xs
xsm
sm
md
lg

Pure Storage ส่ง FlashBlade//E บุกตลาด "ข้อมูลไร้โครงสร้าง" ไทย ชูจุดขาย 7 บาท/GB

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพียวสตอเรจ (Pure Storage) ตอกย้ำโลกสตอเรจหมุนเข้าสู่ยุคใหม่ เปิดตัว “แฟลชเบลดอี" (FlashBlade//E) การันตีเป็นโซลูชันหน่วยความจำแฟลชสำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบไม่มีโครงสร้าง หรือ Unstructured Data ชูราคาเริ่มต้น 7 บาทต่อกิกะไบต์ (0.20 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้องค์กรไม่จำเป็นต้องพึ่งพาดิสก์สตอเรจที่มีจุดอ่อนมากมายอีกต่อไป มั่นใจยอดขายไทยปีนี้พุ่งเกิน 60% เพราะองค์กรต้องการโซลูชัน All-Flash มากขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีหลัง ผลจากแนวโน้มข้อมูล Unstructured Data เติบโต 10 เท่าในปีนี้

น.ส.เมธาวี แซ่จิว ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Pure Storage กล่าวว่า จากที่ Pure Storage นำเสนอโซลูชันการจัดการข้อมูลและสตอเรจตลอด 14 ปีที่ผ่านมา การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในครั้งนี้นับเป็นเรื่องดีสำหรับลูกค้าและพาร์ตเนอร์ในประเทศไทย เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลส่งผลให้เกิดการสร้างข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมด้วยวิธีที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

"ด้วย FlashBlade//E องค์กรต่างๆ จะสามารถจัดซื้อโซลูชันที่มีราคาเทียบเท่ากับดิสก์แบบเก่า แต่ลดการใช้พลังงานและพื้นที่ติดตั้งในดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างมาก"

Pure Storage นั้นเป็นบริษัทผลิตโซลูชันเก็บข้อมูลองค์กรแบบแฟลชที่มีฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกา บริษัทมองว่าดิสก์สตอเรจนั้นไม่เหมาะกับการรับมือข้อมูล Unstructured Data ที่เชื่อว่าจะเติบโต 10 เท่าในปี 2023 เนื่องจากกินพื้นที่มาก รวมถึงใช้พลังงาน และทรัพยากรรวมมากเกินไป ทำให้คีย์โฟกัสของ Pure Storage คือความเชื่อว่านี่คือการเข้าสู่ยุคใหม่ของโลกสตอเรจ ซึ่งจะมาแทนที่ดิสก์สตอเรจด้วยราคาที่ใกล้เคียงกันในระยะยาว แต่สามารถตอบความต้องการเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า และกู้คืนข้อมูลได้ง่ายกว่าในกรณีถูกโจมตีเรียกค่าไถ่ข้อมูล หรือแรนซัมแวร์

***เลิกใช้ดิสก์?

สำหรับ FlashBlade//E จุดขายของโซลูชันเก็บข้อมูลองค์กรแบบ All Flash ใหม่จะช่วยให้องค์กรสามารถยกเลิกการใช้งานดิสก์สตอเรจที่เหลืออยู่ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ แต่สามารถจัดการการเติบโตของข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ และยั่งยืน โดยมีราคา (ยังไม่รวมค่าบริการ) ไม่ถึง 0.20 ดอลลาร์ต่อกิกะไบต์ในช่วง 3 ปีแรก แพลตฟอร์มจะเริ่มต้นที่ 4 เพทาไบต์ และสามารถปรับเพิ่มขนาดโดยยังคงรักษาประสิทธิภาพที่เชื่อถือได้

เมธาวี แซ่จิว ผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Pure Storage
FlashBlade//E มีกำหนดวางจำหน่ายภายในสิ้นเดือนเมษายน 2566 เชื่อว่าการนำเสนอ FlashBlade//E จะสานต่อวิสัยทัศน์ดั้งเดิมเรื่องดาตาเซ็นเตอร์ All-Flash ที่ใช้แฟลชทั้งหมดของ Pure Storage สำหรับราคา 0.20 ดอลลาร์ต่อกิกะไบต์นั้นปลดข้อจำกัดของเวิร์กโหลดที่เมื่อก่อนนี้ไม่สามารถใช้แฟลชสตอเรจได้เพราะมีราคาที่สูงมาก แต่ตอนนี้ค่าใช้จ่ายการเป็นเจ้าของ (TCO) ของโซลูชันแฟลชโดยรวมนั้นต่ำกว่าดิสก์แล้ว

FlashBlade//E ยังถูกมองว่าใช้พลังงานน้อยกว่าระบบที่ใช้ดิสก์ถึง 5 เท่า ยิ่งระบบมีขนาดใหญ่เท่าใดก็ยิ่งประหยัดพลังงานได้มากขึ้นเท่านั้น ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน FlashBlade//E ยังออกแบบให้สามารถขยายระบบได้ตามความต้องการ โดยมีเสถียรภาพมากกว่าระบบที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ 10-20 เท่า สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบโดยไม่ก่อให้เกิดการหยุดชะงักและไม่จำเป็นต้องทำการอัปเกรดครั้งใหญ่ ด้วยความเรียบง่ายที่เหมือนกับคลาวด์ ความยืดหยุ่น และประสิทธิภาพที่คาดการณ์ได้

ปัจจุบัน รายได้รวมของ Pure Storage มีมากกว่า 2.75 พันล้านเหรียญ เติบโต 26% ต่อปี (สถิติปีการเงิน 2023) มีรายได้แบบสมัครสมาชิกที่ใช้งานต่อเนื่อง 1.18 พันล้านในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา มีกลุ่มลูกค้ารวม 11,000 รายทั่วโลก จำนวนนี้อยู่ในประเทศไทยราว 150 ราย

***องค์กรไทยเริ่มไปแฟลช


ผู้บริหาร Pure Storage กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในโซลูชันจัดเก็บข้อมูลขององค์กรไทยนั้นยังเป็นแบบผสม โดยกลุ่มที่เป็นองค์กรทั่วไปยังมีการลงทุนแบบดิสก์ แต่องค์กรใหญ่เช่นกลุ่มสถาบันการเงิน โทรคมนาคม ภาคสาธารณูปโภค และเฮลท์แคร์นั้นลงทุนแบบ All-Flash มากขึ้นชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการลงทุนในแฟลชเพิ่มเกือบ 100% จากที่เคยมี 60% ปัจจัยหนุนคือลูกค้าไทยให้ความสำคัญกับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันความปลอดภัยของข้อมูล การประหยัดพลังงาน และความยั่งยืน ซึ่งเมื่อสตอเรจเป็นส่วนที่ใช้พลังงานมากถึง 20-25% ของดาต้าเซ็นเตอร์ การเปลี่ยนสตอเรจจึงมีผลลดค่าใช้จ่ายได้มาก

สำหรับปีนี้ Pure Storage ต้องการรักษาการเติบโตในตลาดไทยให้ไม่ต่ำกว่าที่เคยทำได้ราว 60% ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยบริษัทมีอัตราเติบโตสูงสุดเพื่อเทียบกับผู้ให้บริการในกลุ่มเดียวกัน ความท้าทายที่เห็นไม่ใช่ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง หรือปัญหาสินค้าขาดตลาดเพราะนโยบายเตรียมสินค้าสำรอง 100% แต่เป็นภาวะการติดแบรนด์เดิมขององค์กร ทำให้ต้องใช้เวลาพิสูจน์นานแม้บริษัทจะมีสินค้าที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น