เมื่อสถานการณ์การเรียนการสอนกลับสู่สภาวะปกติหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กลายเป็นว่าโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อมาอัปเกรดอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน ทำให้ปัจจุบันหลายโรงเรียนยังต้องใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเก่าที่เป็นครุภัณฑ์ต่อไป
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ทั้งคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และแล็ปท็อปรุ่นเก่าจะไม่สามารถอัปเกรดระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ได้ หรือไม่ได้รับการซัปพอร์ตจากบรรดาผู้ผลิตหลังใช้งานมาต่อเนื่องเกินระยะเวลารับประกัน รวมถึงในแง่ของการบริหารจัดการอุปกรณ์ไอทีภายในโรงเรียนที่มีความยุ่งยาก
หลังเห็นถึงทิศทางดังกล่าว กูเกิล (Google) ได้เริ่มโครงการนำร่อง นำหลักสูตร Be Internet Awesome พร้อมกับ ChromeOS Flex เข้าไปผนวกกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในปีนี้ โดยจะเริ่มนำระบบปฏิบัติการฟรีสำหรับภาคการศึกษานี้ไปใช้ในพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 2 ภายในไตรมาสนี้
ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ChromeOS Flex เป็นหนึ่งในเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการ Chrome ที่กูเกิลพัฒนาขึ้น เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์เก่าสามารถนำกลับมาใช้งานได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการเข้าถึงเครื่องมืออย่าง Workspace for Education และ Classroom
ที่สำคัญคือการนำไปใช้งานที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง โดยในเบื้องต้นจะร่วมมือกับทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำ ChromeOS Flex เข้าไปติดตั้งในพื้นที่นำร่องก่อน 100 โรงเรียน หรือราว 1,000 เครื่อง ก่อนขยายเป็น 500 โรงเรียน หรือราว 5,000 เครื่องภายในสิ้นปีนี้
“โครงการนี้จะช่วยให้โรงเรียนที่มีคอมพิวเตอร์เก่าซึ่งยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่อาจจะไม่รวดเร็ว หรือตอบสนองการใช้งาน กลับมาใช้งานได้ดีขึ้น และปลอดภัย ด้วยการนำระบบปฏิบัติการที่ทำงานบนคลาวด์อย่าง ChromeOS Flex เข้าไปช่วย พร้อมกับช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการดูแลระบบที่จะเกิดขึ้นด้วย”
ด้วยการที่เป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้งานได้ทั้งแบบออนไลน์ผ่านคลาวด์ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้งเพื่อใช้งานแบบออฟไลน์ก็ได้ ทำให้ ChromeOS Flex มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยเฉพาะในแง่ของการบริหารจัดการอุปกรณ์ที่สามารถควบคุมจากส่วนกลางเพื่อทำการอัปเดตได้ตลอดเวลา ช่วยประหยัดเวลาในการบำรุงรักษาเครื่อง
การเปิดตัว ChromeOS Flex ในประเทศไทย นับเป็นการต่อยอดจากโครงการ Be Internet Awesome ที่กูเกิลเริ่มดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้ทักษะพื้นฐานในการเข้าถึงโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย ทำให้มีทักษะในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างชาญฉลาด และรู้เท่าทัน
ผ่านหลักสูตรที่ครอบคลุม 5 ส่วนสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น 1.Be Internet Smart คิดก่อนแชร์ ให้ตั้งข้อสงสัยกับข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่งต่อข้อมูลต่างๆ 2.Be Internet Alert ไม่ตกหลุมพรางกลลวงในการแยกแยะข้อมูลจริง และข้อมูลเท็จ 3.Be Internet Strong เก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวต่างๆ 4.Be Internet Kind เป็นคนดีเท่จะตาย ภายใต้แนวคิด “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตัวเรา” และ 5.Be Internet Brave สงสัยเมื่อไรก็ถามได้เลย เปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่มีคำถามสามารถปรึกษาผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจได้อย่างสบายใจ
โครงการนี้นับเป็นหนึ่งในภารกิจ Leave no Thai Behind หรือไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลังในยุคดิจิทัล เนื่องจากเด็ก และเยาวชนทุกคนจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น การลงทุน ลงแรงเพื่อป้องกันอนาคตของประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ของการศึกษา การเรียนรู้ และเป็นประตูที่เปิดสู่คอนเทนต์ที่สร้างสรรค์อีกมากมาย
ขณะเดียวกัน กูเกิลยังมีแผนที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคการศึกษาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนเกี่ยวกับการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันทางด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศไทย อย่างการเข้าไปฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ทางด้านดิจิทัลให้เพิ่มขึ้นผ่านเครื่องมือต่างๆ
แม้ว่าปัจจุบัน กูเกิลจะไม่สามารถเปิดเผยจำนวนโรงเรียนที่เข้ามาใช้งานระบบ Workspace for Education ได้ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้โรงเรียน และครูเข้ามาใช้งานได้แบบฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และยังอยู่ในช่วงผลักดันหลักสูตร Be Internet Awesome ร่วมกับทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อให้เนื้อหาในโครงการตรงกับหลักสูตรที่ใช้ในการสอนพื้นฐานของเด็กนักเรียน ไม่ใช่การสอนเสริมจากเนื้อหาหลักที่จะเพิ่มภาระให้ครู-อาจารย์
***ปูทางสู่ Chromebook สำหรับการศึกษา
แน่นอนว่าการเริ่มให้บริการ ChromeOS Flex สำหรับภาคการศึกษา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกูเกิลที่จะนำ Chromebook เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมในประเทศไทย ด้วยการที่ใช้ ChromeOS Flex ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการฟรี ร่วมกับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ออกแบบสำหรับนักเรียนยุคใหม่ที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน และผู้สอน
เมื่อโรงเรียน และภาคการศึกษาเริ่มนำไปใช้งานจะสามารถขยับขยายการทำตลาดระบบ Workspace หรือ Classroom ในขั้นสูงขึ้นที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเข้าใช้งานฟีเจอร์ หรือเครื่องมือที่ล้ำสมัยมากขึ้น อย่างจำนวนผู้เข้าร่วมคลาสเรียนสูงสุดถึง 500 คน และสตรีมสดให้รับชมได้สูงสุด 1 แสนคนผ่าน Google Meet หรือการทำระบบค้นหา Cloud Search สำหรับการค้นหาข้อมูลภายในโรงเรียน
ในขณะที่ปัจจุบัน Chromebook เพื่อการศึกษาในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เมื่อเทียบกับตลาดในสหรัฐฯ ที่พบว่ามากกว่า 60% ของโรงเรียนระดับประถม และมัธยมมีการนำ Chromebook มาใช้ในการเรียนการสอน ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเริ่มเห็นเทรนด์การใช้งานที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซีย
สำหรับในประเทศไทย Google เริ่มทยอยนำ Chromebook เข้ามาทำตลาดผ่านแบรนด์ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อย่าง Acer ASUS Dell Lenovo และ HP เพียงแต่ว่าปัจจุบันหลายๆ โรงเรียนในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการสนับสนุนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์บน Microsoft Office 365 สำหรับการศึกษาอยู่ ทำให้ในช่วงนี้ต้องใช้บริการฟรีอย่าง ChromeOS Flex เข้าไปตีตลาดภาคการศึกษาก่อน