สดช.ผนึกภาครัฐ-การศึกษา เร่งเดินหน้าแผนส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศไทย เพื่อให้ไทยกลายเป็นผู้สร้างดาวเทียมและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอวกาศ ภายใต้กิจกรรมขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายฝ่ายทั้งสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจอวกาศของไทยนั้นเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ดร.พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวถึงทิศทางของการพัฒนาดาวเทียมในประเทศไทยว่า ตั้งแต่ที่สัมปทานดาวเทียมได้สิ้นสุดลง และเปลี่ยนไปสู่ระบบใบอนุญาต ถือเป็นทิศทางที่ดีในเรื่องเศรษฐกิจอวกาศ โดยขณะนี้ทาง สดช.ได้จัดทำร่างแผนส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Space Economy) ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 4 เมษายน 2566 ซึ่งร่างดังกล่าวประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจอวกาศ ด้านการวิจัย การพัฒนาบุคลากร และบริการเสริมที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอวกาศได้ในอนาคต ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายเพื่อให้เศรษฐกิจอวกาศของไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืน
โดยจากการคาดการณ์มูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอวกาศทั่วโลกในปี 2040 จะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทาง สดช. จึงเร่งที่จะสร้างแผนนี้เพื่อที่จะทำให้โอกาสเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นและพยายามสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจอวกาศให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ supply chain ข้อกฎหมาย รวมถึงความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยจะผลักดันให้เกิดการวัดมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอวกาศในอนาคตด้วย คาดว่าจะเป็นขั้นตอนต่อไปของทาง สดช.จะได้ดำเนินการในเรื่องการวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย
"สดช. คาดว่าเศรษฐกิจอวกาศจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลเองได้เร่งส่งเสริมให้ครอบคลุมทุกมิติเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอวกาศของไทยนั้นเติบโต และผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีน้อยราย จึงต้องการส่งเสริมให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เกิดสินค้าบริการในรูปแบบใหม่ๆ จากการหลอมรวมระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอวกาศร่วมกัน และในอนาคตน่าจะได้เห็นสินค้าบริการใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมทางด้านอาหาร (spacefood) และในอนาคตอาจจะขยายไปอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกด้วย"
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 4 เมษายน 2566 เสร็จสิ้นจะมีการนำเข้าคณะกรรมการของ สดช. และบอร์ดของดีอีให้รับทราบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งการจัดทำแผนดังกล่าวจะไปสอดคล้องกับแผนแม่บทของของสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ที่เป็นแผนระยะยาว 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ โดยจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้ง พ.ร.บ.กิจการอวกาศที่กำลังอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา ทั้งนี้ หากมีการบังคับใช้จะทำให้เศรษฐกิจอวกาศ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในกิจการอวกาศสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการธีออส-2 สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กล่าวว่า เรื่องโครงสร้างด้านอวกาศต้องมีเรื่องบุคลากรเข้ามาเกี่ยวข้องในการพัฒนา โดยจิสด้ามีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านกิจการอวกาศ และมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานในกิจการอวกาศที่สำคัญต่อการศึกษาและพัฒนาในกิจการอวกาศอย่างครบวงจร
"เศรษฐกิจอวกาศ มองว่าเป็นเศรษฐกิจที่มีความแปลกใหม่ แต่ทางจิสด้า และภาครัฐพยายามจะสร้างดีมานด์และซัปพลายเออร์ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ภายใต้โครงการธีออส-2 ได้สร้างผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม รวมถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นครั้งแรกที่สามารถยกระดับผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมที่เราคุ้นเคย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะ โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ต้องการจะยกระดับอุตสาหกรรมและสนใจเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบันเราได้ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวนี้มามากกว่า 20-30 ราย และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เราสามารถผลิตชิ้นส่วนอวกาศได้ เพราะแต่เดิมเราเคยผลิตชิ้นส่วนการบินแค่ในเฉพาะของส่วนการบินเท่านั้น และยังไม่เคยไปแตะในเรื่องของอวกาศเลย ส่วนการสร้างดีมานด์คือต่อยอดจากโครงการธีออส-2 ไปจนถึงธีออส -9"
ทั้งนี้ จะมีการผลักดันแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ (2023-2037) ระยะเวลา 15 ปี โดยเป็นแบ่งเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เช่น การพัฒนาเรื่องดาวเทียม บุคลากร ความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงการยกระดับประเทศในการใช้นโยบายอวกาศ ซึ่งพ.ร.บ.กิจการอวกาศถือว่าเป็นการยกระดับประเทศโดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม และหลังจากนี้จะเป็นผลักดันให้เกิดขึ้นได้ทุกภาคส่วนให้พัฒนาไปในระดับเดียวกัน
ขณะที่ ผศ.ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวว่า การพัฒนาดาวเทียมในประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในทุกๆ ด้าน ทั้งนโยบายที่ชัดเจน การจ้างงานบุคลากรที่จบในสาขาดังกล่าว เนื่องจากว่าถ้าหากภาคการศึกษามีการเรียนการสอนในสาขาดังกล่าวต้องมีการสนับสนุนจากนโยบายรัฐที่ชัดเจน เพื่อให้นักศึกษาที่จบไปมีความมั่นใจว่ามีงานรองรับ จะยิ่งสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวเข้าสู่อุตสาหกรรมด้านกิจการอวกาศเพิ่มมากขึ้น และมองว่าในอุตสาหกรรมทางด้านกิจการอวกาศจะเติบโตขึ้นได้จะต้องมีการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลาง
“การลงทุนในด้านอวกาศในช่วงแรกนั้นค่อนข้างสูงและรัฐจะต้องสนับสนุน และอาศัยภาคเอกชนมาเป็นพันธมิตร ซึ่งไทยเรามีทรัพยากรอยู่แล้วแต่ขาดเพียงแค่เรื่องของยุทธศาสตร์ในการผลักดันของภาครัฐ ซึ่งผมมองว่าจะต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งการส่งต่อและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนในองค์กรด้วย”
***แนวทางพัฒนาบุคลากร
ดร.พรพรรณ กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมบุคลากรให้มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศว่า สำหรับภาครัฐได้มีความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรของไทยได้บูรณาการความรู้ในสาขาต่างๆ มาใช้ในการสร้างดาวเทียม
หนึ่งในโครงการที่มีร่วมมือกับทาง APSCO คือ โครงการ APSCO CubeSat Competition (ACC) เป็นโครงการหนึ่งของ APSCO โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการพัฒนาดาวเทียม CubeSat ให้แก่ประเทศสมาชิกทั้ง 8 ประเทศ คือ ไทย จีน ปากีสถาน อิหร่าน เปรู มองโกเลีย บังกลาเทศ และทูร์เคีย ผ่านการแข่งขันการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรม (Engineering Model) ที่มีขนาดรวมไม่เกิน 3U (ดาวเทียมขนาดเล็ก ต้นทุนต่ำ ที่เรียกว่า cubesat) ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสเรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบภารกิจ การออกแบบดาวเทียม
จนกระทั่งสามารถสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมได้ด้วยตนเอง โดยให้แต่ละประเทศสมาชิกทำการคัดเลือกทีมเยาวซนเข้าแข่งขันจำนวน 5 ทีม (ทีมละ 5 คน) ร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่มีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เพื่อให้ผลการสร้างดาวเทียมในขั้นตอนต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากล จากนั้นจึงทำการคัดเลือกหนึ่งทีมสุดท้ายที่มีศักยภาพสูงสุดของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อรับทุนสนับสนุนการสร้างดาวเทียมเชิงวิศวกรรมเป็น จำนวน 100,000 USD (ประมาณ 3 ล้านบาทเศษ) ซึ่ง สดช. เล็งเห็นว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบกรณ์และมุ่งมั่นส่งเสริมเทคโนโลยีดาวเทียมและกิจการอวกาศมายาวนานกว่า 25 ปี จึงเสนอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนโครงการ ACC-Thailand
อย่างไรก็ตาม ทาง สดช. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เห็นพ้องต้องกันว่าในช่วงแรกของกิจกรรมในโครงการ ACC เป็นกิจกรรมออนไลน์ เห็นควรเพิ่มทีมเยาวชนอีก 5 ทีม รวมเป็น 10 ทีม เพื่อขยายโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของเยาวชนผู้สนใจและเป็นการใช้ประโยชน์จากการเป็นภาคีสมาชิกของ APSCO ในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ทีมที่ผ่านเข้ารอบแรกจะได้รับการอบรมการออกแบบดาวเทียมตามแนวคิด (Conceptual Design) จากผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ จากนั้นทั้ง 10 ทีมจะถูกคัดเลือกเหลือ 5 ทีม เพื่อเข้ากิจกรรมอื่นๆ ของ ACC ต่อไป ดังนั้น ACC-Thailand จึงเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะจุดประกายและเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญและผู้สนใจได้ใช้ความรู้ ความสามารถในการออกแบบและสร้างดาวเทียม CubeSat ตลอดจนเชื่อมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจของตนด้วยเทคโนโลยีที่เยาวชนไทยสร้างขึ้น