xs
xsm
sm
md
lg

“กรวัฒน์ เจียรวนนท์” พา Amity ปักหลัก AWS Marketplace เทคคอมพานีไทยชิงเค้ก 13 ล้านล้านดอลล์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอมิตี (Amity) แพลตฟอร์มโซเชียลคลาวด์ฝีมือ “กรวัฒน์ เจียรวนนท์” ประกาศปักหลักที่ AWS Marketplace ไม่ไปมาร์เก็ตเพลสอื่น ขึ้นแท่นบริษัทเทคโนโลยีไทยรายแรกที่บุกตลาดโลก มั่นใจธุรกิจโตก้าวกระโดดเพราะปัจจัยบวกจากเทรนด์ “สร้างโซเชียลของตัวเอง” ของเหล่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทั่วโลก ด้าน AWS ย้ำบริษัทซอฟต์แวร์ต้องเปลี่ยนเกมมาเล่นบน Marketplace เพราะจะเป็นช่องทางหลักในการจัดซื้อซอฟต์แวร์การดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรทั่วโลกภายในปี 2567 บนเม็ดเงินสะพัดเกิน 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 464 ล้านล้านบาท

นายสแตนเลย์ ชาน หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรเทคโนโลยี ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส กล่าวว่า บริษัทผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ (Independent Software Vendor : ISV) กำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากองค์กรธุรกิจทั่วโลกมีความต้องการใช้งานซอฟต์แวร์แบบออนดีมานด์ในลักษณะเดียวกับผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้งานในรูปแบบสมัครสมาชิกที่จะเปิดใช้หรือเลือกปิดฟีเจอร์เมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ วัฒนธรรมนี้เอื้อให้ธุรกิจบริการซอฟต์แวร์ หรือ Software as a service (SaaS) กลายเป็นเทรนด์หลักของอุตสาหกรรม โดยลูกค้าองค์กรสามารถ “จ่ายเท่าที่ใช้” และตัดสินใจเลือกซื้อเซอร์วิสบนคลาวด์ได้สะดวกบน Marketplace นำไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันที่เร็วขึ้นและแข่งขันได้

“เทรนด์ SaaS นั้นใหญ่มากและเติบโตต่อเนื่อง ในระดับโลกคิดเป็น 30% ของซอฟต์แวร์ที่ถูกซื้อในปีนี้ เชื่อว่าจะโตเกิน 80% ในอนาคตเพราะช่วยให้องค์กรทรานส์ฟอร์มได้เร็ว ทำให้องค์กรผู้ซื้อซอฟต์แวร์ทั่วโลกตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้นกว่า 85% ของการตัดสินใจทั้งหมด คาดว่า 17% ของการใช้จ่ายเพื่อซื้อซอฟต์แวร์แบบ B2B มูลค่า 13 ล้านล้านดอลลาร์จะไหลเข้าสู่ Marketplace ภายในปี 2566 ตามข้อมูลของ Forrester และภายใน 2 ปี Marketplace จะเป็นช่องทางหลักในการจัดซื้อซอฟต์แวร์การดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจโลก”

 สแตนเลย์ ชาน
Marketplace นั้นเป็นแค็ตตาล็อกบริการซอฟต์แวร์ที่ผู้ให้บริการคลาวด์ทุกเจ้าพยายามเตรียมให้ลูกค้าได้เลือกซื้อไปติดตั้งในแอปพลิเคชันของตัวเอง สำหรับ AWS Marketplace นั้นเป็นแค็ตตาล็อกที่ได้รับการดูแลจัดการโดย AWS เพื่อให้องค์กรที่ใช้คลาวด์ของ AWS หลักแสนรายสามารถค้นหา จัดซื้อ ให้สิทธิ จัดเตรียม และควบคุมซอฟต์แวร์ของบริษัทอื่นหรือ third-party ให้ใช้จริงได้ง่าย โดยบน AWS Marketplace นั้นจะรวมบริการซอฟต์แวร์ของ ISV จากหลายประเทศ ซึ่ง Amity ถือเป็นบริษัทไทยรายแรกในมาร์เก็ตเพลส ที่ AWS ยื่นมือเข้าไปช่วยสร้าง ทำการตลาด และผลักดันการขายบริการซอฟต์แวร์สู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์มของ AWS เอง

กรวัฒน์ เจียรวนนท์
นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของ Amity ยอมรับว่าการได้เข้าไปอยู่ในรายการของ AWS Marketplace นี้ช่วยให้บริษัทขยายตัว ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้หลังจากตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยสิ่งที่ Amity มุ่งให้บริการเป็นหลักในขณะนี้คือการพัฒนาชุดแพกเกจซอฟต์แวร์ที่สามารถ “เสียบ” หรือเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันเพื่อเปิดฟีเจอร์ใหม่ได้ (SDK) ผลงานโบแดงที่ติดตลาดแล้วเป็น SDK ที่ชื่อ Amity Social Cloud (ASC) บนจุดเด่นให้ผู้พัฒนาแอปทั่วโลกสามารถสร้างเครือข่ายสังคมบนแอปพลิเคชันให้ลูกค้ามีส่วนร่วมได้มากแบบเฉพาะบุคคล มีฟีเจอร์เช่น แชต วิดีโอสตอรี กลุ่มสนทนา โซเชียลฟีด ไลฟ์สตรีมมิง และแชตบอทซึ่งเอื้อให้องค์กรสามารถสร้างชุมชนโดยที่เป็นเจ้าของข้อมูลเองทั้งหมด ล่าสุดหลายแอปพลิเคชันทั้ง Pernod Ricard, TrueID และ Kaizen Gaming ต่างเลือก Amity Social Cloud เพื่อสร้างชุมชนผู้ใช้งานในแอปของตัวเอง

“เราทำเป็นคนแรก ยังไม่มีคู่แข่งโดยตรง นี่คือ community SDK ไม่ใช่โซเชียลฟีด อัตราการเติบโตในตลาดต่างประเทศของเราเกิน 800% ครองส่วนแบ่งมากกว่า 80%” กรวัฒน์เผย “AWS เป็นเครื่องมือที่ดีมาก สร้างความมั่นใจในการทำตลาดโลก และมีความยั่งยืน เรามีทีมเซลล์ 30-40 คนสำหรับทำตลาดสหรัฐอเมริกา ยังมองจีนแต่ก็ถือเป็นตลาดที่เข้ายาก เราไม่ได้ลืมอาเซียน แต่ถ้าเราไม่ใหญ่ที่นั่น เราก็แพ้อยู่ดี”

ปัจจุบัน Amity มีฐานผู้ใช้ในระบบที่เป็น “ลูกค้าของลูกค้า” ราว 20 ล้านราย เป็นการเติบโตก้าวกระโดดหลังจากเริ่มให้บริการที่สหรัฐฯ ในช่วงไม่ถึงปี โดยการเติบโตในไตรมาส 1 คิดเป็น 10% ก่อนจะเพิ่มเป็น 22% ในไตรมาส 2 และเข้าใกล้ 30% ในไตรมาสปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะมีการเติบโต 3 เท่าตัว ก่อนจะเพิ่มแบบ “ดับเบิ้ล” อีกเพราะมีหลายแบรนด์กำลังจะเปิดให้บริการ


นอกจาก AWS Marketplace พื้นที่ที่ Amity จะให้ความสำคัญคือการทำตลาดผ่านทีมขายของสำนักงานที่ Amity และพันธมิตรที่มีในต่างประเทศเพื่อขายตรวจในหลายช่องทาง ที่ผ่านมา Amity มีความพยายามเข้าถึงตลาดยุโรปและอเมริกาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2561 มีการลงทุนสูงแต่ยังล้มเหลว จนมาปรับบริการในรูปแบบ Saas ที่ทำให้ผลกำไรดีขึ้นแต่ก็ยังการันตีไม่ได้ เนื่องจากคู่แข่ง Saas ในสหรัฐฯมีโอกาสดูดเงินทุนได้มากกว่า ขณะเดียวกันแม้จะอยู่บนมาร์เก็ตเพลส แต่การตัดสินใจซื้อซอฟต์แวร์ขององค์กรยังต้องใช้เวลาพิจารณานานเกิน 6 เดือน การเติบโตจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“จะเป็นยูนิคอร์นได้เร็วไหมยังตอบไม่ได้ เราเพิ่มทุนแล้วแต่ยังไม่ได้เปิดเผย จะเริ่มซีรีส์ซีในปีหน้า จุดแข็งคือยังไม่มีใครทำได้และตลาดยังเล็กมาก มีการใช้งานลงทุนสูงและทำได้ยาก วันนี้ Amity มีพนักงาน 200 คนส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศไทย ความผันผวนของเศรษฐกิจยังไม่เห็นผลกระทบกับเรา แต่การเพิ่มทุนมีโอกาสตกแน่นอนตามทิศทางของตลาดแนสแดค”

ในภาพรวม การใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2564 ตามการคาดการณ์ล่าสุดของการ์ทเนอร์ โดยการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 9.8% เป็น 674.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 และบริการด้านไอทีคาดว่าจะเติบโต 6.8% เป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งที่จะขยายจำนวนบริษัทเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วระดับยูนิคอร์นสตาร์ทอัปให้มากขึ้น จากที่มีอยู่แล้วกว่า 282 บริษัทในเอเชียแปซิฟิก


กำลังโหลดความคิดเห็น