xs
xsm
sm
md
lg

Cisco กระทุ้งเอเชีย "กริดจ่ายไฟ" ต้องเป็นดิจิทัลถึงจะลดโลกร้อนได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซิสโก้ (Cisco) บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ประกาศเปิดตัว 3 กลยุทธ์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมฉบับอัปเดตใหม่ ตั้งชื่อ The Plan for Possible หรือ "แผนเพื่อความเป็นไปได้" ที่เชื่อว่าจะคุมอากาศโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 1.5°C ได้สำเร็จ ชี้ส่วนสำคัญที่สุดคือการปรับให้ "กริดจ่ายไฟ" (Power Grid) เป็นดิจิทัลและใช้พลังงานสะอาด กระทุ้งประเทศในเอเชียแปซิฟิกมองเป็นวาระแห่งชาติเร่งปรับปรุงระบบไฟให้เขียวขึ้น

แมรี เดอ ไวซอคกี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของซิสโก้ กล่าวว่า แผนกลยุทธ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนที่ดีขึ้นในอนาคต ด้วยการก้าวไปไกลกว่าความยั่งยืนและขยายผลไปสู่การสร้างอนาคตที่ระบบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมสามารถเจริญเติบโตไปคู่กันได้ โดย Cisco นั้นมีความมุ่งมั่นที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงไปกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งแปลว่าโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเหลือศูนย์ให้สำเร็จภายในปี 2593

"เราทำงานร่วมกับทั้งบริษัทต่างๆ ซัปพลายเชน และลูกค้า คีย์หลักคือจะทำอย่างไรให้เกิดการมีส่วนร่วม ให้ทุกคนใช้พลังงานสะอาด" แมรีกล่าว พร้อมกับย้ำว่าสิ่งที่ Cisco ทำแล้วและจะทำต่อไปคือการเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย คู่กับการให้ความรู้เรื่องวิธีการนับปริมาณคาร์บอน และจะมุ่งลงทุนให้เกิดการพัฒนากริดจ่ายไฟที่ "สะอาดขึ้น"

ปัจจุบัน อัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอยู่ที่ 1.1 องศาเซลเซียส และปีนี้ถือเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ภาวะนี้ทำให้ Cisco เชื่อว่าโลกต้องการอนาคตที่ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และหากโลกลุกขึ้นมาจัดการกับมลพิษที่สะสมมานานนับศตวรรษ ชุมชนต่างๆ ทั่วโลกจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปด้วย

Cisco อ้างว่าตัวเองพัฒนาก้าวไปไกลกว่าแนวทาง “ไม่ทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม” เพราะได้กำหนดกลยุทธ์แบบรอบด้านเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน กลยุทธ์นี้ชื่อว่า “The Plan for Possible” ครอบคลุมถึงวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัท แนวทางการมีส่วนร่วมกับซัปพลายเออร์ และการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าและชุมชนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

1 ใน 3 ภารกิจสำคัญของแผนนี้ คือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด Cisco ระบุว่าเพื่อขับเคลื่อนโลกด้วยพลังงานทดแทน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยเพื่อเชื่อมต่อแหล่งพลังงานสะอาดที่หลากหลายและไม่รวมศูนย์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โลกจะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องลดปริมาณพลังงานที่ใช้โดยระบบเศรษฐกิจเชื่อมต่อ ภายใต้ภารกิจที่สำคัญนี้ ซิสโก้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เหลือศูนย์ (Net Zero) โดยครอบคลุมทุกส่วนของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ภายในปี 2583 ซึ่งรวมถึงการใช้พลังงานของทั้งซัปพลายเออร์และลูกค้าด้วย

ซิสโก้ระบุว่า ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการใช้นวัตกรรมชั้นนำที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเชื่อมต่อพลังงานสะอาด และการปรับเปลี่ยนโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็นดิจิทัล

"ซิสโก้มีความพร้อมอย่างมากในการจัดหาโซลูชันด้านเทคโนโลยีให้องค์กรธุรกิจต่างๆ เพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านี้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ชิป Silicon One ซึ่งเป็นอุปกรณ์เครือข่ายของซิสโก้สำหรับการประมวลผล AI ช่วยลดการใช้พลังงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มแบนด์วิธ และ Universal Power Over Ethernet (PoE) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอาคารอัจฉริยะ นอกจากนี้ ซิสโก้ยังช่วยให้ซัปพลายเชนของบริษัทกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย" Cisco ระบุ

 แมรี เดอ ไวซอคกี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืนของซิสโก้
ภารกิจที่ 2 คือการพัฒนาธุรกิจแบบหมุนเวียน Cisco ย้ำว่าบริษัทมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์และให้บริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับใช้และปรับขนาดโมเดลธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลงทุนอย่างจริงจังในการบ่มเพาะเทคโนโลยีเพื่อก้าวให้ทันกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนห่วงโซ่มูลค่าทางดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"เรากำลังดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปรับใช้หลักการออกแบบแบบหมุนเวียนสำหรับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568"

ภารกิจที่ 3 คือการลงทุนในอีโคซิสเต็มที่ยืดหยุ่น เนื่องจากความสำคัญของอีโคซิสเต็มที่ยืดหยุ่นและการลงทุนในโซลูชันที่ช่วยด้านการฟื้นฟู Cisco จึงกำหนดภารกิจข้อ 3 ไว้ที่การช่วยเหลือชุมชนเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถสำหรับเศรษฐกิจฟื้นฟู และการใช้เทคโนโลยีเพื่อปกป้องและฟื้นฟูอีโคซิสเต็ม

"เมื่อปี 2564 ทาง Cisco Foundation ได้ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลามากกว่า 10 ปีในโซลูชันสภาพอากาศที่ช่วยลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ และฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลาย"

นายวีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและพม่าของซิสโก้ กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ของรัฐบาลไทย เพราะได้นำทางไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่ “Value–Based Economy” ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยต่างเร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ขณะที่การลงทุนในเทคโนโลยีจะช่วยสร้างโอกาสในการเปลี่ยนผ่านทั้งด้านดิจิทัลและความยั่งยืน

"ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยีของธุรกิจในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของลูกค้าของเรา และช่วยให้ธุรกิจมีทางเลือกพร้อมอนาคตที่ยั่งยืน”

ในภาพรวม Cisco ตั้งเป้าหมายว่า 80% ของซัปพลายเออร์ด้านคอมโพเนนต์ การผลิต และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของซิสโก้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบสัมบูรณ์ ภายในปี 2568 โดยตอนนี้ซิสโก้บรรลุความสำเร็จที่ 78% ในปี 2565 ที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น