เอชพีอี (Hewlett Packard Enterprise) เปิดบริการใหม่ตระกูลกรีนเลค (GreenLake) แจ้งเกิดแพลตฟอร์มแบบครบวงจรสำหรับจัดเก็บ-จัดการ-ปกป้องข้อมูลทุกประเภททั่วทั้งไฮบริดคลาวด์ มั่นใจตอบโจทย์องค์กรขนาดกลางและย่อมที่เริ่มลงทุนได้ในหลักหมื่นและจ่ายเท่าที่ใช้งาน เชื่อ GreenLake ช่วยดันรายได้ HPE จากโมเดลสมาชิกรายปี (ARR) ให้โตขึ้นอีกหลังขยายตัว 50-60% ต่อเนื่อง 3 ปี ตอกย้ำผลลัพธ์สุดแจ่มจากการปรับโพสิชันครั้งใหญ่สุดในรอบ 5 ปีของ HPE
นายพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวในงานเปิดตัวบริการใหม่ HPE Alletra ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม GreenLake ว่าธุรกิจไทยให้การตอบรับ GreenLake ดีมากจนอาจจะเป็นธุรกิจที่ทำให้ HPE ขยายตลาดมิดมาร์เกตได้มากขึ้นในอนาคต โดยจากที่มุ่งทำตลาดองค์กรขนาดใหญ่และภาคธุรกิจมาก่อน วันนี้ HPE ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ 3 ผู้ให้บริการ หรือเซอร์วิสโพรไวเดอร์รายใหญ่ของไทยเพื่อทำตลาด GreenLake ในกลุ่มเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัปอย่างจริงจัง เบื้องต้นเชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้บริษัทไทยสามารถต่อยอดธุรกิจและลดค่าใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น
"จุดแข็งของ HPE คือการเป็นเอดจ์ทูคลาวด์ เรามีโซลูชันที่สามารถตอบลูกค้าตั้งแต่ที่เอดจ์ทั้งที่สาขา หรือที่รถ ไปจนถึงคลาวด์ทุกเจ้า เพราะดาต้าเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับอนาคต เรามีโซลูชันทำให้ดาต้าเหล่านี้เกิดรายได้ ผมมองว่า GreenLake จะเป็นแพลตฟอร์มแอสอะเซอร์วิส (As a Service) ที่จะช่วยลูกค้าทำทรานส์ฟอร์เมชันได้ดี ข้อมูลจะอยู่ที่ออนพริม หรือออนคลาวด์ก็ได้ สามารถจัดการและรักษาความปลอดภัย สามารถควบคุมทุกอย่างได้"
GreenLake ถือเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ HPE วางหมากคิดค่าบริการแบบจ่ายตามจริงหรือ pay per use ต้นเรื่องของ GreenLake คือมุมมองของ HPE ที่เชื่อว่าการลงทุนคลาวด์ขององค์กรควรทำแบบทยอยเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยถัดจากการนำระบบขึ้นคลาวด์ สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อคือข้อมูล ที่มีความสำคัญมากถึงขั้นว่าหากธุรกิจที่ตั้งมากว่า 10 ปี อาจจะได้รับผลกระทบหากข้อมูลหายไปวันเดียว เนื่องจากการวิเคราะห์ทรานส์เซกชันช่วง 10 ปีที่แล้วสามารถนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อเตรียมพร้อมในอนาคตได้
เมื่อสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมกับดาต้า คือการวางแผนว่าจะจัดการอย่างไรให้สร้างผลดีกลับมาที่ธุรกิจได้ HPE จึงสร้างระบบวิเคราะห์เพื่อตอบปัญหาให้องค์กรทราบว่าจะเอาดาต้าเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นธุรกิจอย่างไร โดยใช้จุดเด่นที่ HPE เชื่อว่าเหนือกว่ารายอื่น คือการไม่ได้ทำแค่ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ขยายไปถึงขั้นการวิเคราะห์และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง จึงเกิดเป็น GreenLake ที่จะเป็นตัวช่วยให้หลายองค์กรหมดกังวลว่าจะจัดเก็บข้อมูลอย่างไร ควรเก็บไว้บนคลาวด์หรือในพื้นที่ของบริษัทเอง GreenLake จึงสามารถจัดการข้อมูลทั้งออนพริม และออนคลาวด์ เป็นเครื่องมือที่สามารถจัดการทั้ง 2 ฝั่งในหน้าจอเดียวกัน
พลาศิลป์ ยอมรับว่า GreenLake เป็นการตอกย้ำการปรับโพสิชันครั้งใหญ่สุดของ HPE ในรอบ 5 ปี โดยหันมามุ่งขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจแบบ opEx ที่องค์กรจะชำระค่าเซิร์ฟเวอร์หรือโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้ HPE ในรูปสมาชิกรายเดือนหรือรายปี จากเดิมที่เป็น capEx ซึ่งองค์กรต้องจ่ายเป็นก้อนใหญ่เพื่อซื้อเซิร์ฟเวอร์ไปใช้งาน การตอบโจทย์ธุรกิจด้วยบริการ As a Service นี้เชื่อว่าจะดันรายได้ HPE ให้เติบโตมากขึ้น เปิดทางให้องค์กรทุกระดับสามารถลงทุนสร้างโครงข่ายไอทีในราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึงราคาหลายสิบล้านบาท
การบุกตลาดมิดมาร์เกตของ HPE จะทำผ่านพันธมิตร 3 รายหลักในไทยคือ NTT, SIS และ Metro System ที่จะนำ GreenLake ไปให้บริการคลาวด์ด้วยแบรนด์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละเจ้า
"การบุกตลาดองค์กรขนาดกลางและย่อมไม่ได้หมายความว่าองค์กรขนาดใหญ่ลดการลงทุนลง เพราะการลงทุนยังคงเป็นอาวุธ แต่ HPE มองเห็นเซกเเมนต์ตลาดที่เติบโต ก่อนหน้านี้ตลาด SME อาจยังใช้เทคโนโลยีไม่มาก แต่ถ้าทำให้การลงทุนเทคโนโลยีอยู่ในระดับที่สามารถจ่ายได้จะช่วยให้ธุรกิจไทยเติบโตได้อีกมาก” พลาศิลป์ กล่าว "จุดคุ้มทุนอาจจะเริ่มต้นที่ 3-5 ปี อยู่ที่การเติบโตของบริษัทที่นำเอาไปใช้"
ปัจจุบัน HPE สามารถทำรายได้ไตรมาสที่ 1 ปี 2023 แบบสร้างสถิติใหม่ โดยมีรายรับราว 7.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นผลประกอบการไตรมาสแรกสูงสุดของบริษัทตั้งแต่ปี 2559 โดยอัตรารายได้รายปี หรือ ARR ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก GreenLake นั้นพุ่งแรงเกินหลัก 1 พันล้านดอลลาร์ได้เป็นครั้งแรก คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คาดว่า ARR ของ HPE จะเติบโตแบบทบต้นที่ 35-45% จากปีงบประมาณ 2565 ถึงปีงบประมาณ 2568 บนแนวโน้มรายได้ที่เชื่อว่าจะอยู่ในช่วง 7.1-7.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 บนการเติบโตรวมราว 5-7%
สำหรับ HPE Alletra ที่เพิ่งเปิดตัว HPE ระบุว่ามาพร้อมบริการไฟล์ บล็อก และการป้องกันข้อมูลรูปแบบใหม่ ครอบคลุมการใช้งานเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ถือเป็นการบริการข้อมูลรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นบน HPE Alletra Storage MP ซึ่งทำให้เกิดประสบการณ์บนคลาวด์ที่ใช้งานง่ายและพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ขยายขนาดประสิทธิภาพสูง สะท้อนว่า HPE ตั้งเป้าที่จะปฏิวัติการจัดการวงจรชีวิตของข้อมูลและเสริมศักยภาพให้ธุรกิจในยุคของข้อมูลเชิงลึก