กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เล็งผลักดันนโยบาย Go Cloud First สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หวังลดการพึ่งพา Cloud ต่างชาติ เพื่อสร้างระบบ Cloud ในประเทศทุกรูปแบบทั้งลงทุนเองหรือการร่วมลงทุน พร้อมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย แจ้งเกิดระบบ Central Fraud Registry ช่วยลดการโกง โชว์ผลงานการแจ้งข้อร้องเรียนคดีเกี่ยวกับดิจิทัลลดลงจาก 800 คดีต่อวัน เหลือ 600 คดีต่อวัน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสได้ดำเนินการในภารกิจหลายด้าน รวมถึงการส่งเสริมการสนับสนุนประชาชนได้เข้าสู่โครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ หรือ Digital Identification (Digital ID) ภายใต้โครงการ ThaiD ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
รวมทั้งดีอีเอสเตรียมนำเสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และคุรุภัณฑ์ไอทีของหน่วยงานภาครัฐให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการเช่า เพื่อลดเวลาในการจัดซื้อที่เสียไปกับกระบวนการเขียนทีโออาร์ และขั้นตอนการประกวดราคาที่อาจทำให้อุปกรณ์ไอทีล้าสมัย อีกทั้งจะกำหนดราคากลางในการเช่าอุปกรณ์ไอที เพื่อให้การเช่ามีความรวดเร็วมากขึ้น
อีกทั้งเห็นว่าการใช้ระบบ Cloud ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของทั้งหน่วยราชการและภาคธุรกิจเอกชน จึงมีแนวคิด Go Cloud First เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบ Cloud ในประเทศจำนวนมากเพื่อใช้งานไม่ว่าจะในรูปแบบการสนับสนุนด้านงบประมาณ หรือการร่วมลงทุนในลักษณะ JV โดยที่ดีอีเอสจะมีการจัดตั้งอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อผลักดันการแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และครุภัณฑ์เทคโนโลยีของภาครัฐ
ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวต่อว่า ในส่วนของการลดการหลอกลวงผ่านออนไลน์ ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในการพัฒนาระบบ Central Fraud Registry เพื่อแก้ไขปัญหาการถูกหลอกลวง และลดการฉ้อโกงทางออนไลน์ หยุดยั้งการโกงและลดการสูญเสียผ่านออนไลน์ โดยให้สมาคมธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการในการพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับการทำธุรกรรมผ่านธนาคารที่มีความปลอดภัยสูงและป้องกันการหลอกลวงผ่านออนไลน์
นอกจากนี้ หลังจากที่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 17 มีนาคม 2566 นั้น ส่งผลให้การแจ้งความคดีออนไลน์จากประมาณ 800 คดีต่อวัน ลดลงเหลือประมาณ 600 คดีต่อวัน และสามารถอายัดเงินที่ถูกหลอกลวงได้เพิ่มขึ้น ลดความเสียหายแก่พี่น้องประชาชนได้เป็นจำนวนมาก แม้ว่าการหลอกลวงใหม่ๆ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การปลอมเสียงด้วยเทคโนโลยี AI ให้ผู้เสียหายกดลิงก์ผ่าน URL ปลอม และมีการหลอกให้ลงทุนเป็นต้น
“กระทรวงพยายามที่จะดูแลประชาชนให้ปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ในหลายรูปแบบ และช่วยลดการสูญเสียผ่านดิจิทัล”