xs
xsm
sm
md
lg

TikTok-Facebook-Instagram ขอไม่เอี่ยวขบวนการ IO การเมืองไทย! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่าจุดยืนแพลตฟอร์มโซเชียลต่างชาติในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ของประเทศไทย ทุกค่ายเตรียมพร้อมทุกทางไม่ให้เกิดการบิดเบือนข้อมูลบนแพลตฟอร์มของตัวเอง ฝั่งแพลตฟอร์มโซเชียลขวัญใจคนชอบวิดีโออย่าง TikTok นั้นระบุว่า จะไม่รับเงินโฆษณาจากภาคการเมืองใดเพื่อไม่ให้คนที่สนใจเนื้อหาความบันเทิงบน TikTok ได้รับผลกระทบ ตรงกันข้ามกับฝ่าย Meta ต้นสังกัด Facebook และ Instagram ที่เปิดรับการยิงโฆษณาหาเสียงแบบโปร่งใส เพราะต้องการเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง บนความเชื่อว่ายูสเซอร์มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่เพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลจากโฆษณาทางการเมืองเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจ

ถามว่าเหตุใด 2 ค่ายแพลตฟอร์มยักษ์จึงมองเรื่องนี้ต่างกัน คำตอบคือนโยบายบริษัทที่ไม่เหมือนกัน ฝั่ง Meta พยายามชูมุมมองการตระหนักว่า Facebook และ Instagram เป็นเทคโนโลยีที่มีผลต่อทางเลือกของผู้คน จึงมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลิดรอนสิทธิในการรับทราบข้อมูลของผู้ใช้ ซึ่งประสบการณ์ทำงานในการเลือกตั้งของหลายประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นการยืนยันได้ว่า Meta สามารถต่อสู้ข้อมูลเท็จ รวมถึงคอยสอดส่องและรับมือต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์

แต่สำหรับ TikTok นักการเมืองจะซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์ม TikTok ไม่ได้ ทำได้เพียงสามารถสร้างบัญชีเพื่อแชร์ชีวิตหรือภาพการลงพื้นที่หาเสียงได้ โดยหากตรวจพบว่ามีการซิกแซ็กเพื่อพยายามยิงโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง TikTok จะจัดการกับเนื้อหานั้นและจะไม่มีการคืนเงินโฆษณาใดๆ และแม้แต่การดีลกับครีเอเตอร์ เพื่อโฆษณาให้นักการเมืองก็ทำไม่ได้ และวิดีโอนั้นจะโดนถอดออกในที่สุด

ไม่ว่าทั้ง 2 แพลตฟอร์มจะมีจุดยืนการขายโฆษณาที่ต่างกันขนาดไหนในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการไม่โอนอ่อนต่อเนื้อหาที่เข้าข่ายการดูหมิ่นว่าร้าย หรือบูลลี่ผู้อื่น รวมถึงพฤติกรรมผิดกฎของแพลตฟอร์ม และข้อมูลเท็จที่จะถูกคาดโทษขั้นสูงสุด เพื่อให้คนไทยมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งปี 66 ได้ในเชิงบวก

***TikTok พร้อมหั่นถ้าไม่สร้างสรรค์

TikTok นั้นเป็นแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมที่เน้นมอบความบันเทิงและความสนุกสนาน แต่ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันทั้งการเลือกตั้งและประเด็นทางการเมือง สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะย้ำว่าพร้อมตรวจจับเข้มข้นทั้งในเชิงเนื้อหาและบัญชีผู้ใช้ แต่วิดีโอหาเสียงที่มีการพูดพาดพิง TikTok จะให้อิสระเต็มที่เหมือนการสรุปข่าวของสำนักข่าว เว้นแต่การพูดพาดพิงในเรื่องอันตราย และคุกคามผู้ใช้ ที่จะถูกแบนบนแพลตฟอร์ม TikTok

“ชนิดา คล้ายพันธ์” หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย ท้าทายว่านักการเมืองอาจจะลองสร้างเนื้อหาที่โฆษณาทางการเมืองดูได้ แต่จะพบว่าไม่มีใครทำได้ ทั้งหมดนี้ไม่มีการเพิ่มทีมตรวจโดยเฉพาะ โดยที่ผ่านมา TikTok มีทีมตรวจเข้มเนื้อหาบันเทิง แต่ในช่วง 2 เดือนนี้จะมีการเตรียมเทน้ำหนักมาโฟกัสที่การตรวจเนื้อหาการเมือง จึงเชื่อว่าจะมีกำลังคนเพียงพอสำหรับคอนเทนต์พูลที่กว้างขวางขึ้น

 ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย
TikTok ยอมรับว่าได้เห็นความพยายาม “บูสแอด” เพื่อโฆษณาด้านการเมือง ดังนั้นบริษัทจึงตอบความต้องการนี้ด้วยการจัดอบรมเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโฆษณาด้านการเมืองมีความเข้าใจและไม่ทำผิดกฎของแพลตฟอร์ม

“แต่ละแพลตฟอร์มมีนโยบายคนละแบบ การเทรนนิ่งจะทำให้นักการเมืองเข้าใจ และไม่ทำผิดกฎ การทำผิดกฎจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดีกับตัวเอง ทั้งการพยายามซื้อแอดและการจ้างใครมาทำให้เพราะ TikTok เป็นแพลตฟอร์มความบันเทิง เนื้อหาการเมืองนั้นเกี่ยวพันกับความเชื่อมั่นที่หลากหลายมาก ซึ่งจะทำให้เราเป็นเหมือนเพลย์กราวนด์ ซึ่งอาจจะทำให้คนที่สนใจเนื้อหาความบันเทิงได้รับผลกระทบ เนื้อหาการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่อนุญาตให้โฆษณา และเราไม่คิดว่าจะทำเงินจากตรงนี้”

TikTok เชื่อมั่นเต็มที่ในความสามารถด้านการตรวจสอบของตัวเอง โดยสถิติชี้ว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมกว่า 90% ถูกตรวจเจอก่อนที่ผู้ใช้จะเห็น นอกจากนี้ ทุกเนื้อหาบนแพลตฟอร์มมีการตรวจสอบก่อนจะสามารถเผยแพร่ ซึ่ง 10% ที่หลุดรอดไปได้นั้นประปรายหลายเหตุผล แต่ที่สุดแล้วล้วนมีโทษไล่ระดับลักษณะเดียวกันคือ การลบเนื้อหา และการระงับบัญชี

TikTok ระบุว่าในช่วงที่มีการประกาศยุบสภาในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อเตรียมการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จำนวนบัญชีผู้ใช้ที่เป็นนักการเมืองนั้นเพิ่มขึ้นทุกวัน รวมแล้วจำนวนหลายร้อยบัญชี อย่างไรก็ตาม การสร้างแอ็กเคานต์นักการเมืองนั้นมีความซับซ้อนเนื่องจากบางรายมีการเปิดหลายบัญชี ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ ซึ่งการเปิดบัญชีทิ้งขว้างไว้หลายบัญชีนั้นยิ่งไม่เกิดผลดี เพราะแต่ละบัญชีจะต้องปั้นเนื้อหาที่หลากหลาย ทำให้ยากต่อการดูแล

สำหรับการยืนยันตัวตน TikTok ระบุว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีระบบยืนยันตัวตนบัญชีหรือ Verify ซึ่งแม้จะเป็นเอนเทอร์เทนเมนต์แพลตฟอร์ม แต่เปิดให้ผู้มีชื่อเสียงสามารถร้องขอการยืนยันตัวตนได้ จุดนี้บริษัทไม่มีนโยบายยืนยันให้ทุกคน แต่จะต้องมีการร้องขอเป็นกรณีไป

“บัญชีที่เปิดในนามพรรคการเมือง เรา Verify ไม่ได้ เพราะเป็นพรรคการเมืองสาขา ถ้าพรรคไม่ยื่นเข้ามาเองจะเป็นความสับสนว่าเป็นสาขาไหน”

สรุปแล้ว 4 แผนรับมือการบิดเบือนข้อมูลบนแพลตฟอร์ม TikTok ในช่วงการเลือกตั้งรอบนี้ ได้แก่ (1) การใช้ข้อกำหนดดั้งเดิม TikTok Community Guidelines (2) การร่วมมือกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญ (3) การตั้งศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้งเพื่อให้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูลสำคัญในช่วงการเลือกตั้ง และ (4) การสื่อสารเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับบัญชีของรัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมืองหรือ GPPPA Policy ทุกแนวทางดำเนินการเพื่อต่อต้านการบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มแบบเชิงรุก โดยสิ่งที่ TikTok จะให้ความสำคัญสูงสุดในช่วงการหาเสียง คือการตรวจสอบนำข้อมูลเท็จที่เป็นอันตรายออกจากแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าแพลตฟอร์ม TilTok เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้ผู้ใช้งานได้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่และปลอดภัย

***Meta ต่อยอดจากระดับโลก

“ขวัญชนก เรืองขำ” ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จาก Meta นั้นมองว่า นโยบายการลงโฆษณาของ FB และ IG นั้นมีพัฒนาการต่อเนื่อง เพื่อสร้างความโปร่งใสบนระบบมาตลอดตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งจนถึงปีนี้ 2 ส่วนหลักที่ Meta โฟกัสคือการพิสูจน์ตัวตน และความโปร่งใส

“เรื่องการพิสูจน์ตัวตน คือทุกคนที่ต้องการลงโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 66 จะต้องยืนยันตัวกับ Facebook เพื่อตรวจสอบว่าใครเป็นผู้จ่ายเงิน และใครเป็นผู้ระบุนโยบายต่างๆ โดยสามารถประกาศข้อจำกัดความรับผิดชอบ หรือ Disclaimer ไว้” ขวัญชนก ระบุ “เรื่องความโปร่งใส เราจะมีคลังโฆษณาที่รวบรวมทั้งโฆษณาการเมืองและที่ไม่การเมือง โดยจะเก็บโฆษณาไว้ในคลัง 7 ปี จะเพิ่มความโปร่งใสอีกระดับ เพราะเป็นคลังที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาดูโฆษณาได้ ว่า Disclaimer นี้ใครเป็นผู้ลงโฆษณา ซึ่งจะมีการเพิ่มรายละเอียดในโฆษณานั้นเข้าไปอีก”

ขวัญชนก เรืองขำ ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Meta
ข้อกำหนดล่าสุดของ Meta ระบุว่าโฆษณาที่เกี่ยวกับการเมืองจะยิงบน Facebook นั้นต้องได้รับการอนุมัติก่อน โดยข้อกำหนดที่เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วนี้มีผลใช้กับ 190 ประเทศทั่วโลก เป้าหมายคือเพิ่มการยืนยันตัวตนบุคคล และเพิ่มความโปร่งใส ซึ่งโฆษณาที่หาเสียง และการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปเลือกตั้ง หรือโฆษณาที่มีโลโก้พรรค สัญลักษณ์ รวมถึงหน่วยงานรัฐ ล้วนต้องยืนยันตัวเหมือนกันหมดไม่มีข้อยกเว้น

Meta เชื่อว่าผู้ใช้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้เห็นว่าใครเป็นผู้จ่ายเงินสำหรับลงโฆษณา ซึ่งไม่เพียงเพิ่มความโปร่งใส แต่ยังสามารถป้องกันการแทรกแซงจากต่างประเทศได้ด้วย โดยผู้ลงโฆษณาจะต้องใช้หลักฐาน เช่น บัตรประชาชนที่ระบุตัวตนจริงและต้องใช้งานจากพิกัดในประเทศไทย และ Meta จะใช้หลายวิธีการพิสูจน์ว่าคนนี้อยู่ในองค์กรนั้นจริง เช่น อีเมลแอดเดรสที่มีชื่อเว็บไซต์พรรคการเมือง หรือเบอร์โทร.ติดต่อในสำนักงานใหญ่

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 5 แนวทางเพื่อปกป้องการแทรกแซงและส่งเสริมความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 66 ของ Meta ซึ่งไม่เพียงแนวทางแรกอย่างการจัดตั้งทีมงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง (Election Operations Team) ยังมีแนวทางที่ 2 อย่างการพัฒนานโยบายที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อจัดการกับเนื้อหาและเครือข่ายที่อันตราย โดย Meta จะทำการลบทุกเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรฐานชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (hate speech) ความรุนแรงและการยุยง การกลั่นแกล้งและการคุกคาม หรือการให้ข้อมูลเท็จบางประเภท

แนวทางที่ 3 คือการต่อสู้กับข้อมูลเท็จ คือ Meta จะไม่อนุญาตให้มีการแทรกแซงหรือหยุดยั้งการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมไปถึงไม่อนุญาตให้มีการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ หรือวิธีการเลือกตั้ง ไปจนถึงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง และการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายหรือเรียกร้องให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ

แนวทางที่ 4 คือการเพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาที่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนนี้เองที่ Meta จัดทำมาตรการเพิ่มเติมในการสร้างความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและดูแลเพจต่างๆ บนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกับ “คลังโฆษณา” หรือศูนย์รวมข้อมูลสาธารณะที่คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลโฆษณาที่กำลังแสดงผลอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อมูลโฆษณาเกี่ยวกับการเมืองย้อนหลัง 7 ปีบน Facebook ซึ่งระบุวันเวลา แพลตฟอร์มที่โพสต์ และผู้สนับสนุนโฆษณานั้นๆ

Meta ยังอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถดูประเทศของผู้ดูแลเพจได้ และได้เปิดตัวปุ่ม “เกี่ยวกับบัญชีนี้” ซึ่งผู้ใช้ Instagram จะสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น

สุดท้าย แนวทางที่ 5 คือการดำเนินโครงการที่มุ่งเสริมสร้างทักษะความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงการเพื่อส่งเสริมบทบาทพลเมือง ส่วนนี้ทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ของ Meta จะสอดส่องและรับมือกับเครือข่ายออนไลน์ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่ามีพฤติกรรม CIB หรือ coordinated inauthentic behavior ที่มักสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ ซึ่งในช่วงการเลือกตั้ง กลุ่มคนที่มีพฤติกรรม CIB อาจมุ่งบงการชักใยและสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของสาธารณชนผ่านบัญชีปลอม และร่วมกันให้ข้อมูลเท็จในลักษณะเดียวกับขบวนการ IO ที่มุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม

เพราะฉะนั้น TikTok และ Facebook จึงขอไม่มีเอี่ยวกับขบวนการ IO ทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 66 เด็ดขาด!


กำลังโหลดความคิดเห็น