื่อแพกเกจที่ใช้งานครบกำหนด ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะยาวมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้น

*** บรอดแบนด์ ดีไวซ์เชื่อมต่อพุ่ง

ไม่ใช่แค่เฉพาะในตลาดโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ธุรกิจไฟเบอร์บรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ตบ้านกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ไม่มีการแข่งขันทางด้านราคา โดยเฉพาะหลังจากที่ AIS ประกาศเข้าซื้อ 3BB ทำให้สุดท้ายแล้วตลาดนี้จะได้ผลกระทบจากการที่ผู้ให้บริการลดลงเช่นเดียวกัน


แม้ว่าในธุรกิจไฟเบอร์บรอดแบนด์จะมีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านต่อครัวเรือนประชากรยังไม่สูงเหมือนในตลาดโทรศัพท์มือถือ แต่กลายเป็นว่าปัจจุบัน ปริมาณดีไวซ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบ้านกลับเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จากทั้งอุปกรณ์ IoT และดีไวซ์พกพาที่นอกเหนือจากสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่ไม่ใช่มีแค่ครอบครัวละ 1 เครื่อง แต่เป็นของทุกคนในครอบครัว

กลายเป็นโจทย์ที่ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ เริ่มมีการปรับรูปแบบการนำเสนออินเทอร์เน็ตบ้าน จากราคาถูก กลายมาเป็นเน้นคุณภาพของสัญญาณที่ครอบคลุมทั่วบ้าน อย่างการเพิ่มจุดกระจายสัญญาณ ที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สูงขึ้น หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกล้องวงจรปิด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายทางด้านความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ ‘สกลพร หาญชาญเลิศ’ หัวหน้าสายงานออนไลน์คอนเวอร์เจนซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลไว้ว่า การแข่งขันทางด้านราคาถือเป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรม เพราะกลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งการเดินสายและอุปกรณ์ที่เข้าไปติดตั้งในแต่ละบ้านลูกค้า จนทำให้กลายเป็นว่าลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ใช่ลูกค้าที่แท้จริง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สุดท้ายแล้ว เมื่อการแข่งขันทางด้านราคาหดหายไป สิ่งที่ผู้บริโภคย่อมคาดหวังมากขึ้นคือคุณภาพของการบริการ เพราะถ้าใช้งานแล้วมีปัญหา หรือไม่พึงพอใจ ก็สามารถตัดสินใจเปลี่ยนผู้ให้บริการได้ในราคาที่ต้องจ่ายใกล้เคียงกัน

วันนี้ภาพที่เห็นง่ายๆ ชัดเจน คือ โอเปอเรเตอร์ไม่เล่นสงครามราคา หันไปเน้นคุณภาพเครือข่าย คุณภาพบริการ เรียกได้ว่าฟ้าเริ่มสดใสมากขึ้น แต่สำหรับผู้บริโภคที่นิยมของดีราคาถูก เริ่มหมดยุคตกสมัยไปแล้ว มีแต่ของดีในราคาที่เหมาะสม บทสรุปของการควบรวมคงเห็นได้ไม่ยากว่าดีกับใครแค่ไหน ส่วนใครที่คิดว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะมาคุมเข้มเรื่องการลดราคา ตอนนี้ได้แต่ฝัน เพราะหน่วยงานนั้นยังเอาตัวเองไม่รอด ยังทะเลาะไม่เลิก เป็นหน่วยงานที่เหลวไหลที่สุดแห่งปีเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น