xs
xsm
sm
md
lg

‘True’ พาธุรกิจไทยสู่ระดับโลก โอกาสบนการพัฒนาเครือข่ายแบบเปิด (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากเป้าหมายในการก้าวข้ามความท้าทายอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทำให้กลุ่มทรู ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม เทคโนโลยี ด้วยการเร่งพัฒนาบริการที่จะเข้ามาช่วยเสริมรายได้ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการหาแหล่งรายได้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะเข้ามาช่วยยกระดับการให้บริการแล้ว ยังเปิดทางในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมในตลาดโลกด้วย

หนึ่งในความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกล่าสุดคือ การที่ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าไปทำงานร่วมกับ GSMA ในการพัฒนาเครือข่ายและการให้บริการเครือข่ายแบบเปิด (Open Gateways API) ภายใต้มาตรฐานระดับโลก ที่ปัจจุบันรวมแล้วมีโอเปอเรเตอร์กว่า 32 รายทั่วโลกเข้าร่วม

ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วม GSMA Open Gateways API จะทำให้ทั้งเครือข่ายทรูและดีแทค ที่ให้บริการในประเทศไทยก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มผู้นำเครือข่าย 5G ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น China Mobile หรือ Vodafone ซึ่งสะท้อนจากความสำเร็จของการผลักดันเครือข่าย 5G ในไทย จนเป็นระดับผู้นำในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้วในปัจจุบัน

จูเลียน กอร์แมน หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) กล่าวว่า จากสัดส่วนผู้ใช้งานเครือข่าย 5G ของภูมิภาคเอเชียที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 41% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับ 4% ในปีที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่าหลังจากนี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

“ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมมือถือในภูมิภาคนี้สามารถสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจกว่า 8.1 แสนล้านเหรียญ และจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2573 จากปริมาณการใช้งานเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น และถ้านับเฉพาะ 5G จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.33 แสนล้านเหรียญในปี 2573”

โดย 2 อุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการนำเครือข่าย 5G มาใช้งานมากที่สุดคือ ภาคบริการ (42%) และภาคการผลิต (34%) โดยเฉพาะการนำไปใช้งานกับเมืองอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมถึงการเปิดให้นักพัฒนาสามารถเชื่อมต่อเข้ามาสร้างบริการใหม่ๆ จาก GSMA Open Gateway API


มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือกับทาง GSMA ในครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นจากการที่ GSMA เห็นถึงศักยภาพในการเป็นพันธมิตรรายแรกของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ในการมุ่งสู่การเป็นโทรคมนาคม เทคโนโลยี

“การให้บริการนี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยน ร่วมกันขับเคลื่อน สร้างระบบนิเวศดิจิทัลให้เติบโตและแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน พร้อมกับทำให้กลุ่มทรูก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการระดับโลก กระตุ้นให้สตาร์ทอัป องค์กรธุรกิจ เข้ามาร่วมใช้งานเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลไปด้วยกัน”

ขณะเดียวกัน จากการที่พฤติกรรมผู้บริโภค และภาคธุรกิจมีการเปลี่ยนผ่านมาสู่ดิจิทัล ทำให้ความร่วมมือนี้ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มวิสัยทัศน์ของทรู โดยเฉพาะการสร้างรูปแบบรายได้ใหม่ๆ ในอีโคซิสเต็มเพิ่มเติม พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดิจิทัลเข้าร่วมเป็นพันธมิตร ได้ทำงานใกล้ชิดกับ GSMA และโอเปอเรเตอร์ชั้นนำอีกกว่า 31 รายทั่วโลก

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการนำ GSMA Open Gateway API มาใช้งานกับเครือข่ายคือนักพัฒนา สตาร์ทอัป องค์กรธุรกิจสามารถต่อยอดการเชื่อมต่อ API ไปสร้างบริการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ผู้บริโภคชาวไทยและขยายไปให้บริการยังกลุ่มพันธมิตรทั่วโลกไปพร้อมๆ กันเพราะเป็นการพัฒนาภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

พิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า จากเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจของไทย ทำให้มั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเปิดทางให้บรรดาสตาร์ทอัป และธุรกิจที่สามารถเชื่อมต่อใช้งานได้เข้ามาช่วยต่อยอดเครือข่ายที่มีคุณภาพนำไปให้บริการแก่ผู้ใช้งาน

“เครื่องมือนี้จะเป็นเหมือนชุดโปรแกรมคำสั่ง ที่เปิดให้ธุรกิจภายนอกมาเชื่อมต่อเพื่อดึงศักยภาพของเครือข่ายในการให้บริการได้อย่างเต็มที่ โดยในช่วงแรกจะเริ่มจาก 8 บริการหลัก ก่อนต่อยอดสู่การให้บริการที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการในการนำไปให้บริการ”


สำหรับ 8 บริการที่เริ่มใช้งานแล้วประกอบไปด้วย บริการอย่าง 1.Sim Swap ที่เข้ามาช่วยในเรื่องการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน อย่างการป้องกันการสวมสิทธิใช้งานจากมิจฉาชีพ หรือการขอรีเซ็ตรหัสผ่านช่วยให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

2.Quality on Demand (QoD) ช่วยให้นักพัฒนาสามารถตรวจสอบการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถนำเสนอประสบการณ์ใช้งานแอปที่ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างในธุรกิจความบันเทิงที่ต้องการสตรีมมิ่งที่เรียลไทม์มากที่สุด หรือการควบคุมอุปกรณ์ระยะไกลที่ต้องใช้งานเครือข่ายที่มีความหน่วงต่ำ (Latency) API นี้จะช่วยให้เครือข่ายสามารถจัดสรรการใช้งานตามลำดับความสำคัญได้ด้วย

3.Device Status สำหรับการตรวจสอบสถานะการเชื่อมต่อ อย่างเช่นการตรวจสอบว่าเลขหมายนี้อยู่ระหว่างการใช้งานอุปกรณ์โรมมิ่ง ที่สามารถใช้งานร่วมกับบริการ 4.Device Location เพื่อช่วยในการระบุตำแหน่งของการเชื่อมต่อ ทำให้สามารถควบคุมเนื้อหาในการให้บริการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ตามประเทศที่มีลิขสิทธิ์ หรือป้องกันการโจมตีจากมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกลวงจากต่างประเทศ

5.Number Verification ในการตรวจสอบเลขหมายเพื่อยืนยันการใช้งานร่วมกับดีไวซ์ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แอปธนาคาร โซเชียลมีเดีย หรือบริการออนดีมานด์ต่างๆ ในการยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน และเพิ่มความปลอดภัยไปในตัว 6.Simply Edge Discovery เหมาะกับภาคธุรกิจ หรือบริการที่ต้องเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างอุปกรณ์กับคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ซึ่งต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อ โดย API นี้จะช่วยค้นหา Edge-Cloud ที่ใกล้ที่สุด ทำให้สามารถส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

7.One Time Password SMS ที่ API นี้จะช่วยตรวจสอบข้อความ OTP ที่เข้าไปยังอุปกรณ์โดยอัตโนมัติ ช่วยลดการสร้างบัญชีปลอม และลดการฉ้อโกงเกี่ยวกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปในตัว และสุดท้าย 8.Billing - Check Out เปิดทางให้ผู้ให้บริการออนไลน์สามารถเรียกเก็บเงินจากโอเปอเรเตอร์บิลลิ่งได้โดยตรง เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน

ฮาว ริ เร็น หัวหน้าสายงานเทเลคอม-เทคและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ทรู คอร์ปอเรชั่นให้ข้อมูลเสริมว่า 8 บริการนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และเชื่อว่าในอนาคตจะมีนักพัฒนาจากทั่วโลกร่วมกันสรรค์สร้างบริการเพิ่มเติม พร้อมย้ำถึงความปลอดภัยในการเชื่อมต่อเข้าใช้งาน API ว่าจะต้องผ่านการตรวจสอบให้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น