xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสเดือดจ่อร้องศาลปิดเฟซบุ๊ก รับเงินโฆษณาหลอกลวงประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เตรียมรวบรวมพยานหลักฐาน เสนอศาลปิดเฟซบุ๊กในประเทศไทย หลังจากรับเงินค่าโฆษณาให้การสนับสนุนเพจหลอกลวงมูลค่าความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ผ่านมาดีอีเอส และตำรวจได้รับแจ้งความออนไลน์มากกว่า 300,000 คดี ซึ่งประมาณ 95% หรือมากกว่า 200,000 คดี ที่ได้กระทำความผิดบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อของออนไลน์ และการหลอกลวงออนไลน์จำนวนมาก


โดยสิ่งที่พบมากในตอนนี้คือการหลอกให้ลงทุน ซึ่งจะมีการระบุว่าเป็นสปอนเซอร์หรือการโฆษณาที่เฟซบุ๊กรับเงินแล้วนำเพจมาลง เท่ากับเฟซบุ๊กมีส่วนสนับสนุนในการหลอกลวงประชาชนด้วย ซึ่งในการดำเนินการจะมี 2 ส่วนคือ การเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะเพจที่หลอกลวงแต่จะต้องรวมถึงเฟซบุ๊กด้วย กับดีอีเอสจะฟ้องร้องเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์เพื่อให้ปิดเฟซบุ๊ก

“ดีอีเอสจะดำเนินคดีกับเฟซบุ๊กในฐานะที่เฟซบุ๊กได้รับเงินค่าลงโฆษณาและลงเพจหลอกลวงประชาชน เท่ากับให้การสนับสนุนผู้กระทำความผิด ทำให้มีผู้หลงเชื่อในการลงทุนและซื้อสินค้าได้ไม่ตรงปก ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กอาจปิดกั้น 1 เพจแต่ก็เกิดใหม่ 10 เพจทันที ปิด URL ไม่มีประโยชน์เหมือนแมวไล่จับหนู ในเมื่อเฟซบุ๊กรับเงินค่าโฆษณาก็ต้องตรวจสอบก่อน”

สำหรับการกระทำผิดของเฟซบุ๊ก ในฐานะผู้สนับสนุนผู้ลงโฆษณาในเฟซบุ๊กมีการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่ง โดยกฎหมายอาญา ดีอีเอสจะรวบรวมหลักฐานของผู้กระทำผิดและส่งให้ศาลวินิจฉัย ภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนจะสั่งให้ปิดเพจหรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของศาล ในส่วนของกฎหมายแพ่งจะมีการเปรียบเทียบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

สำหรับคดีออนไลน์ที่ได้รับแจ้งความตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีประมาณ 300,000 คดี ประมาณ 95% เป็นคดีที่มาจากการกระทำความผิดผ่านเฟซบุ๊กที่เกี่ยวกับการหลอกลวงให้ซื้อสินค้าและหลอกลงทุน

“ผมขอเซ็นเป็นคนแรกที่ปิดเฟซบุ๊ก เพราะถ้าเฟซบุ๊กไม่ปรับปรุง คุณไม่ควรทำธุรกิจในไทย” ชัยวุฒิ กล่าว


ตัวอย่างโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กที่หลอกประชาชนลงทุน มีทั้งการชักชวนลงทุน โดยแอบอ้างใช้ชื่อบริษัทจดทะเบียน และสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเทรดทองเริ่มต้น 1,999 บาท พร้อมระบุว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและได้กำไรร้อยละ 15-30 ต่อวัน หรือลงทุนผ่านบริษัท หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่มีลักษณะข้อความเชิญชวนลงทุนมีผลกำไรสูงให้ผลตอบแทนในลักษณะเป็นรายสัปดาห์

ล่าสุด กระทรวงฯ ระบุว่าได้มีการส่งหนังสือขอให้บริษัท meta ต้นสังกัดเฟซบุ๊กดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีการซื้อขายโฆษณาบนแพลต์ฟอร์ม และส่งข้อมูลให้เฟซบุ๊กทำการปิดกั้นโฆษณาหลอกลวงไปแล้วกว่า 5,301 โฆษณา/เพจปลอมอีกด้วย

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 ส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 เพื่อช่วยดูแลคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ช่วยระงับยับยั้งการโอนเงินและติดตามเงินคืนได้ทันมากขึ้นโดยเจ้าของบัญชีม้าหรือเบอร์ม้า จะมีโทษทางอาญาหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา โฆษณา ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หมายเลขโทรศัพท์ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่างโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กที่หลอกประชาชนลงทุน
สำหรับสถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อน พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ (1 ม.ค.-16 มี.ค.66) เฉลี่ย 790 เรื่องต่อวัน ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค.-31 ก.ค.66) เกิดรวม 80,405 คดี เฉลี่ย 591 คดีต่อวัน สถิติการเกิดคดีลดลงเฉลี่ย 199 คดี/วัน ขณะที่สถิติการอายัดบัญชี ก่อนมี พ.ร.ก. (1 ม.ค.-16 มี.ค.) มีการขออายัด 1,346 ล้านบาท อายัดทัน 87 ล้านบาท คิดเป็น 6.5 % ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค.-31 ก.ค.66) มีการขออายัด 2,792 ล้านบาท อายัดทัน 297 ล้านบาท คิดเป็น 10.6%

ด้านการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า รวม 364 ราย ดังนี้ บัญชีม้า รวม 254 ราย ซิมม้า รวม 43 ราย ซื้อขายบัญชีม้า รวม 14 ราย ซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ รวม 53 ราย

**เฟซบุ๊กไทยทำดีที่สุดแล้ว


ด้านแพร ดำรงค์มงคลกุล Country Director ประจำ Facebook ประเทศไทย ยืนยันว่ามีนโยบายการจัดการกับบัญชีและโฆษณาปลอมอย่างจริงจัง โดยมองว่ากลลวงเหล่านี้ยังเป็นปัญหาท้าทายที่ทุกแพลตฟอร์มต้องเผชิญในปัจจุบัน และสำหรับ Meta ที่เป็นยักษ์ใหญ่ผู้ใช้เกิน 3 พันล้านคนทั่วโลกนั้นมีแนวทางจัดการปัญหา 2 ด้าน คือ เราใช้ AI เพื่อดูว่าบัญชีไหนปลอม ร่วมกับทีมตรวจ ถ้าสงสัยว่าอันไหนปลอม จะมีกระบวนการต้องยืนยันตัว ถ้ายืนยันตัวตนไม่ได้จะโดนปิด และจะมุ่งพัฒนา AI เพิ่มขึ้นเพื่อให้ตามทันรูปแบบและวิธีการหลอกลวงใหม่ จะปรับให้เก่งมากขึ้น จะมีการร่วมมือกับภาครัฐ การแชร์ข้อมูล ในการระดมสมอง ฝึกอบรม

เมื่อถามว่าทำไมโฆษณาหลอกลวงถึงสามารถยิงโฆษณาใน Meta ได้ แพรยืนยันว่า บริษัทไม่โปรโมต และไม่ให้มีสิ่งที่ผิดนโยบายอยู่บนแพลตฟอร์ม สิ่งที่ Meta ทำคือการปรับตามรูปแบบการหลอกลวง การพัฒนาให้ทัน เพื่อจัดการกับปัญหาและมุ่งหวังดึงลงทันที แม้การสอบสวนแต่ละเคสจะใช้เวลาดำเนินการไม่เท่ากัน


กำลังโหลดความคิดเห็น