กทปส. ผลักดันโครงการ “ทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ” โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุน และร่วมมือกับ Smart Mobility Research Center (Smart MOBI) และ AIS 5G ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 จนถึงปัจจุบัน ที่ได้ผลการทดลองทดสอบเบื้องต้นเป็นประโยชน์ตามเป้าหมาย
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า 5G คือ เทคโนโลยีที่จะมาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยเป็น 1 ในฐานการผลิต
“หากเรามีการทดลอง ทดสอบการนำเอาแนวคิดของปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการขับขี่ ด้วยรูปแบบของระบบควบคุมยานยนต์อัตโนมัติ (Fully Automated) ผ่านเครือข่าย 5G ได้ จะเท่ากับเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีความทันสมัย ขยายการเติบโต และสร้าง Smart City ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำงานวิจัย ทดลอง ทดสอบในครั้งนี้มีเป้าหมายคือ ให้ทีมนักวิจัยพัฒนารถขับเคลื่อนอัตโนมัติขั้นที่ 3 ที่ให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง ภายในสภาพแวดล้อมที่กำหนด และรองรับการสื่อสารระหว่างรถกับสรรพสิ่งผ่านโครงข่าย 5G รวมถึงพัฒนาและทดสอบ Use cases ต่างๆ ในระหว่างการทดลองให้บริการ ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นเป็นไปอย่างราบรื่น
ดร.ธีรศักดิ์ อนันตกุล หัวหน้าแผนกงานวางแผนและพัฒนาโครงข่ายวิทยุ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ครั้งนี้ AIS ได้นำเทคโนโลยี 5G SA คลื่น n41 หรือ 2600 MHz เพื่อตอบโจทย์ทั้งในเรื่องความหน่วงเวลาที่ต่ำมาก และเรื่องการดาวน์โหลด อัปโหลดข้อมูลในปริมาณมากๆ มาร่วมทดสอบ
โดยกรณีนี้คือ การ Streaming Video จากกล้องซึ่งมีอยู่หลายตัวทั้งในและนอกตัวรถ และมีการรับส่งข้อมูลตลอดเวลาระหว่างรถและศูนย์ควบคุม นอกจากนี้ ระบบการสื่อสารระหว่างรถและโครงข่าย (Vehicle-to-Network : V2N Communications)
รวมถึงข้อมูลการวิเคราะห์จากระบบปัญญาประดิษฐ์ ก็สามารถรับส่งผ่าน 5G ได้เป็นอย่างดี โดยมีการอัปเดตข้อมูลสำคัญต่างๆ ระหว่างศูนย์ควบคุมและผู้ควบคุมรถได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตลอดเส้นทางที่รถเคลื่อนที่และจุดจอดตามสถานีต่างๆ