AIS สร้างความต่างในการทำธุรกิจผ่านวิสัยทัศน์ใหม่สร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจแบบร่วมกัน (Ecosystem Economy) ผ่านยุทธศาสตร์พาย 3 ชิ้น นำความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจอย่างเท่าเทียม และทั่วถึงเพื่อที่จะเติบโตไปด้วยกัน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวถึงโอกาสของประเทศไทยที่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.4% ในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของ World Bank ซึ่งนับว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
“ไทยเป็นเศรษฐกิจที่มี GDP ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค มีจำนวนประชากรถึง 72 ล้านคน ซึ่งเป็นสเกลที่ใหญ่พอในการสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้น และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ลำดับต้นๆ ของอาเซียน เพียงแต่ว่าต้องมีการปรับกฎระเบียบบางอย่างเพื่อจูงใจนักลงทุนเข้ามา”
ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือประเทศไทยมีกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นรายย่อยถึง 3.2 ล้านคน ซึ่งในยุคของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นโอกาสทองของบริษัทขนาดเล็กๆ ที่สามารถเติบโตขึ้นมาแข่งกับธุรกิจขนาดใหญ่
“เมืองไทยจะแข็งแรงได้ ไม่ใช่เฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่ต้องแข็งแรง แต่ธุรกิจระดับกลาง และรากหญ้าต้องแข็งแรง เพื่อให้ธุรกิจในภาพรวมสามารถแข็งแรงขึ้นมาได้”
เพื่อให้ทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกัน AIS จึงมองถึงการสร้าง Ecosystem Economy หรือเศรษฐกิจแบบร่วมกันเพื่อที่จะได้ช่วยธุรกิจทุกระดับให้เติบโตขึ้นมา ผ่านยุทธศาสตร์ พาย 3 ชิ้น คือ การใช้งานโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Intelligence Infrastructure) เปิดใจให้กว้างเพื่อรับทุกคนอย่ากินรวบคนเดียว (Cross Industry Collaboration) และร่วมกันพัฒนาบุคลากรของไทย (Human Capital & Sustainability)
“สำคัญมากๆ ที่คนไทยจะต้องผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยเฉพาะการพัฒนาคน และการวางธุรกิจแบบยั่งยืนในระยะยาว เพราะไม่มีใครใหญ่โตและอยู่ยั่งยืนได้โดยที่ข้างล่างราบคาบ ถ้าทุกองค์กรมาร่วมกันประเทศไทยจะแข็งแรง”
ในมุมของ AIS เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ปัจจุบันขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุมไปแล้วกว่า 87% ของประชากร ได้วางงบประมาณการลงทุนโครงข่ายทั้ง 5G และเน็ตบ้าน รวมถึงแพลตฟอร์ม 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมไว้ที่ 27,000-30,000 ล้านบาท
“ต้องบอกว่าตอนนี้เป็นเวลาที่ล้าสมัยแล้วในการจะบอกว่าโอเปอเรเตอร์รายใดให้บริการครอบคลุม หรือเร็วกว่า เพราะกลายเป็นเรื่องมาตรฐานของผู้ให้บริการทุกราย แต่สิ่งที่ควรจะเป็นคือการมีเน็ตเวิร์กต้องฉลาดพอที่จะรู้และแก้ไขปัญหาก่อนลูกค้ารับรู้ถึงปัญหา”
***ก้าวสู่ “Cognitive Tech-Co” ผ่าน 4 แกนธุรกิจหลัก
สำหรับบริการเทคโนโลยีในยุคอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งจากมุมของผู้บริโภคที่เข้าถึงประสบการณ์เสมือนจริงที่รวดเร็วขึ้น และภาคธุรกิจที่สามารถประยุกต์ใช้ดิจิทัลโซลูชันมาช่วยยกระดับกระบวนการทำงาน
ในมุมของ AIS จึงเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพทั้งในมุมของการใช้งาน 1.โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile) ด้วยการผลักดันให้ผู้บริโภคเข้าสู่การใช้งาน 5G จากปัจจัยที่สมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งานมีราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น รวมถึงการนำเสนอแพกเกจที่เหมาะสมแก่ทุกกลุ่มผู้ใช้งาน ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของการให้บริการ 5G ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
2.ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน (Fixed Broadband) ที่มีโอกาสเติบโตจากโครงข่ายที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงภายในบ้านมาตอบสนองกลุ่มผู้ใช้งาน จนถึงการเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับอินเทอร์เน็ตบ้าน และคอนเทนต์บันเทิงต่างๆ ภายในที่พักอาศัย
3.สร้างรายได้ใหม่จากธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร (Enterprise Business) โดยเฉพาะในฝั่งของคลาวด์ IoT และ 5G ที่จะเข้าไปตอบสนองการทำงานที่มีความต้องการที่หลากหลายใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง และโลจิสติกส์ และการค้าปลีก
สุดท้ายในแง่ของการสร้าง 4.ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ (Digital Dervice) ที่จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการทางด้านดิจิทัลของผู้บริโภค ด้วยการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความชำนาญ ต่อยอดจากฐานลูกค้าปัจจุบันทั้งในแง่ของธุรกรรมทางการเงินและประกันดิจิทัล บริการคอนเทนต์ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้จากการสมัครสมาชิก ค่าธรรมเนียม และรายได้จากการโฆษณาในอนาคต
โดยเทคโนโลยีอัจฉริยะที่เข้ามาส่งเสริมการเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co จะมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ (Digital Intelligence Infrastructure) จากการถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง รวมกว่า 1460 MHz รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับทาง NT ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้คนไทย
“ลูกค้า AIS จะได้รับบริการที่ดีขึ้นจากการมีคลื่นความถี่ 700 MHz เพิ่มขึ้นอีก 10 MHz แบ่งเป็นดาวน์ลิงก์ 5 MHz และอัปลิงก์ 5 MHz ทำให้ปัจจุบัน AIS มีคลื่นความถี่ 700 MHz รวมเป็น 40 MHz รองรับการใช้งานครอบคลุมทุกรูปแบบ”
นอกจากนี้ ตัวเน็ตเวิร์กยังสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าได้ตลอดเวลา ทั้งการติดตาม ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพในการให้บริการเพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่แตกต่างในการใช้งาน ตามด้วยระบบสารสนเทศอัจฉริยะ (IT Intelligence) ให้องค์กรปลอดภัย และเสถียรรองรับสถานการณ์ต่างๆ และบริการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายคือการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการตามความต้องการของลูกค้า
ทั้งนี้ AIS ระบุว่า ภายในสิ้นปี 2024 จะเห็นถึงความสมบูรณ์ของ Cognitive Tech-Co ที่จะปรับปรุงทั้งโครงข่ายดิจิทัล ระบบเทคโนโลยีภายในองค์กรของ AIS ให้รองรับการเชื่อมต่อของพันธมิตรเพื่อรองรับการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
***มุ่งแข่งขันบนความยั่งยืน
ธีร์ สีอัมพรโรจน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน AIS ให้ข้อมูลเพิ่มถึงสภาวะการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นว่า อยู่ในช่วงที่ผู้ให้บริการรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งจากการลงทุนขยายโครงข่าย และใบอนุญาตคลื่นความถี่ สวนทางกับสภาพตลาดมือถือในปัจจุบันที่ไม่ได้มีการเติบโตเหมือนที่ผ่านมา
“ในประเทศไทยตอนนี้จำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือเกินจำนวนประชากรไปแล้ว 150% ทำให้โอกาสที่ธุรกิจมือถือจะเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนก่อนทำได้ยาก ทำให้ AIS มองถึงโอกาสจากธุรกิจบรอดแบนด์ และธุรกิจองค์กรที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอนาคต”
เมื่อดูถึงรายได้จากธุรกิจหลักของ AIS ในปัจจุบันเกือบ 90% ยังมาจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามด้วยธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (AIS Fibre) และกลุ่มลูกค้าองค์กรที่รวมกันราว 10% แต่เชื่อว่าสัดส่วนนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อดีลเข้าซื้อกิจการ 3BB ของ AIS ที่รอการอนุญาตจากทาง กสทช. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 นี้ เพราะดีลนี้สะอาด โปร่งใส
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ AIS Fibre รวมกับ 3BB คือ จำนวนฐานลูกค้าที่ใช้บริการบรอดแบนด์จะเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในตลาด ด้วยฐานลูกค้า AIS Fibre 2.2 ล้านราย และฐานลูกค้า 3BB อีก 2.4 ล้านราย เมื่อรวมกันแล้วจะขึ้นมาเป็น 4.6 ล้านราย รองจากทรู ออนไลน์ที่มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 5 ล้านราย
เหตุผลสำคัญคือปัจจุบันอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้านต่อจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยยังอยู่ที่ราว 58% เท่านั้น ทำให้มีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ประกอบกับแนวโน้มในการออกแพกเกจที่มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น หลังการควบรวมกิจการที่จะมีการผสมผสานแพกแกจเน็ตบ้านเข้ากับบริการโทรศัพท์มือถือ และสินค้ากลุ่มอื่นๆ อย่างอุปกรณ์สมาร์ทโฮม และ IoT
“ปีนี้มีโอกาสที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟเบอร์จะขึ้นมาอยู่ราว 20% และธุรกิจองค์กรเพิ่มขึ้นมาเป็น 10% จากแนวโน้มในการขยายพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในธุรกิจเน็ตบ้าน ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค เช่นเดียวกับในฝั่งขององค์กรธุรกิจที่จะมีการลงทุนนำเทคโนโลยีไปช่วยขับเคลื่อนธุรกิจผ่านทั้ง 5G และคลาวด์ที่ AIS ให้บริการ”
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา AIS มีรายได้รวมอยู่ที่ 185,485 ล้านบาท มีฐานลูกค้าที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ 46 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 47% คิดเป็นรายได้อยู่ที่ 116,696 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีฐานลูกค้า 2.2 ล้านราย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดราว 16% สร้างรายได้ราว 10,064 ล้านบาท
ในส่วนของการแข่งขันในปีนี้ AIS เชื่อว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงเช่นเดิมแต่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 2 รายต่างแบกรับต้นทุนในการให้บริการทั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ และบรอดแบนด์ ซึ่งคาดว่าการบริหารจัดการต้นทุนจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังการควบรวม และส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านดิจิทัลในประเทศไทย สร้างประโยชน์ในการใช้งานให้แก่ผู้บริโภค และเป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว