xs
xsm
sm
md
lg

“เดลล์" เซอร์ไพรส์ ไทยแชมป์ (ใช้) นวัตกรรม (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดลล์ (Dell) เผยผลสำรวจสุดเซอร์ไพรส์สะท้อนโอกาสงามประเทศไทย ผลจากการใช้นวัตกรรม (Innovation) หรือระบบงานใหม่ขององค์กรไทยที่ล่วงหน้าไปแล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ชี้ธุรกิจไทย 31% กำลังบ่มเพาะนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเพียง 1% เท่านั้นที่ยังล้าหลังเข้าไม่ถึงนวัตกรรมซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องไอที

ตัวเลข 31% นี้ถือว่าเหนือกว่าค่าเฉลี่ยทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งหากเทียบกับประเทศในอาเซียน สถิติขององค์กรไทยที่ใช้นวัตกรรมมานานจนสามารถประยุกต์และเป็นผู้นำ หรือ leader นั้น มีจำนวนแซงหน้าทั้งสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมี 14% และ 18% ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนองค์กรล้าหลังที่ไทยมีเพียง 1% ถือว่าดีกว่าสิงคโปร์ที่มีมากกว่า 4% และมาเลเซียที่มี 2%

จุดที่ไทยเป็นรองในภูมิภาคคือกลุ่มองค์กรที่เริ่มใช้และกำลังใช้นวัตกรรม โดยในขณะที่ 31% ขององค์กรไทยมีการใช้นวัตกรรมแบบเหินฟ้าติดจรวดไปแล้ว ราว 46% ยังอยู่ในกลุ่มกำลังหัดวิ่ง และ 21% นั้นเพิ่งเริ่มหัดเดิน สถิตินี้ถือว่าเป็นรองมาเลเซียที่เป็นแชมป์ในกลุ่มหัดวิ่งด้วยตัวเลข 47% และสิงคโปร์ที่เป็นแชมป์ในกลุ่มหัดเดินด้วยสถิติ 39%

   ฐิตพล บุญประสิทธิ์
ถามว่าการเป็นผู้นำด้านการใช้นวัตกรรมเป็นเรื่องดีหรือไม่? คำตอบไม่สามารถวัดได้ด้วย GDP ของประเทศไทย แต่ส่วนหนึ่งอาจดูได้จากรายได้โดยตรงของบริษัท โดยเดลล์พบว่า 32% ของกลุ่ม Innovation Leaderและ Innovation Adopter ในไทยมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 15% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย ยังเชื่อว่าการที่มีคนลาออกจากบริษัทเกิดจากการที่ไม่สามารถสร้างสรรค์ "สิ่งใหม่ๆ" ได้มากเท่าที่ควร ทั้งหมดจึงสามารถสรุปภาพใหญ่ได้ว่า นวัตกรรมมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

***เดิน วิ่ง หรือบิน ล้วนท้าทาย

ในขณะที่องค์กรไทยกลุ่มใหญ่สามารถติดปีกบินด้านการใช้นวัตกรรม แต่ผลการสำรวจ "ดัชนีชี้วัดนวัตกรรม" (Innovation Index) ของเดลล์กลับพบความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะความกังวลว่าจะตกกระแสในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ตรงนี้ผู้ดำเนินการสำรวจอย่างเดลล์มองว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนว่าองค์กรธุรกิจจะต้องเตรียมความพร้อมของคนทำงาน กระบวนการในการทำงาน และเทคโนโลยีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

ฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่เดลล์ตระหนักดี จึงลงมือสำรวจโดยสุ่มตัวอย่างขึ้นมาจาก 45 ประเทศผ่านการพูดคุยกับคนไอที 6,600 คน โดย 1,700 รายในจำนวนนี้เป็นพนักงานในประเทศไทย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ผลพบว่า 87% ของผู้ตอบแบบสำรวจในไทย มองว่าบริษัทของตัวเองมีความก้าวหน้าในการนำเอานวัตกรรมมาใช้ แต่ 66% ของกลุ่มนี้กลับกังวลว่า 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทอาจตกเทรนด์เรื่องการใช้นวัตกรรมทำธุรกิจก็ได้

"ผลที่ได้ถือว่าเซอร์ไพรส์ เป็นข่าวดีอีกแบบ มองว่าไทยไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่นทั่วโลกและประเทศแถบนี้ แต่สิ่งที่เราเจอคือการทำนวัตกรรมไม่เคยหยุดนิ่ง องค์กรและบุคคลพยายามเอานวัตกรรมมาใช้ดำเนินธุรกิจ สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ก้าวทัน และเอานวัตกรรมมาแปลงเป็นคุณค่าทางธุรกิจได้ ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมต้องวิ่งและก้าวให้เร็วตลอด ก้าวช้าไม่ได้ หลายองค์กรจึงกังวลว่าอาจตกรถก็ได้ แม้ว่าจะใช้นวัตกรรมไปแล้ว"

หากเทียบกับประเทศในอาเซียน สถิติขององค์กรไทยที่ใช้นวัตกรรมมานานจนสามารถประยุกต์และเป็นผู้นำหรือ leader นั้น มีจำนวนแซงหน้าทั้งสิงคโปร์และมาเลเซีย
ฐิตพลมองว่าอีกนัยของการสำรวจครั้งนี้ คือการแสดงเส้นทางของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันขององค์กรไทย ที่น่าสนใจคือการสำรวจนี้พบความท้าทายของไทยใน 3 องค์ประกอบการทำทรานส์ฟอร์เมชัน โดยองค์ประกอบแรกคือด้านคน เห็นได้จากการสำรวจที่พบว่า 61% ของกลุ่มตัวอย่างในประเทศไทยมองเห็นวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่สกัดกั้นทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้มากเท่าที่ต้องการ ขณะที่ 71% ระบุว่าหัวหน้างานมีแนวโน้มที่จะชอบความคิดของตัวเองมากกว่า ทำให้พนักงานขาดความมั่นใจในการแบ่งปันความคิดเห็น

องค์ประกอบต่อมาคือเทคโนโลยี การสำรวจพบว่า 99% ขององค์กรไทยกำลังค้นหาเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านนวัตกรรม และ 49% เชื่อว่าเทคโนโลยีของตัวเองยังไม่ใช่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและหวั่นเกรงว่าจะถูกทิ้งให้ตามหลังคู่แข่ง

องค์ประกอบสุดท้ายคือกระบวนการ ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีกว่า 56% ในประเทศไทย กล่าวว่า ความพยายามด้านนวัตกรรมทั้งหมดของบริษัทจะขึ้นอยู่กับข้อมูล แต่มีเพียง 37% ขององค์กรในประเทศไทยที่กำลังจัดโครงการนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท นอกจากนี้ การไม่มีเวลาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เนื่องจากมีภาระงานล้นหลาม ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมด้วย

***”เอดจ์ งานหินองค์กรไทย

1 ใน 5 อุปสรรคทางเทคโนโลยีของประเทศไทยที่ส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในการสำรวจครั้งนี้ คือการต่อสู้กับความซับซ้อนของระบบเอดจ์ที่ปลายทาง จุดนี้ ฐิตพลอธิบายเพิ่มว่าองค์กรกว่า 61% ในไทยรู้สึกสับสนกับเทคโนโลยีเอดจ์ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลที่ปลายทางซึ่งอาจยังติดขัดกับการบริหารสาขาหรือการทำงานเรียลไทม์

"เรื่องเอดจ์ถือว่าเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดเพราะหลายองค์กรอยู่ในช่วงเพิ่งเริ่มต้น บางองค์กรยังไม่ทราบว่าคืออะไร และช่วยธุรกิจได้อย่างไร ลูกค้ารู้สึกว่าซับซ้อนในการบริหารสาขาให้ดี"

สถิติการใช้นวัตกรรมขององค์กรไทย เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกและค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น
นอกจากเอดจ์ อีก 4 อุปสรรคที่องค์กรไทยพบคือการทุ่มเทความพยายามไปกับการเปลี่ยนดาต้าให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ การขาดกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจรในแบบองค์รวม ต้นทุนทางด้านคลาวด์ที่เพิ่มสูงขึ้น และการที่ผู้คนไม่สามารถทำงานอย่างปลอดภัยได้จากทุกที่ที่ต้องการ อุปสรรคเหล่านี้ตรงกับ 5 แกนหลักคอนเซ็ปต์สินค้าของเดลล์ นั่นคือสินค้ากลุ่มไฮบริดเวิร์กเพลส กลุ่มมัลติคลาวด์ กลุ่มโครงสร้างข้อมูล กลุ่มเอดจ์ และกลุ่มซิเคียวริตี

แม้ผลสำรวจนี้จะไม่ได้เป็นตัวกำหนดไลน์โปรดักต์ของเดลล์ แต่ฐิตพลย้ำว่าบริษัทมีแผนนำโซลูชัน "เนทีฟ เอดจ์" เข้ามาทำตลาดไทยมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือปีหน้า ในอีกด้าน การสำรวจนี้ยังไม่ครอบคลุมประเด็นฮอตอย่าง AI เนื่องจากระยะเวลาดำเนินการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 นั้นยังเป็นช่วงเริ่มต้นของกระแส AI เช่นเดียวกับเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ ESG ที่ถือว่ามีความต้องการอยู่แล้ว จึงไม่ใช่ความท้าทายหรืออุปสรรคที่พบในด้านนวัตกรรม

"เราไม่ได้วางเป้าหมายในการเปลี่ยนเคิร์ฟการใช้นวัตกรรมขององค์กรไทย เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับขั้นที่ลูกค้าอยู่ สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นแม้จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่แตกไปจาก 5 แกนหลักสินค้าที่เดลล์มีอยู่แล้ว"


แผนการทำตลาดซอฟต์แวร์บริหารการประมวลผลในพื้นที่ทางไกลและการชูประเด็นเอดจ์ขึ้นมาในการสำรวจปีนี้ สามารถตีความเป็นภาคต่อของรูปแบบการทำงานหลังโควิดที่เปลี่ยนไป หลังจากที่มีการพูดถึงมัลติคลาวด์และซิเคียวริตีที่บริษัทไอทีอย่างเดลล์และหลายเจ้าชูต่อเนื่องตลอด 2 ปี นับจากนี้จะเป็นเอดจ์ที่จะถูกไฮไลต์ความสำคัญ โดยที่องค์กรจะต้องเข้าใจเส้นทางการใช้งานเทคโนโลยี ที่จะต้องใช้เวลาและลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้จบในทันทีหรือสร้างในวันเดียว

"Dell เป็นกรณีศึกษาให้ทุกองค์กรในเรื่องนี้ได้ เพราะถ้ามอง 5 ปีหลัง เดลล์สามารถทรานส์ฟอร์มตัวเอง รวม 2 บริษัทเข้าด้วยกัน มีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการทำงาน เปลี่ยนระบบหลังบ้านทั้งระบบ ทุกอย่างใช้เวลา" ฐิตพลทิ้งท้าย "เดลล์เป็นบริษัทระดับโลก แต่ผู้บริหารสามารถดูแดชบอร์ดรายงานรายได้แบบเรียลไทม์ แดชบอร์ดนี้เป็นประโยชน์กับการบริหารจัดการธุรกิจ เราจึงเป็นกรณีศึกษาได้ถึงการไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ในระยะเวลาสั้นๆ แต่องค์กรจะต้องทำในระยะยาวและต่อเนื่อง"

ที่สุดแล้ว การบ่มเพาะนวัตกรรมในระยะยาวและต่อเนื่องย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจของเดลล์ด้วยปัจจุบันสัดส่วนสินค้าที่เดลล์จำหน่ายในตลาดโลกกว่า 60% เป็นกลุ่ม CSG ที่ครอบคลุมอุปกรณ์ไอทีสำหรับผู้ใช้ปลายทาง (ไคล์เอนด์) อีก 40% ที่เหลือเป็น ISG หรืออุปกรณ์โครงข่ายที่เชื่อว่าจะมีความต้องการมากขึ้นหลังจากผ่านยุคทองของการซื้อคอมพิวเตอร์พีซีในช่วงโควิด


กำลังโหลดความคิดเห็น