หัวเว่ย ร่วมมือ สกมช. และพันธมิตร จัดการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับสตรี (Women : Thailand Cyber Top Talent 2022) ครั้งแรกในไทย ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท เพิ่มความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และผลักดันกลุ่มบุคลากรไอซีทีเพศหญิง
พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า โครงการการแข่งขัน Women : Thailand Cyber Top Talent 2022 จัดขึ้นปีนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 132 ทีม
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้จะเน้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้หญิงหรือมีเพศสภาพเป็นหญิง ได้เรียนรู้ เพิ่มทักษะ และพัฒนาประสบการณ์ เพื่อให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ประเทศไทย เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรไซเบอร์ในระดับองค์กร ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิและแสดงออกถึงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่
“สกมช. มีแผนจะผลักดันการสร้างบุคลากรด้านไซเบอร์ซอเคียวริตีในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องด้วยไทยยังมีความท้าทายจากการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถทางดิจิทัลอยู่จำนวนมาก”
โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรที่เป็นผู้หญิงหรือมีเพศสภาพหญิง เพราะจากสถิติของโลกจะมีผู้หญิงเข้ามาทำงานสายไซเบอร์ ซิเคียวริตีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ขณะที่ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 3% เท่านั้น
ดังนั้น โครงการการแข่งขัน Woman : Thailand Cyber Top Talent 2022 จึงถือเป็นการส่งเสริมเรื่องความทัดเทียมทางเพศ ให้เข้ามาทำงานในด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีมากขึ้น ซึ่งทาง สกมช. ต้องขอขอบคุณทางหัวเว่ย ประเทศไทย TTC-CERT และบริษัท สยามถนัดแฮก ที่มีส่วนช่วยให้ทำให้โครงการครั้งนี้เป็นจริงขึ้นมาได้
ทั้งนี้ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) มีเป้าหมายในการช่วยให้นักเรียนและบุคคลทั่วไปในไทยที่เป็นผู้หญิง หรือมีเพศสภาพเป็นหญิงได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะจนกลายเป็นขุมพลังสำคัญด้านบุคลากรไซเบอร์ซิเคียวริตีของประเทศ ดังนั้น การร่วมสนับสนุนสตรีด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลผ่านโครงการฝึกอบรมที่ยั่งยืน เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนทางไซเบอร์ในตลาดแรงงานไทย
นอกจากนี้ หัวเว่ยจะสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรี การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านสังคมให้แก่สตรีและองค์กรสตรี ตามพันธกิจของหัวเว่ยในด้านการ “เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคอัจฉริยะที่ทุกคนมีบทบาท และเชื่อมถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ