จากจุดเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ จนไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ และผ่านการร่วมทุนขยายบริการเป็นปึกแผ่นที่ญี่ปุ่น วันนี้ “อิศราดร หะริณสุต” สามารถพาบริการด้านการชำระเงิน “โอเพ่น” (Opn) หรือชื่อเดิมคือ โอมิเสะ (Omise) ไปโลดแล่นในเวทีโลกได้สำเร็จ ผลลัพธ์นี้ไม่ได้เกิดจากการเป็นสตาร์ทอัปที่ทุ่มเงินซื้อแพลตฟอร์มดิจิทัลคอมเมิร์ซและโซลูชันด้านการเงินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้เท่านั้น แต่มาจากแผนการเตรียมพร้อมเพื่อขยายบริการด้านการเงินที่ครอบคลุมและทรงพลังยิ่งขึ้นในอนาคต
รายได้ที่เติบโตปีละ 25-30% ในขณะนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะ Opn มองว่าการเป็นเพย์เมนต์เกตเวย์นั้นมีสัดส่วนกำไร หรือมาร์จิ้นที่บางมาก ดังนั้น จึงต้องการมองหารูปแบบธุรกิจใหม่ที่จะขยายมาร์จิ้นได้ 2-3 เท่า ปีหน้าจึงเป็นปีที่ Opn จะขยายไปสู่ธุรกิจที่จะเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของโลก และบริการที่จะเกิดขึ้นนี้ยังไม่มีเจ้าใดทำมาก่อน
Opn บอกใบ้ว่าบริการใหม่นี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแล แต่ไม่ต้องดำเนินการขอไลเซนส์ คาดว่าจะมีการประกาศได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งจะเป็นปีแห่งการรับรู้ว่า Opn คือแบรนด์บริการด้านการเงินระดับโลกอย่างเต็มตัว
***เปิดประตูให้ทุกคน
อิศราดร หะริณสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Opn เล่าว่า Opn ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 มีจุดเด่นเรื่องความเชี่ยวชาญทางด้านระบบการรับชำระเงินออนไลน์แบบครบวงจรและโซลูชันสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ปัจจุบันให้บริการทั้งร้านค้าและธุรกิจนับหมื่นรายทั่วโลก มีกิจการตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐอเมริกา วิสัยทัศน์หลักของธุรกิจคือ “เปิดประตูสู่ธุรกิจดิจิทัลสำหรับทุกคน” ทำให้ Opn เน้นการเชื่อมโยงผู้บริโภค ธุรกิจ และสังคมเข้าหากัน ผ่านนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงระบบนิเวศทางเศรษฐกิจออนไลน์ที่กำลังเติบโตอยู่ในปัจจุบันได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ปัจจุบัน Opn ยังเป็นองค์กรเอกชน มีผู้ถือหุ้นหลักคือ โตโยต้าในนาม Toyota Financial Services Corporation ซึ่งเป็นฝ่ายการเงินของ Toyota Motor Corporation และเอสซีบี (SCB10X) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการร่วมทุนภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงาน 650 คน
“ก่อนนี้ Omise เน้นที่การเป็นระบบจ่ายเงินออนไลน์เพื่อทุกคน แต่เรารีแบรนด์เพื่อให้ไม่เป็นแค่ระบบเพย์เมนต์ โดยจะมีทั้งขารับ ขาจ่าย และบริการด้านการเงินอื่นๆ เราอยากเปิดประตูรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่จำกัดเฉพาะที่ออนไลน์ แต่เป็นออมนิชาแนลจริงๆ”
วันนี้ Opn นิยามตัวเองเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านการชำระเงินแบบครบวงจรจากประเทศญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการชำระเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและหนึ่งในผู้ให้บริการด้านการประมวลผลธุรกรรมชั้นนำ 25 อันดับแรกในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นหลังจากการรีแบรนด์จาก Omise เป็น Opn ในกลางปี 2565 ล่าสุด Opn ได้เข้าซื้อเมอร์แชนต์อี (MerchantE) แพลตฟอร์มดิจิทัลคอมเมิร์ซของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดของโซลูชันด้านการเงิน (embedded payments) ที่ใหญ่ที่สุดและกำลังเติบโต
มีการคาดการณ์ว่าตลาดของโซลูชันด้านการเงินจะเติบโตกว่า 2 เท่าแตะ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2569 ตลาดนี้ถือว่าใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ Opn ทำได้ในปี 2565 โดยสถิติปีนี้ชี้ว่ามูลค่าธุรกรรมการชำระเงินที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Opn นั้นเพิ่มสูงเกิน 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท)
“บริษัทอื่นถูกซื้อ แต่ Opn ซื้อ MerchantE ดีลนี้จะเปิดประตูให้ภูมิภาคอเมริกาและเอเชียเชื่อมโยงกัน เราอยากให้การทำธุรกรรมระหว่าง 2 ภูมิภาคทำได้ง่ายขึ้น และต่างผ่ายต่างมีจุดดีที่จะนำไปใช้ในทั้ง 2 ภูมิภาค เป็นดีลใหญ่ที่สตาร์ทอัปไปซื้อบริษัทที่ใหญ่กว่า” อิศราดร ระบุ “การซื้อกิจการรอบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เราเคยไปซื้อเพย์สบายเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นหนึ่งในเพย์เมนต์ เกตเวย์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ตอนนี้เรากำลังขยายความครอบคลุม รูปแบบธุรกิจที่วางเป้าหมายไว้คือการเป็นศูนย์บริการครบวงจรที่รองรับแบรนด์ซึ่งต้องการรับชำระเงินในระดับโลก การต่อท่อช่องทางชำระเงินในแต่ละประเทศเป็นงานที่ยากเพราะมีกฎหมายควบคุมเคร่งครัด แต่ Opn สามารถเชื่อมต่อบริการในท้องถิ่น ทำให้เป็นเรื่องง่ายในการทำให้ร้านค้ามาเชื่อมต่อเพื่อรับชำระ และทำให้ลูกค้าผู้ซื้อสามารถชำระเงินได้ง่าย”
อิศราดร อธิบายว่า สินค้าของบริษัทไม่ได้คลุมเฉพาะเพย์เมนต์ เกตเวย์ที่ดูแลขารับอย่างเดียว แต่เมื่อรับเงินมาแล้วจะต้องส่งเงินไปที่ร้านค้า ซึ่งที่ผ่านมาอาจทำผ่านระบบอื่น แต่ปัจจุบันสามารถจ่ายบนระบบ Opn ได้เลย และเมื่อร้านค้าต้องจ่ายเงินค่าระบบในการทำธุรกิจบนออนไลน์ หลายบริษัทยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำบัตรเครดิตสำหรับบริษัทได้แบบวงเงินสูง ซึ่งวันนี้ SME สามารถออกบัตรเวอร์ชวลกับ Opn เพื่อชำระค่าบริการต่างๆ ได้ง่ายแบบอัตโนมัติ สามารถกำหนดให้เงินเข้ามาถูกจ่ายออกได้แบบอัตโนมัติ รวมถึงสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อติดตามความถูกต้องในการทำธุรกรรมได้
“นอกจากเงินเข้าและออก ขาที่ Opn กำลังให้ความสำคัญคือข้อมูลด้านการเงิน เราจะทำระบบวิเคราะห์เครดิต และมอบสินเชื่อที่ให้ร้านค้านำเงินไปหมุน ตรงนี้ยังไม่เปิดบริการ แต่เมื่อเรามีครบทั้ง 3 ขา เราจะเป็นธนาคารได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ทุกขาที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านการเงิน Opn สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมด สามารถให้บริการที่เป็นแวลูแอดเซอร์วิสได้มากขึ้น”
ในภาพรวม จากปัจจุบันที่ Opn มีกิจการอยู่ใน 7 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา บริษัทมีแผนการที่จะพัฒนาทั้งเทคโนโลยีฟรอนต์เอนด์และแบ็กเอนด์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มบริการทางการเงินที่ครบวงจรสำหรับลูกค้าทั่วโลก โดยจะขยายจากผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันของ Opn ทั้งบริการเกตเวย์การชำระเงิน (payment gateway) บริการด้านการประมวลผลธุรกรรม (processing) บริการออกบัตร (issuing) การให้บริการแก่ผู้รับบัตร (acquiring) การออกใบอนุญาต (licensing) การวางแผนในองค์กร (enterprise resource planning) และบริการให้คำปรึกษา
***โลกก็ไป ไทยก็ไม่ทิ้ง
แผนที่ Opn เตรียมไว้ในปี 2566 คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าองค์กรในประเทศไทย โดยจะนำเสนอแพลตฟอร์มโซลูชันการชำระเงินแบบครบวงจรแก่ลูกค้า เน้นการให้บริการช่วยเหลือและสนับสนุนทางเทคนิค
นอกจากนี้ Opn ยังจะพัฒนาโซลูชันเพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย เช่น ธุรกิจประกัน และธุรกิจที่มีโมเดลเป็นระบบสมาชิก (subscription) ที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล (PCI DSS) และต้องการการสนับสนุนด้านเทคนิค
“จุดเด่นของ Opn ไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าเท่านั้น แต่เรายังมีความเข้าใจธุรกิจในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะในประเทศไทยเป็นอย่างดี ทำให้ Opn สามารถออกแบบโซลูชันที่เหมาะกับการใช้งานในตลาดนี้ ที่จะสามารถสร้างความสะดวกสบายในการใช้งาน เสริมประสบการณ์ให้ทั้งธุรกิจ ร้านค้า และลูกค้าผู้บริโภค”
Opn จะต่อยอดความไว้วางใจที่ได้รับจากธุรกิจกว่า 20,000 แห่งทั่วโลกในหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านการเงินและการธนาคาร ประกันภัย การจัดส่งอาหาร และแฟชั่น โดยในปี 2566 Opn จะเพิ่มบริการใหม่ อย่างบริการ PayFac-as-a-Service (ระบบการเงินสำหรับธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์ม) บริการเสริมใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ รวมไปถึงช่องทางการชำระเงินใหม่ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างธุรกิจและลูกค้า
“ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการรับรู้ว่าเราเป็นแบรนด์แห่งเอเชียที่จะไประดับโลก” อิศราดรทิ้งท้าย “เราหวังว่า 2-3 ปีจะขยายไปภูมิภาคอื่นได้ ความท้าทายหลักของเรา คือการวางโฟกัสให้ถูกต้องที่เวอร์ทิคัลไหน การลงทุนที่มากขึ้นควรจะไปโฟกัสในตลาดที่เหมาะสม ปีนี้ยังไม่มีแผนเพิ่มพนักงานและจะไม่ปลดออก นอร์ทสตาร์ของ Opn คือการเป็นองค์กรระดับโลกที่ทุกคนยังได้รับประโยชน์จากบริการของเราอยู่ แม้ผมจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว”