ดีอีเอสเปิดแผนปี 2566 ผลักดันกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์ม พร้อมกับขยายบริการคลาวด์กลางภาครัฐด้านบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศทั้ง 1,000 แห่ง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงแผนการทำงานในปี 2566 ว่า ได้ผลักดันเรื่องพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่จะต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้กฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งจะตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2566 โดยกำหนดเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยต้องจดทะเบียน โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ แพลตฟอร์มการให้บริการอย่าง Grab, Line, Facebook เป็นต้น ส่วนแพลตฟอร์มด้านการเงินและสาธารณสุขอาจจะไม่ต้องจดแจ้ง ทั้งนี้ จะเร่งออกกฎหมายรองเพื่อบังคับใช้และกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลอีกทางหนึ่ง โดยมอบหมายให้ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพอธอ. (ETDA) เป็นผู้กำกับดูแล
โดยจะนำร่าง พ.ร.ก.การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมกราคมนี้ โดยใจความสำคัญของพ.ร.ก.ฉบับนี้จะเพิ่มอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการตัดสัญญาณซิมโทรศัพท์มือถือ เพื่อตัดวงจรของบัญชีม้า และเพิ่มอำนาจให้ธนาคารสามารถสกัดกั้นเส้นทางการโอนเงินที่ผิดปกติได้ภายใน 2 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องมีการสืบทราบ และหลังจากนั้นผู้ได้รับความเสียหายจะต้องแจ้งความทางออนไลน์ภายใน 48 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันเรื่องคลาวด์กลางภาครัฐขยายบริการด้านสาธารณสุข และเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลของประชาชนผ่านระบบ Health Link ปัจจุบันมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการจำนวน 150 แห่ง และคาดว่าจะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาลภาครัฐทั้งหมด ประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ และในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงโรงพยาบาลเอกชนด้วย
สำหรับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ได้ผลักดันการทำบัญชีบริการดิจิทัล ในการกำหนดมาตรฐานและสเปกเนื้องาน เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจสตาร์ทอัปที่ทำธุรกิจกับหน่วยงานรัฐมีความสะดวกมากขึ้นใน เรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง สิทธิประโยชน์เรื่องภาษี รวมทั้งการทำงานร่วมกันของทางภาครัฐ เพื่อลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลของประเทศไทยได้อย่างแน่นอน
ส่วนระบบ Digital ID ที่มีการผลักดันโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จะสามารถใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 1/2566 เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พยายามผลักดันให้ทุกหน่วยงานนำระบบดังกล่าวมาใช้เนื่องจากการบังคับใช้พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ทำให้ทุกหน่วยงานจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมให้ก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล อีกทั้งการผลักดันเรื่อง Digital POST ID ที่จะช่วยยกระดับเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลได้ คาดว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ภายในไตรมาสที่ 2/2566 และภายในปี 2567 ประชาชนจะมีรหัสดิจิทัลโพสต์ไอดีของตนเองได้ทั่วประเทศ
พร้อมกันนี้ ในปี 2566 จะขยายการให้บริการสัญญาณฟรี Wifi ในพื้นที่ห่างไกล และจะเร่งผลักดันให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ห่างไกล โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุน USO โดยได้มีการเข้าหารือกับ กสทช.เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา
สำหรับแผนงานที่ผ่านมาในปี 2565 ได้ร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ และได้ร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจของทางกัมพูชาในการประสานความร่วมมือเข้าจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังได้เร่งดำเนินการด้านคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ส่วนเรื่องคลื่น 5G ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT มีการดำเนินการ 2 ส่วนคือ ความถี่ 26 GHz วางกรอบงบประมาณจำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งคลื่นดังกล่าวจะใช้ในภาคอุตสาหกรรม สมาร์ทซิตี งานด้านสาธารณสุข ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอ ครม. ส่วนคลื่น 700 MHz ที่จะเป็นการใช้สำหรับการบริการลูกค้าทั่วไปซึ่งทาง NT มีเอไอเอสเป็นพันธมิตรในการให้บริการ ซึ่งขณะนี้เรื่องกำลังอยู่ระหว่างสภาพัฒน์พิจารณา โดยใช้งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท