xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสเดินหน้าให้ความรู้กฎหมายดิจิทัล บังคับใช้เพื่อคุ้มครองประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอสเดินหน้าจัดกิจกรรม Digital Law สัญจร ให้ความรู้กฎหมายดิจิทัลแก่ประชาชน พร้อมเปิดรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างการรับรู้ในวงกว้าง บนพื้นฐานการใช้กฎหมายคุ้มครองประชาชน ครอบคลุมทั้ง พ.ร.บ.คอมพ์ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และพ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และกฎหมายตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลที่กระทรวงฯ เข้าไปเกี่ยวข้อง และอยู่ในความรับผิดชอบมีอยู่หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เป็นต้น

ทำให้มีการจัดกิจกรรม Digital Law สัญจร ครั้งที่ 1/2566 ขึ้น เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่ประชาชนให้ความสนใจและมีผลกระทบกับประชาชน รวมทั้งเสริมสร้างภาคส่วนต่างๆ ให้มีส่วนร่วมในการรับรู้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรับฟังปัญหาปัญหาและข้อเสนอแนะต่อกฎหมายเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เป็นประโยชน์และคุ้มครองประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับกฎหมายที่มักจะถูกหยิบโยงขึ้นมาในทุกกระแสบนโลกออนไลน์ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.คอมพ์ จึงเป็นตัวหลักในการให้ความรู้ และให้รู้เท่าทันกฎหมายดิจิทัล

โดยมีความเป็นมา คือ การกระทำความผิดซึ่งกระทบต่อหลักพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Security) โดยมีพฤติกรรมเข้าข่ายลักษณะเฉพาะของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คือ ผู้กระทำความผิดอยู่ตรงไหนก็ได้ในโลก มีความเสียหายกระทบถึงคนจำนวนมากและรวดเร็ว มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการกระทำความผิด มีความยากต่อการตรวจพบร่องรอยการกระทำผิด และยากต่อการจับกุมและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

อย่างไรก็ตาม ความผิดที่ประชาชนควรรู้ และต้องรู้เท่าทันในตัวกฎหมายนี้ และมีการดำเนินคดีฟ้องร้องกันอยู่ตลอดของ พ.ร.บ.คอมพ์ มาตรา 14 ความผิดฐานนำเข้า/เผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และมาตรา 16 ความผิดฐาน สร้าง/ตัดต่อ/นำเข้า ภาพของผู้อื่น โดยผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือหากมีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจมีโทษจำคุกถึง 5 ปีได้

“แม้กฎหมายนี้จะมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่จะมีวรรคหนึ่ง วรรคสอง ที่สามารถยอมความได้ ประชาชนจึงควรมีความรู้พื้นฐานในตัวกฎหมายนี้ เพื่อปกป้อง และป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นผู้กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือตกเป็นผู้ถูกกระทำ สรุปคือ ความผิดตามมาตรา 14 และมาตรา 16 เฉพาะผู้อัปโหลด (Upload) เช่น การโพสต์ (Post) การกดแชร์ (Share) การกด Like เท่านั้นที่อยู่ในข่ายจะเป็นผู้กระทำความผิด ส่วนผู้ดาวน์โหลด (Download) หรือผู้อ่านไม่ผิด”

นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้เรื่องดิจิทัลอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล และแก้ปัญหาการหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก


นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า การดำเนินการจัดอบรมในครั้งนี้มีวิทยากรจากกองกฎหมาย และวิทยากรจากกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้บรรยาย และอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการ สาระสำคัญ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เริ่มต้นที่จังหวัดชลบุรี และผลลัพธ์ที่ได้ในครั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จึงมีแผนในการจัดกิจกรรม Digital Law สัญจรในครั้งต่อๆ ไปให้ครบทุกภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนัก รู้เท่าทันกับภัยที่มาจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น