xs
xsm
sm
md
lg

ถอดวิธีคิด ‘ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์’ แห่ง ‘ดีป้า’ กับ 4 กลยุทธ์พาคนไทยเพิ่มทักษะดิจิทัล เปลี่ยนโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ในยุคของการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล หรือ Digital Transformation มีเพียง 2 คีย์เวิร์ดเท่านั้นที่จะทำให้พลิกจาก “ไม่รอด” เป็น “อยู่รอด” นั่นคือ การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และประยุกต์ใช้ความรู้เป็น ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ไม่หยุดเดินหน้าทำตามภารกิจเพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา


เปิดใจ “ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กับวิสัยทัศน์และภารกิจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.การพัฒนากำลังคนดิจิทัล 2.การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล 3.การสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และ 4.การส่งเสริมงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการบริการในภาคสังคม (Infrastructure)

กลยุทธ์ด้านพัฒนากำลังคน ที่ผ่านมา ดีป้า เดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเพิ่มศักยภาพคนดิจิทัลผ่านกระบวนการ Upskill, Reskill และ New Skill โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการ HACKaTHAILAND ที่เริ่มดำเนินโครงการครั้งแรกในปี 2564 และก้าวสู่ครั้งที่ 2 ในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “DIGITAL INFINITY - ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด” โดยโฟกัสที่ 3 กลุ่มเป้าหมายคือ

กลุ่ม Youth เยาวชน นักเรียน และนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัล พร้อมกับการเข้ามามีบทบาทในการสร้างเครือข่ายเยาวชนอาสาดิจิทัล (DIGITAL YOUTH NETWORK THAILAND) เพื่อเป็นอีกกลไกขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจใน Digital Literacyแก่ประชาชนต่อไปในอนาคต

กลุ่ม Future Career เพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ หรือแรงงานใหม่ (First Jobber) เพื่อก้าวสู่ตลาดแรงงานแห่งโลกอนาคตในความรู้หลักด้านอีคอมเมิร์ช (E-Commerce) ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) สตรีมเมอร์ (Game Streamer) และดิจิทัลอาร์ต (Digital Artist)

และ กลุ่ม Digi-preneur เตรียมความพร้อมและพัฒนาไอเดียให้นักศึกษาจบใหม่และผู้ที่สนใจใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาผู้ประกอบการยุคใหม่ (New Digi-preneur) และสาขาผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อสังคมยุคใหม่ (New Social Digi-preneur)


“ความตั้งใจของโครงการนี้อยู่ที่การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัล ได้แก่ ดิจิทัลสตาร์ทอัป เกมเมอร์ การประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในบริบทต่างๆ และอีกหลายอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเริ่มโครงการและวัดผลแต่ละผลงานที่พัฒนาขึ้นในช่วงสิงหาคม 2566”

ในส่วนของกลยุทธ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลนั้น ดีป้า ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่มีโอกาสสูงในอนาคต โดยเฉพาะอีสปอร์ตและเกม เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต และมูลค่าการตลาดสูง ซึ่งดีป้า ได้เข้าไปลงทุนและผลักดัน 7 ผู้ผลิตเกมสัญชาติไทยให้มีความพร้อมในการบุกตลาดโลกในอนาคต


“ดีป้า มีแผนผลักดันอุตสาหกรรมเกมไทยสู่ตลาดโลก โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเกมไทยเจรจาการค้า จับคู่ธุรกิจ และขยายเครือข่ายความร่วมมือผ่าน 2 กิจกรรม ได้แก่ Game Online Academy และ Game Accelerator Program เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ในตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน”

สำหรับกลยุทธ์ที่ว่าด้วยการผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในสังคมไทย ที่ผ่านมา ดีป้า เดินหน้าผลักดันในหลายโครงการ ซึ่งที่จะชัดเจนมากขึ้นในปี 2566 คือ การนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ประโยชน์ในงานบริการของโรงเรียนเด็กเล็กในโครงการโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัย (Smart School Bus) โดยมีการนำ IoT (Internet of Things) Sensor มาใช้ตรวจจับความเคลื่อนไหว และคลื่นความร้อนของเด็กนักเรียนที่อยู่ในรถแล้วจะทำการแจ้งเตือนไปที่ศูนย์ควบคุมของระบบ รวมถึงผู้ปกครอง และครูผ่านโทรศัพท์มือถือ

ปัจจุบันมีโรงเรียนรัฐบาลจำนวน 350 แห่ง และโรงเรียนเอกชนอีก 50 แห่งที่เข้าร่วมโครงการและพร้อมจะปรับเปลี่ยนสู่การทำงานแนวคิดใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาและการหลงลืมเด็กไว้ในรถตู้จนนำไปสู่ความสูญเสียเช่นที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ โดยมีการนำโซลูชันใหม่ๆ เข้าไปสนับสนุนการทำงานของพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด รวมถึง SMEs ทั่วประเทศ ได้แก่ โลจิสติกส์ แพลตฟอร์ม บริหารจัดการขนส่งอาหารสดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงงานด้านความปลอดภัยต่างๆ และเทคโนโลยีชำระเงินดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสามารถยกระดับทักษะดิจิทัลให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดแล้วกว่า 10,000 คน ใน 75 ตลาดสด ครอบคลุม 25 จังหวัดทั่วประเทศ

สุดท้ายเป็นกลยุทธ์การส่งเสริมงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการบริการในภาคสังคม (Infrastructure) ซึ่ง ดีป้า ดำเนินการโครงการ Health Link โดยใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือในการเข้าถึงข้อมูล (Big Data) จากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ใช้บริการสุขภาพในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ ไว้ในที่เดียวกัน เพื่อประโยชน์ในฝั่งของคนไข้ที่จะได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมถึงประหยัดเวลาในการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะคนไข้ที่เข้ารับบริการการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินและถูกนำส่งโรงพยาบาลที่ยังไม่เคยมีประวัติของคนไข้มากก่อน

ขณะที่แพทย์สามารถใช้ข้อมูลที่ครบถ้วนจาก Health Link เพื่อการวินิจฉัยคนไข้ได้รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยชีวิตคนไข้


“ดีป้า ยังคงมุ่งมั่นทำงานในแบบเข้าถึง เข้าใจ และต่อยอด พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อสร้างโอกาสด้านดิจิทัลให้เกิดขึ้น อันนำไปสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่เติบโตอย่างเข้มแข็ง และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่”

จากการขับเคลื่อน 4 กลยุทธ์หลักดังกล่าวเป็นการตอกย้ำถึงความตั้งใจของดีป้า ภายใต้การนำของ “ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ที่ต้องการผลักดันให้เกิดใน 3 สิ่ง ได้แก่ Think Faster คนไทย รู้ทันเทคโนโลยีและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง Perform Better สร้างโอกาสการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และ Live Better วิถีชีวิตใหม่ที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น