xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์แวร์ไทยแห่ไป ESG ปี 66 โอกาสมา-ท้าทายสูง (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทไหนที่โดดเด่นเรื่องการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลที่ดี (Environmental Social and Governance : ESG) บริษัทนั้นย่อมมีภาพหล่อสวยติดตัวไปเป็นหน้าเป็นตาจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ดีขึ้น ภาวะนี้ทำให้หลายบริษัทอยากมีข้อมูล “ESG Information” เพื่ออวดความดีให้โลกรู้ว่าบริษัทไม่ได้เก่งแต่การทำกำไร-ขาดทุน แต่บริษัทเป็นองค์กรที่ดี และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ความต้องการข้อมูล “ESG Information” ทำให้สมรภูมิซอฟต์แวร์ ESG ร้อนแรงขึ้น ผู้เล่นที่เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์องค์กรจำนวนมากพร้อมใจลุกขึ้นมาขยับเพื่อตอบความต้องการในตลาดไทยที่เติบโตตามเทรนด์โลก ล่าสุด “เอสเอพี” (SAP) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรรายใหญ่เชื่อว่าความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้ปีหน้า หรือปี 2566 จะเป็นปีที่การแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์ ESG ในประเทศไทยดุเดือดขึ้น บนผู้เล่นจำนวนมากที่เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น

นอกจาก SAP บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC คืออีก 1 บริษัทไทยที่มีแผนจะกระโดดเข้าสู่สมรภูมิ ESG อย่างเต็มตัวในปี 2566 ซึ่งจะเป็นปีที่บริษัทปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อเจาะตัว S ใน ESG โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ตั้งไว้คือความฝันว่าซอฟต์แวร์ไทยจะสามารถยกระดับสังคมไทยได้อย่างมีอิมแพกต์ ทั้งการจัดการหนี้นอกระบบ รวมถึงการยกระดับการเกษตรของประเทศ

***โอกาสมา ท้าทายมี

นายเอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวถึงการผลักดันด้าน ESG ของบริษัทในช่วงปีหน้าว่า ความยั่งยืนกลายเป็นส่วนสำคัญยิ่งกว่าที่เคยสำหรับองค์กรไทยที่ต้องการหาแนวทางใหม่ในการดำเนินธุรกิจด้วยพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแม้การสำรวจล่าสุดของ SAP จะสะท้อนโอกาสในการช่วยให้ธุรกิจไทยแข่งขันได้ดีขึ้น แต่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่คือกลยุทธ์ เนื่องจากหลายบริษัทไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรหรือควรโฟกัสที่จุดไหน

“ซอฟต์แวร์ของเราจะเข้าไปช่วยธุรกิจสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน วางแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานใหม่ทั้งโรงงาน คลังสินค้า และห่วงโซ่อุปทานทั่วทุกมุมโลก (Supply Chains) และตอนนี้ไม่ได้มีเพียงการเชื่อมต่อและการนำเครื่องจักรมาใช้แทนมนุษย์อย่างที่เคยทำในอดีตเท่านั้น แต่ยังมีมิติใหม่ที่เรียกว่าความยั่งยืนเข้ามาอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่เรามุ่งหวังคือการใช้เทคโนโลยี และประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวัดผลบนพื้นฐานการบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่าแก่การลงทุน”

เอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า
การสำรวจหลายชิ้นชี้ว่าเทคโนโลยีคือตัวช่วยที่ทำให้องค์กรธุรกิจสามารถทำรายงานด้านความยั่งยืน หรือ ESG ได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมา ความสามารถใส่ตัวเลขรายงานด้านความยั่งยืนในรายงานผลประกอบการนั้นมีจำกัดเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่ แต่วันนี้บริษัทขนาดเล็กเริ่มมีสิทธิใส่รายงานตัวเลขด้าน ESG เพื่อนำเสนอต่อนักลงทุนเช่นกัน

บริษัทซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันระดับองค์กรที่ได้ช่วยเหลือองค์กรขนาดต่างๆ ในทุกอุตสาหกรรมให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นอย่าง SAP พบว่า การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรในประเทศไทยให้เข้าสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่สิ่งที่น่าหนักใจคือ การที่บางองค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียยังไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ แม้จะมีกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนใช้ในบริษัทแล้ว โดยงานวิจัยใหม่ยังพบว่าธุรกิจไหนที่มุ่งเน้นปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะได้พบอุปสรรคจนทำให้ผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนไม่ออกดอกผล

การสำรวจโดย Oxford Wconomics และ SAP เผยอีกว่า องค์กรธุรกิจทั่วเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นยังต้องดำเนินการอีกหลายแง่มุมเพื่อเพิ่มประโยชน์ที่จะได้รับจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ในขณะที่ 66% ของธุรกิจไม่คิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุความยั่งยืนและทำกำไรให้องค์กรได้ในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เพียง 8% เท่านั้นที่บอกว่า บริษัทได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนในปัจจุบัน แปลว่าแม้ความยั่งยืนจะเป็นความท้าทายทางธุรกิจของคนรุ่นปัจจุบัน แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ที่เริ่มนำแนวคิดการปฏิบัติด้าน ESG มาใช้ในองค์กรแล้ว กลับมีเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์เหล่านี้

นอกจากการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ SAP ยังมองว่าการปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นทั้งปัจจัยที่ขับเคลื่อนความยั่งยืน และเป็นอุปสรรคสำหรับองค์กรในเวลาเดียวกัน โดยการสำรวจพบว่า องค์กรมองว่าประโยชน์ที่ได้รับเป็นอันดับแรกจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน คือการที่องค์กรสามารถลดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ส่วนประโยชน์เรื่องการปล่อยคาร์บอนได้ลดลง และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นถูกมองว่าน้อยกว่า

อีกความท้าทายต่อความสำเร็จด้านความยั่งยืนของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมญี่ปุ่น คือ การขาดการคิดค้นกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ เนื่องจากบริษัทไม่มีข้อมูลหรือภาพรวมทั้งหมดที่เกี่ยวกับผลกระทบ บริษัทกลุ่มนี้จะใช้การปะติดปะต่อเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสนับสนุนความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนแบบไม่มีการพูดคุยกัน นับซ้ำทำให้ไม่มีการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ และตัดการเชื่อมต่อข้อมูลออกไปทั้งที่เป็นข้อมูลทางการเงินและที่ไม่ใช่ทางการเงิน

“SAP มีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญที่จะช่วยลูกค้าในทุกขั้นตอนของเส้นทางไปสู่ความยั่งยืนและด้วยความเชี่ยวชาญในภาคส่วนอุตสาหกรรมที่กว้างขวางและระบบนิเวศของพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เราจึงมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายและความต้องการทางด้านความยั่งยืนเฉพาะอุตสาหกรรม” ผู้บริหาร SAP กล่าว “เมื่อพูดถึงสถานการณ์การตลาด ESG ในประเทศไทยช่วงปี 2566 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ และเราจะได้เห็นผู้เล่นจำนวนมากเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้คือลูกค้า ยิ่งเรามีผู้ให้บริการมาก ลูกค้าจะได้รับประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 50 ปี และได้รับการจัดอันดับให้เป็นดัชนีด้านความยั่งยืนของดาวโจนส์สำหรับบริษัทซอฟต์แวร์เป็นเวลา 15 ปีติดต่อกัน”

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC
ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ของ SAP ได้เข้าไปสนับสนุนให้ธุรกิจมองเห็นภาพรวมการดำเนินงานที่ส่งผลต่อการเติบโตขององค์กร แต่ในอนาคต SAP ต้องการส่งมอบการรายงานผลด้าน ESG ที่เป็นมาตรฐานหลักเพื่อดำเนินการสู่ความยั่งยืนผ่านการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยจะพยายามจัดการกับความท้าทายด้านความยั่งยืนในหลายวิธีการ บริษัทได้สร้างกลไกเพื่อช่วยลูกค้าคำนวณผลกระทบโดยเฉลี่ยโดยรวม โดยใช้มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซมลพิษ และช่วยลดความจำเป็นในการรับข้อมูลจากผู้ผลิตทุกราย นอกจากนี้ SAP ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลผู้ผลิตที่ลูกค้าสามารถใช้เพื่อคำนวณผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตของบริษัทได้

SAP หยอดยาหอมเพิ่มด้วยว่า บริษัทพร้อมที่จะช่วยให้ลูกค้าทำงานได้ดียิ่งขึ้นโดยมีความยั่งยืนเป็นหลักและพร้อมที่จะพัฒนาชีวิตของผู้คน

“เราต้องการที่จะช่วยเหลือลูกค้าของเราในการสร้างสรรค์วิธีการรับมือกับความยั่งยืน เรากำลังสร้างคุณค่าให้พวกเขาโดยช่วยให้พวกเขาบรรลุวัตถุประสงค์ด้านคาร์บอน และเรากำลังช่วยพวกเขาในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้วยพวกเขาสามารถจำลองตัวเลือกสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน การตัดสินใจในการดำเนินงาน และการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและสังคม เช่นเดียวกับทรัพยากรอื่นๆ ขององค์กร ด้วยเหตุผลนี้ SAP จึงก้าวไปอีกขั้นสำคัญในการเปลี่ยนลูกค้าของเราให้เป็นองค์กรอัจฉริยะที่ยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเป็นการพิสูจน์ว่าองค์กรอัจฉริยะสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน”

***ตลาดโตได้อีก


แม้จะไม่มีรายงานล่าสุดของตลาด ESG ไทย แต่การสำรวจของ SAP พบว่ามีเพียง 4 จาก 10 หรือ 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ระบุว่าได้ลงทุนกับการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวัดความยั่งยืนในธุรกิจแล้ว คำแปลที่สรุปได้คือตลาด ESG ยังมีพื้นที่เพื่อการเติบโตได้อีกมหาศาล

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC กล่าวว่า ปี 2566 บริษัทจะปรับโครงสร้างเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่เน้นดำเนินการด้านสังคม หรือ Social ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ตัวหลักของ ESG โดยมองว่าด้าน E หรือสิ่งแวดล้อมนั้นมีซอฟต์แวร์ต่างชาติตอบโจทย์อยู่แล้ว แต่ด้านสังคมนั้นยังมีพื้นที่ให้ซอฟต์แวร์ได้สร้างอิมแพกต์ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ หรือแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจที่จะผสานทั้งภาคเกษตรกร ภาคขนส่ง ภาคค้าปลีก และภาคส่งออก เพื่อใช้ดาต้าในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกับการยกระดับสังคมไปพร้อมกัน

ในระยะยาว ศิริวัฒน์เชื่อว่าแทบทุกบริษัทจะต้องทราบว่ามีปริมาณการทิ้งขยะเท่าไรในแต่ละเดือน หรือมีขยะพลาสติกเท่าไร สร้างคาร์บอนเท่าไร สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเมื่อถึงเวลานั้น บริษัทที่ไม่อยากทำ ESG ก็จะถูกกฎหมาย นักลงทุน และผู้บริโภคกดดันให้ต้องทำสมกับกระแสสังคมยุคใหม่ที่จะให้ความสนใจกับบริษัทที่มีนโยบายด้าน ESG มากขึ้นแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น