พาสเลอร์ (Paessler) เผยแนวโน้มอุตสาหกรรมด้านการมอนิเตอร์ระบบไอทีประจำปี 2566 ระบุการก้าวสู่ระบบดิจิทัลยังคงผลักดันให้เกิดภาระหน้าที่ใหม่ๆ ในระบบไอที ไม่ว่าจะในโรงงาน โรงพยาบาล โรงผลิตพลังงาน หรือศูนย์ข้อมูล อุปกรณ์และระบบรุ่นเก่าที่ไม่เคยเชื่อมต่อกับโลกไอทีมาก่อน แต่ขณะนี้สามารถสร้างและให้ข้อมูลที่ใช้ได้กับระบบดิจิทัลยุคใหม่ ทำให้สามารถตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น
นายเซบาสเตียน ครูเกอร์ รองประธาน Paessler ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าแม้คนส่วนใหญ่จะมุ่งความสนใจไปที่อุปสรรคในการผสานรวมโลกไอทีและ OT (เทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการ) เข้าด้วยกัน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การมอนิเตอร์ระบบในภาพรวมหรือทั้งระบบนิเวศ อุปสรรคสำคัญที่ว่าก็คือ การนำตัวชี้วัดที่มากมายและแตกต่างกันเหล่านี้จากหลายระบบมารวมไว้ในที่เดียว เรียกว่าเครื่องมือการมอนิเตอร์ระบบไอทีจะได้รับความสนใจมากขึ้นเพราะช่วยให้องค์กรสามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงได้ในทุกส่วนและแสดงรายงานจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อการนำไปวิเคราะห์ข้อมูล และใช้ประกอบกระบวนการตัดสินใจ
"ดังนั้น ยิ่งเราต้องการขยายศักยภาพของการผสานรวมของโลก IT/OT เราก็ยิ่งต้องใช้โซลูชันที่สามารถมอนิเตอร์และติดตามอุปกรณ์และโครงสร้างระบบเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วนที่สุดด้วยเช่นกัน"
เซบาสเตียน เชื่อว่าโซลูชันการมอนิเตอร์ระบบจะมีบทบาทสำคัญในศูนย์ข้อมูล โดยบริษัทข้ามชาติหลายแห่งยังคงเดินหน้าย้ายศูนย์ข้อมูลมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนไม่น่าแปลกใจว่าภูมิภาคนี้ได้กลายเป็นทำเลทองแห่งการลงทุนด้านศูนย์ข้อมูลไปโดยปริยาย โดยในครึ่งหลังของปีนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้อนุญาตให้มีการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลได้อีกครั้ง ขณะเดียวกัน แผนงานประจำปี 2565-2567 ของ Satu Data Indonesia (SDI) บ่งชี้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียกำลังมุ่งขยายโครงสร้างระบบข้อมูล เช่น ศูนย์ข้อมูล หรือแม้แต่ในตลาดในประเทศไทยน่าจะขยายตัวแตะระดับ 1.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 3.6 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2570
ศูนย์ข้อมูลตลอดจนโครงสร้างระบบและอุปกรณ์อื่นๆ ที่มักต้องใช้ควบคู่กันในหลากหลายสถานที่ มาพร้อมความท้าทายในการมอนิเตอร์ระบบ การทำงานที่ผิดพลาดของศูนย์ข้อมูลอาจทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักทันทีเพราะศูนย์ข้อมูลกลายเป็นโครงสร้างสำคัญของธุรกิจหลากหลายสาขา การดูแลให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดจึงจำเป็นต้องคอยติดตามอุปกรณ์ทางเทคนิคจำนวนมากอย่างใกล้ชิด ตลอดจนอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งหมดเพื่อลดดาวน์ไทม์ของศูนย์ข้อมูล ดังนั้น โซลูชันการมอนิเตอร์ระบบจึงน่าจะมีบทบาทสำคัญควบคู่ไปกับศูนย์ข้อมูลในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกัน
***การมอนิเตอร์ระบบจากทางไกลผ่านคลาวด์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแต่ต้องทำให้ได้ดียิ่งขึ้น
เซบาสเตียน ย้ำว่า ทุกวันนี้องค์กรจำนวนมากหันไปหาระบบคลาวด์โดยธุรกิจกว่า 76% ในเอเชียแปซิฟิกมีแผนที่จะเพิ่มบริการผ่านคลาวด์ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการย้ายระบบขึ้นคลาวด์คือ การวางกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับคลาวด์เป็นลำดับแรก โดยต้องทำให้แอปพลิเคชันและกระบวนการไอทีสามารถผสานรวมการทำงานเอาไว้ภายใต้ระบบประมวลผลผ่านคลาวด์
นอกจากนี้ บริการด้านการมอนิเตอร์ระบบผ่านคลาวด์ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงการมอนิเตอร์ส่วนประกอบระบบคลาวด์ เช่น เว็บไซต์ บริการบนคลาวด์ และแอปพลิเคชันบนคลาวด์ แต่หากมองไปที่การมอนิเตอร์ระบบที่ตัวเครื่องหรืออุปกรณ์ โซลูชันการมอนิเตอร์ระบบผ่านคลาวด์ยังคงพบปัญหาบางส่วนเนื่องจากต้องอาศัยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เสถียรและมีความเร็วสูงเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแจ้งเตือนปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เป็นผลจากความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล ประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องจับตาและองค์กรควรใช้เครื่องมือการมอนิเตอร์ระบบร่วมกันให้เหมาะสม ทั้งที่ผ่านคลาวด์และที่ติดตั้ง ณ สถานที่กับตัวเครื่องหรืออุปกรณ์
***จุดโฟกัสที่เปลี่ยนไปด้านการปรับปรุงความปลอดภัยในระบบ IoT
"จากปัญหาข้อมูลรั่วไหล การโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ และการโจมตีทางไซเบอร์อื่นๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้ธุรกิจจำนวนมากหันมาใส่ใจมากขึ้นกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ อย่างไรก็ดี มีช่องว่างที่ชัดเจนเกิดขึ้นจุดหนึ่ง นั่นคือช่องว่างเรื่องความปลอดภัยของ IoT (อินเทอร์เน็ตออฟติงส์)" เซบาสเตียน ระบุ
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี IoT มีความสามารถมากขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2568 จะมีการใช้จ่ายด้าน IoT ในเอเชียแปซิฟิกสูงถึง 437 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นความจริงที่ว่าอุปกรณ์ใดก็ตามที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตย่อมมีโอกาสพบเจอกับการโจมตีทางไซเบอร์ได้ทั้งสิ้น และยิ่งเมื่อมองไปที่อุปกรณ์ IoT ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยในตัวที่ต่ำมาก การแพตช์เพื่อปิดช่องโหว่ทำได้ยากเนื่องจากลักษณะการติดตั้งที่กระจายตามสถานที่ต่างๆ ตลอดจนการที่อุปกรณ์เหล่านี้ต้องทำงานเชื่อมต่อประสานกันและมีสภาพแวดล้อมระบบที่ซับซ้อนเป็นทอดๆ ทั้งหมดล้วนสร้างความกังวลด้านความปลอดภัยในเครือข่ายเพิ่มขึ้น
เซบาสเตียน สรุปว่า การมอนิเตอร์ระบบถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในแผนกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อให้อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยทั้งหมดทำงานได้อย่างราบรื่น เช่น ไฟร์วอลล์ ระบบตรวจจับความผิดปกติ หรือเครื่องมือบริหารจัดการสิทธิการเข้าถึงระบบ (PAM) แต่สำหรับโลก IoT นั้น การมอนิเตอร์ระบบมีภาระหน้าที่ที่สำคัญเพิ่มเติมอีกหนึ่งอย่าง โซลูชันการมอนิเตอร์ระบบที่ดีต้องสามารถช่วยดูแลความปลอดภัยเพิ่มเติมโดยทำงานร่วมกับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยของสถานที่ เช่น ระบบล็อกประตู กล้องวงจรปิด ระบบตรวจจับควันไฟ หรือเซ็นเซอร์อุณหภูมิ ซึ่งสามารถรวมการมอนิเตอร์ระบบทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลาง และธุรกิจต่างๆ ควรพิจารณาแง่มุมเหล่านี้ในการตัดสินใจเลือกใช้โซลูชันในอนาคตต่อไป
***สถาปัตยกรรมแบบกระจายจะกลายเป็นนิว นอร์มอล
แนวคิดการทำงานแบบไฮบริด สำนักงานจากทางไกล และการทำงานจากที่บ้าน กลายเป็นเรื่องปกติของหลายองค์กร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลเอาไว้บนคลาวด์แทนที่จะใช้โครงสร้างระบบข้อมูลแบบรวมศูนย์ นั่นทำให้ระบบเครือข่ายต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าไปสู่การใช้ซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ (SaaS) และระบบเครือข่าย SDWAN เมื่อสถาปัตยกรรมแบบกระจาย (distributed architecture) เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จำเป็นที่จะต้องวางกลยุทธ์การมอนิเตอร์ระบบแบบกระจายให้พร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน" เซบาสเตียน ทิ้งท้าย
ดังนั้น จึงเชื่อว่าตลาดจะต้องการโซลูชันลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อให้องค์กรสามารถมองเห็นภาพรวมการมอนิเตอร์ระบบได้จากจุดเดียวแม้จะมีโครงสร้างระบบไอทีหลากหลายส่วน สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้น รองรับการย้ายระบบสู่คลาวด์ได้ไม่ยาก และลดปริมาณการใช้แบนด์วิดท์ได้