xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทาง ‘TrueMoney’ สู่แอปการเงินของคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากเป้าหมายการมีลูกค้าใช้งาน TrueMoney เป็นประจำครึ่งหนึ่งของประชากรภายในปี 2568 หรือคิดเป็นลูกค้าใช้งานกว่า 35 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้า 27 ล้านราย และมีลูกค้าใช้งานประจำราว 17-18 ล้านบัญชีนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป

เนื่องจากปัจจุบันด้วยพฤติกรรมการใช้งานแอปพลิเคชันอีวอลเล็ตอย่างการใช้ QR Code ในการสแกนจ่าย หรือการโอนเงิน เริ่มกลายเป็นหนึ่งในช่องทางหลักสำหรับการชำระค่าบริการ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทั้งฝั่งผู้บริโภค จนถึงร้านค้า รวมถึงผู้ประกอบการต่างๆ ประกอบกับการปรับภาพให้ TrueMoney ไม่ใช่เป็นเฉพาะแอปจ่ายเงิน แต่ยังรวมถึงการเปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ อย่างการลงทุน การออม การประกัน เพื่อทำให้เรื่องการเงิน ‘เป็นไปได้ ได้ทุกคน’

มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบัน TrueMoney ไม่ได้เป็นแค่แอปสำหรับจ่ายหรือโอน แต่สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคในแง่ของการเงินในทุกวัน

“ปัญหาตอนนี้คือผู้บริโภคหลายๆ คนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ อย่างในแง่ของสถิติเงินฝากในประเทศไทย บัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาท มีอยู่ราว 13.2% เท่านั้น ในขณะที่กว่า 87.8% มีเงินฝากในบัญชีไม่ถึง 50,000 บาท”

ขณะที่ในแง่ของการลงทุน ประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากกว่า 120 ล้านบัญชี แต่มีบัญชีหุ้นไทยราว 5.2 ล้านบัญชีเท่านั้น โดยมีจำนวนผู้ลงทุนราว 3 ล้านราย หรือคิดเป็น 4.2% ของประชากรไทย ทำให้ยังมีทั้งช่องว่าง และโอกาสอีกมากสำหรับการให้บริการทางการเงิน


จากสถิติดังกล่าว ทำให้ TrueMoney มองถึงการยกระดับการให้บริการบนเป้าหมาย ‘ให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่าย และได้รับประโยชน์คุ้มค่าทุกครั้งที่ใช้ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกกลุ่ม’

เนื่องจากปัจจุบัน ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ แต่ยังมีผู้ที่มีบัญชีธนาคารที่ประสบปัญหาทำให้ไม่สามารถลงทุนได้ อย่างการขาดความรู้ในการลงทุน ไม่มีเวลา ขาดทุนทรัพย์ หรือแม้แต่เรื่องของขั้นตอนที่ยุ่งยากในการลงทุน ทำให้ไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินได้อย่างครบถ้วน

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของ TrueMoney จะเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถรับโอนเงิน หรือใช้จ่ายออนไลน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา ใช้เพื่อรับเงินจากการหารายได้พิเศษแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือการวางรากฐานในการออมที่จะกลายเป็นวินัยสำคัญของกลุ่มผู้เริ่มทำงาน


เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการของ TrueMoney ได้สะดวกขึ้น จึงได้มีการนำเสนอบริการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.บริการในกลุ่มใช้จ่าย อย่างการจ่ายเงินออนไลน์ ออฟไลน์ โอนเงิน ใช้จ่ายต่างประเทศที่ปัจจุบันสามารถใช้ได้หลากหลายประเทศ รวมถึงประเทศที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยวอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และวงเงินใช้ก่อนจ่ายทีหลัง

2.บริการในกลุ่มการเงิน ที่จะช่วยให้เงินงอกเงย ครอบคลุมทั้งการออม การลงทุน การประกัน และสิทธิประโยชน์หลากหลาย และ 3.บริการสนับสนุนธุรกิจอย่าง SME และผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ระบบสมาชิก และฟีเจอร์โปรโมตร้านค้า

ในแง่ของการลงทุน TrueMoney สามารถเปิดโอกาสในการลงทุนสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูง โดยใช้เงินจำนวนไม่มากได้ หรือในกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องก็สามารถเข้าไปสนับสนุนเรื่องเงินลงทุนจากวงเงินสินเชื่อที่ให้บริการได้

“จุดยืนหลักของ TrueMoney คือทำให้บริการทางการเงินเกิดความเป็นไปได้ ได้ทุกคน เป็นผู้ช่วยทางการเงินที่จะทำให้คนไทยสร้างโอกาสในการใช้ชีวิต และเชื่อว่ามีช่องว่างในตลาดที่สามารถเข้าไปช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินเหล่านี้ได้”

***ดึง ‘ลิซ่า’ ชวนคนไทยใช้งาน


ขณะเดียวกัน TrueMoney ได้เดินเกมที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างลอยัลตี้ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น จึงได้มีการทุ่มงบประมาณสำหรับการทำตลาดผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์อย่าง ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ มาช่วยปรับให้แบรนด์เข้าใจง่ายมากขึ้น

“การใช้พรีเซ็นเตอร์ในครั้งนี้จะเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจว่า TrueMoney เป็นมากกว่าแอปที่ใช้จ่ายเงิน ด้วยการกระตุ้นให้คนชวนมาใช้กันมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานเริ่มขยับสูงขึ้น โดยปัจจุบันมีกลุ่มเจน Y ที่ช่วงอายุ 22-40 ปี ใช้งานมากถึง 40%”

นอกจากนี้ ด้วยการที่อัตราการใช้งานของฐานลูกค้ากว่า 27 ล้านรายนับว่าค่อนข้างสูงอยู่แล้ว และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านราย หรือครึ่งหนึ่งของคนไทยต้องมีโอกาสได้เข้าถึงการใช้งาน เสริมด้วยการขยับฐานผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน (Active User) จาก 17 ล้านราย เป็น 35 ล้านรายภายใน 2 ปีข้างหน้าจึงถือเป็นภารกิจที่ค่อนข้างท้าทาย


ณัฐวดี แซ่เอี้ย ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรมทางธุรกิจ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซนด์ เวลธ์ จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์ที่ TrueMoney ใช้เพื่อผสานผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า จะอยู่ภายใต้แนวคิด ‘เป็นไปได้ ได้ทุกคน’ ครอบลุม 3 กลยุทธ์หลักคือ

1.Ease (Ease in Every Way) ด้วยบริการที่เข้าใจง่าย มีระบบมาช่วยคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ใช้งานเฉพาะบุคคล อย่างการนำเสนอตัวเลือกกองทุนตามความสนใจ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือแผนประกันที่เกี่ยวกับความต้องการ

2.Value (Value in Every Move) จากการนำเสนอบริการเงินฝากดอกเบี้ยสูง พร้อมสิทธิในการรับเงินคืนเมื่อผูกบัญชีการใช้จ่าย การสะสมคะแนนแลกรับส่วนลด และสิทธิพิเศษต่างๆ จากการใช้จ่าย การออม และการลงทุน เพื่อปูทางสู่การยกระดับประสบการณ์ และสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าต่อไปในอนาคต

สุดท้าย 3.Access (Accessible to Everyone) ให้ทุกคนสามารถเริ่มสร้างความมั่นคงทางการเงิน ภายใต้ข้อจำกัดน้อยที่สุด ตั้งแต่การสมัครใช้งานบัญชีกองทุน เลือกลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท จนถึงการสมัครขอวงเงินใช้ก่อนจ่ายทีหลัง โดยไม่ต้องใช้สลิปเงินเดือน


“บริการที่ TrueMoney นำมาให้ผู้ใช้งานทำแล้วต้องมีความหมาย และแตกต่าง เพราะสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานหลักสิบล้านคนได้ในทันที ในจุดนี้การนำเสนอบริการทางการเงินต่างๆ จะช่วยทลายกำแพงทุกอย่างที่เคยมี อย่างเรื่องของการลงทุนในสมัยก่อนยากมากที่จะทำการเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชัน หรือเริ่มลงทุนขั้นต่ำ 1 บาท เป็นการมอบโอกาสให้การลงทุน และเรียนรู้ที่จะเติบโต”

โดยหลังจากเริ่มให้บริการทางการเงินต่างๆ ทั้งการลงทุน การออม มีลูกค้าเข้ามาสมัครใช้งานแล้วกว่า 2.5 ล้านบัญชี โดยเฉพาะในส่วนของการขอวงเงินใช้ก่อนจ่ายทีหลัง (Pay Next) ที่มีผู้ใช้ราว 1.2-1.3 ล้านราย ช่วยให้การขอสินเชื่อใช้งานง่ายยิ่งขึ้น

***พร้อมศึกษาเกณฑ์ ‘Virtual Bank’

ปัจจุบัน ด้วยการที่กลุ่มผู้ใช้งานของ TrueMoney ขยายกว้างมากขึ้น ทำให้เริ่มมีการใช้จ่ายเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่าง 7 Eleven และ Lotus ที่ช่วยปรับฐานการใช้งานให้เกิดการใช้งานประจำมากขึ้น ผ่านการทำแคมเปญได้คะแนนสะสมเพิ่มเติม เป็นต้น


มนสินี กล่าวต่อว่า ด้วยการที่ปัจจุบันสัดส่วนการใช้งานหลักของ TrueMoney ยังมาจากการใช้จ่ายเงินเป็นหลัก ทำให้กำไรกว่า 60-70% มาจากค่าธรรมเนียมในการใช้งาน แต่เชื่อว่าในอนาคตสัดส่วนเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไป เป็นการสร้างกำไรจากการให้บริการทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น เหมือนกับที่เกิดในอาลีเพย์

“ภายใน 2 ปีข้างหน้า กำไรจะมาจากการให้บริการทางการเงินมากกว่า 50% จากในปัจจุบันอยู่ที่ราว 10% เท่านั้น โดยปัจจัยหนึ่งที่จะมาช่วยผลักดันให้เพิ่มขึ้นคือโอกาสในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ”

เนื่องจากการให้บริการของ TrueMoney ในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับธนาคารอยู่แล้ว ขาดแค่อย่างเดียวคือการเปิดให้ลูกค้าฝากเงินด้วยตนเอง ซึ่งในอนาคตถ้าเกณฑ์การให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางในการให้บริการ ช่วยเสริมให้เติบโตได้รวดเร็วขึ้น ก็พร้อมที่จะขยับไปให้บริการ

“ถ้าสามารถให้บริการ Virtual Bank ได้ ต้นทุนเงินทุนจะลดลง ช่วยให้สามารถให้ดอกเบี้ยกับผู้ที่ฝากเงินได้ และสามารถรับกับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่มีมูลค่ามากขึ้นจากปัจจุบันที่ให้ในหลักร้อย หลักพัน ไปสู่วงเงินที่ใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นด้วย”

ขณะเดียวกัน ผู้บริหาร TrueMoney ยังให้ความสนใจกับการ IPO ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงของการศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถระดมทุน ไปพร้อมกับการขยายบริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น