ผ่าวิสัยทัศน์ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” กับภารกิจปั้นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่ขับเคลื่อนด้วย GPT หรือ Generative Pre-training Transformer ที่รองรับภาษาไทย ลูกชายศุภชัย-หลานปู่เจ้าสัวธนินทร์ แห่งอาณาจักรซีพีคนนี้มองเห็นโอกาสที่ไม่ธรรมดา จนถึงขั้นต้องลุกขึ้นมาเตรียม แผน IPO บริษัทใหม่ ในปีหน้า เพื่อระดมเงินไปเร่งลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี AI-GPT สัญชาติไทยให้ได้ก่อนคู่แข่ง
AI-GPT จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลายธุรกิจหลักที่หล่อเลี้ยง “แอมิตี้” (Amity) บริษัทที่กรวัฒน์ นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี ทุกธุรกิจล้วนมีพลังขยายรายได้ของ Amity ให้ยิ่งเพิ่มขึ้นได้อีก ซึ่งแม้สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์จะจัดให้ Amity เป็นบริษัทที่มีอัตราเติบโตสูงสุด Top 150 ของยุโรปประจำปี 2565 (อันดับที่ 132) แต่กรวัฒน์ มองว่ายังไม่สามารถใช้คำ “ประสบความสำเร็จ” ได้ เพราะเส้นทางของ Amity และตัวเขายังทอดยาวไปอีกไกล
หากมองกันยาวๆ กรวัฒน์ ประเมินว่า AI-GPT มีโอกาสที่จะแพร่หลายเหมือน “คลาวด์” ที่องค์กรใหญ่-เล็ก รวมถึงบุคคลทั่วไปจำเป็นต้องใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งแม้จะมีแนวโน้มว่าค่าบริการในอนาคตอาจต่ำลง แต่พัฒนาการด้านความเร็วและการใช้งานจะยิ่งหลากหลายมากขึ้น ส่งให้ตลาดมีขนาดใหญ่มากขึ้น ดังนั้น จึงวางแผนพยายามลงทุนให้หนักเพื่อให้ได้เป็นผู้นำระดับภูมิภาค ซึ่งหากมีการพัฒนาคุณภาพแพลตฟอร์มถึงระดับโลก อาจจะมีการเปิดตลาดที่ต่างประเทศได้อีก
***GPT มาแน่จริงไหม?
GPT ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกมองว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานของธุรกิจทั่วโลก ท่ามกลางหลายบริษัทที่พัฒนามาสูสีกัน องค์กรอย่าง “โอเพ่น เอไอ” (OpenAI) กลับเป็นหน่วยงานที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะ ChatGPT ที่กำลังเป็นกระแสอยู่นั้นเปิดตัวโดย OpenAI เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 และสร้างขึ้นบนโมเดล GPT-3 ซึ่งเป็นรูปแบบภาษาแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning : ML) ที่ได้รับการฝึกฝนโดยใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างข้อความโดยทันที
ผลจากการใช้พารามิเตอร์จำนวนมาก ข้อความที่สร้างโดย GPT-3 จึงมีคุณภาพสูงแทบไม่ต่างจากข้อความที่เขียนขึ้นโดยมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ChatGPT ถูกวิจารณ์ว่ายังเก่งเฉพาะภาษาอังกฤษ และอาจมีข้อมูล “มั่ว” เนื่องจากเป็นการใช้ข้อมูลทั่วอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งเรียนรู้
ความรู้จากอินเทอร์เน็ตที่เปิดให้ทุกคนใช้งาน ทำให้ GPT เป็นเทคโนโลยี AI ใหม่ที่ใช้งานง่ายกว่าปกติ เพราะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ฝึกสอนมาให้แล้วเรียบร้อย ขอเพียงปรับใช้กันให้ได้ก็พอ ประเด็นนี้ “ทัชพล ไกรสิงขร” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) และผู้ร่วมก่อตั้งของ Amity เล่าย้อนถึง การเปิดตัว Amity Bots Plus ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GPT-3 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ว่าที่ผ่านมา AI มีพัฒนาการจากแยกข้อมูล (ไม่มีการสร้างข้อมูลใหม่) จนกระทั่ง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงมีการพัฒนาเป็น AI ที่สามารถสร้างข้อมูลใหม่ได้ โดยมีระบบที่ส่งรูปให้ AI วิเคราะห์เพื่อให้ระบบสร้างเป็นรูปใหม่ หรือเป็นข้อมูลใหม่
ตรงนี้เองที่ AI เริ่มเปลี่ยนแนวทางจากการหาข้อมูลเชิงลึกขององค์กร มาเป็นการสร้างข้อมูลที่มีประโยชน์ให้องค์กรได้ และความเป็นระบบเปิดของ GPT นั้นยังทำให้ใครก็สามารถลงทุนและต่อยอดระบบ AI-GPT ได้ ซึ่งระบบที่ไ้ด้จะไม่จำกัดอยู่ในขั้นของการแยกข้อมูลและเลือกข้อมูลที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ GPT จะเป็นการนำข้อมูลมาย่อยแล้วศึกษาให้เป็นองค์ความรู้ที่ระบบเข้าใจ ก่อนจะนำมาประกอบกันเป็นความรู้ใหม่
Amity จึงออกแบบบอต AI-GPT เพื่อให้ระบบ Amity Bots Plus อ่านแต่เฉพาะเอกสารขององค์กร ไม่ใช่ข้อมูลทั่วโลก เพราะต้องการกรองแต่เฉพาะข้อมูลของประเทศไทย ด้วย AI-GPT องค์กรจะไม่ต้องเตรียมข้อมูลเพื่อให้ระบบตอบคำถามล่วงหน้า แต่สามารถนำเอาเอกสารมาย่อย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่จะตอบคำถามลูกค้าได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ระบบสามารถตอบได้หลายภาษา ซึ่งถือเป็นระบบแรกที่สามารถย่อยเอกสารแล้วนำมาต่อยอดเพื่อนำเสนอแก่ผู้ที่สนใจ
Amity ยังพัฒนาบอต command based bot ที่จะเก็บข้อมูลเพื่อให้หลังบ้านทำงานต่อ ระบบนี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้าซูเปอร์มาร์เกตที่บอตจะสามารถชวนลูกค้าคุยเรื่องสูตรอาหาร แล้วเสนอให้ลูกค้ากดใส่เครื่องปรุงทุกอย่างเข้าตะกร้า โดยไม่ต้องคลิกสินค้าทีละชิ้น
“เทรนด์ธุรกิจอนาคตคือ ร้านค้าจะไม่ต้องรอดูว่าลูกค้าอยากซื้ออะไร แต่สามารถดูว่าผู้บริโภคอยากทำอะไร จากนั้นให้ระบบช่วยหาข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้ นี่เป็นกลยุทธ์ที่ win-win เพราะร้านค้าสามารถขายได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคสบายขึ้น” ทัชพล ระบุ “GPT นั้นมีทุกอย่าง แต่ขาดแค่วิธีการใช้งาน command-based bot จะช่วยได้ รายงานยอดขายจะไม่ต้องเป็นตารางเท่านั้น เชื่อว่าจะเป็นคีย์ที่ Amity มองต่อไปในอนาคต”
3 เดือนที่ผ่านมา Amity ระบุว่า มีการพัฒนาระบบบอต AI-GPT และมีการนำร่องไปใช้ในสหรัฐอเมริกาแล้ว รวมถึงไทยที่ได้ร่วมมือกับ “นกแอร์” ในการประเดิมทดลองใช้กับลูกค้าในกรุงเทพฯ ด้วย
แชตบอต AI-GPT ภาษาไทยนี้จะอยู่ในบริษัทใหม่ “แอมิตี้ โซลูชันส์” (Amity Solutions) บริษัทน้องสาวที่ Amity เปิดตัวใหม่เพื่อโฟกัสตลาดโซลูชันในไทยและอาเซียน โดย Amity มีแผนเสนอขายหุ้น Amity Solutions ครั้งแรกให้สาธารณชน (IPO) ในไตรมาส 3 ปีหน้า (2567) เพื่อนำเงินไปเร่งลงทุน AI-GPT ให้เป็นแชมป์ในภูมิภาค แผนนี้ทำให้ Amity ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเลขประมาณการรายได้ โดยย้ำเพียงว่าธุรกิจดั้งเดิมอย่าง Amity Social Cloud จะอยู่ใน Amity ระดับโลก (บริษัทพี่สาว) ซึ่งแม้จะยังขาดทุน แต่ก็เป็นการเติบโต และมีการเพิ่มทุนในต่างประเทศ
“แต่ Amity Solutions จะใช้วิธีแยกออกมาหา IPO เหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนี้คือเนื่องจากในตลาดไทยมีหลายบริษัท ทั้งที่เป็น SI และบริษัทที่ปรึกษา หลายบริษัทเข้าตลาดหุ้นไทยแล้วสำเร็จ ตัวเลขดี จึงอยากจะเข้าเหมือนกัน” กรวัฒน์ ระบุ “2 บริษัทจะแยกส่วนกันชัดเจนเป็นแชร์โฮลดิ้ง company ตอนนี้ใครๆสามารถเอา GPT มาสร้างรายได้ เราเองก็ต้องการสร้าง value added ด้วย GPT เพื่อเป็นแพลตฟอร์มทั่วโลกที่มีระบบ on top ขึ้นไป”
***ตัวทำกำไร ไม่หาทุนป้อนเส้นเลือดหลัก
กรวัฒน์ ยอมรับว่าวางแผนให้ Amity Solutions เป็นตัวทำกำไร เพื่อดึงยอดขายบริษัทให้เติบโต โดยจะไม่มีการเชื่อมโยงกับ Amity ที่สามารถระดมเงินทุนได้มากกว่า 1 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐมาก่อนหน้านี้ จนอัดฉีดความแข็งแกร่งให้ แพลตฟอร์มธุรกิจหลักของ Amity ตั้งแต่โปรดักต์ดั้งเดิม “เอโค่” (Eko) ผลิตภัณฑ์ระบบอัตโนมัติ และระบบเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมภายในองค์กร โดยปัจจุบัน Amity มีดีกรีเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านการสื่อสาร หรือโซเชียลฟีเจอร์ (social features) แบบบูรณาการสำหรับองค์กร
“ตอนนี้ Amity ถือเป็นที่หนึ่งในโลกของธุรกิจ social features แม้จะเป็น sector ใหม่แต่ก็มีโอกาสเติบโตสูงมาก เห็นได้จากประเทศจีนที่แทบทุกแอปล้วนมีโซเชียลฟีเจอร์อยู่ภายใน แปลว่าตลาดยังเติบโตไปได้อีกไกล” กรวัฒน์ย้ำ “สำหรับการพัฒนาในประเทศไทย หากประสบความสำเร็จและสามารถขยายเป็น world class service ได้จะขายในตลาดโลกได้ด้วย”
สำหรับมุมมองต่อภาพรวมการแข่งขันในตลาดไทยและอาเซียน กรวัฒน์ มองว่า GPT เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีองค์กรรายใหม่และสตาร์ทอัปย้ายเข้ามาแข่งขันเพิ่มเติมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม โอกาสในการขยายตัวที่สูงนั้นนำไปสู่การแข่งขันที่สูงไปด้วย โดยล่าสุดมีบริษัทใหญ่ในสิงคโปร์ที่ย้ายมาพัฒนาในลักษณะเดียวกันแล้ว
ในด้านการ “ใช้ AI เขียนระบบ AI” Amity ไม่ได้ยอมรับเสียทีเดียวว่าความก้าวหน้าในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ปัจจุบันมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถลดการลงทุนบุคลากรลงได้ โดยบอกเพียงว่า Generative AI ช่วยเพิ่มความเร็วในการพัฒนาโค้ดของ Amity ได้มากกว่าครึ่ง และในอนาคต Amity มองว่าค่าใช้บริการ AI-GPT จะลดลง แต่ผู้ใช้จะมีขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะในเชิงการใช้งาน ซึ่งจะเป็นไปตามลักษณะเดียวกับคลาวด์ ที่มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน
“GPT มาแน่นอน การทำ data dashboard แบบเดิมนั้นไม่มีประโยชน์ big data จะมีประโยชน์ยิ่งขึ้นหากสามารถแสดงได้เลยว่า องค์กรควรจะเริ่มทำโปรโมชันอะไร” กรวัฒน์ทิ้งท้ายถึงแผนขยายธุรกิจ “เราเป็นบริษัทที่ไม่เก่ง SME และเน้นแต่บริษัทใหญ่ ดังนั้นเราจะต้องทำให้ดีขึ้น ซึ่งถ้าทำกับเซกเมนต์สตาร์ทอัป และ SME ได้ เราจะสามารถขยายลูกค้าได้เป็นหลักพันหลักหมื่นราย และจะเติบโตกว่าเดิม”
ในส่วนของ GPT ภาษาไทย Amity ยอมรับว่ายังต้องวิจัยและพัฒนาเรื่องความถูกต้องแม่นยำ โดยความท้าทายที่องค์กรควรรู้และต้องควบคุมให้ได้คือความถูกต้องของระบบ โดยเฉพาะระบบให้บริการด้านการแพทย์ที่ต้องแสดงข้อความให้ผู้ใช้ไม่เชื่อถือบอต 100% นอกจากนี้ ยังต้องมีการควบคุมให้ AI-GPT สามารถสื่อสารด้วยน้ำเสียงในโทนที่ต้องการ ซึ่งสุดท้ายแล้ว Amity มองว่าจะต้องมีเครื่องมือจัดระเบียบ GPT ตามมาในอนาคต