xs
xsm
sm
md
lg

บลูบิคพร้อมชนแอคเซนเจอร์ เทพันล้านบาทฮุบอินโนวิซ-ทีมย่อย MFEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK
กระหึ่มดีลใหญ่ที่สุดของวงการพัฒนา-ติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ในประเทศไทย “บลูบิค” ประกาศทุ่มงบ 1,000 ล้านบาทปิด 2 ดีลใหญ่ส่งท้ายปี มั่นใจดีลซื้อกิจการ Innoviz Solutions และหน่วยธุรกิจ Digital Delivery จาก MFEC รอบนี้จะติดปีกให้บริษัทคว้างานโปรเจกต์ยักษ์ระดับโลกได้ อุดช่องการแข่งขันกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันต่างชาติได้ดีกว่าเดิม

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวถึงการที่บลูบิคเข้าซื้อหน่วยธุรกิจ Digital Delivery ซึ่งเป็นทีมพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและแอปพลิเคชันจาก MFEC ว่าเป็นการลุยขยายทัพนักพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 300 ชีวิต ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของบลูบิคในการส่งมอบงานและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่การควบรวมกิจการกับบริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด (Innoviz Solutions) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและวางระบบ Microsoft Dynamics 365 อันดับ 1 ของประเทศไทยจะเป็นการต่อยอดและเสริมแกร่งบริการที่ปรึกษาด้าน ERP (Enterprise Resource Planning) ทำให้บลูบิคโกยลูกค้าทุกขนาดเข้าพอร์ตได้

“การเข้าซื้อหน่วยธุรกิจ Digital Delivery ของ MFEC เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการรองรับงานบริการให้คำปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี (Digital Excellence & Delivery หรือ DX) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สร้างรายได้ให้บลูบิค และยังเป็นการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตผ่านการ Synergy ร่วมกันกับทาง MFEC อีกด้วย รวมทั้งช่วยเรื่องการประหยัดต้นทุนในการบริหารงานจาก Economy of Scale ซึ่งหลังจากกระบวนการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น จะมีผลให้ทีมงานนักพัฒนาเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันของกลุ่มบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นถึง 500 คน สามารถรองรับความต้องการในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”

การควบรวมกิจการครั้งใหญ่ จะทำให้บลูบิคมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 350 คน เป็น 780 คน
บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK นั้นวางตัวเองเป็นบริษัทที่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบครบวงจร การประกาศเทงบกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการในสัดส่วน 100% ของ 2 บริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับประเทศรอบนี้จะทำให้บลูบิคมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 350 คน เป็น 780 คน เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจและบริการทั้งในและต่างประเทศ ปูทางสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ซึ่งจะนำไปสู่จุดยืนการเป็น Truly End-to-End Digital Transformation Partner หรือพันธมิตรด้านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบครบวงจรที่แท้จริง

เป้าหมายในอนาคตของบลูบิคคือ การเป็น Tech Company และ Venture Builder ระดับสากล บริษัทเชื่อว่าดีลที่เกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเนื่องจากทีมนักพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและแอปพลิเคชัน (Digital Delivery) ของ MFEC นั้นมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและแอปพลิเคชันภายใต้มาตรฐาน Software Development Life Cycle - SDLC และการนำระบบขึ้นเพื่อใช้งาน (Deployment Management) นอกจากนี้ ยังมีความเชี่ยวชาญด้านอื่นทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชันทั้งในรูปแบบ Mobile Application, Web Application, Desktop และบล็อกเชน รวมถึงการจัดการ Application Programming Interface - API การออกแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันและฟังก์ชันพื้นฐานในการใช้งาน (UX/UI Design) การประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ (Software Quality Assurance) และการให้บริการหลังการขายที่เกี่ยวข้อง

กระบวนการเข้าซื้อกิจการจะเริ่มหลังจากที่ MFEC จัดตั้งบริษัทย่อยสำหรับหน่วยธุรกิจนี้ โดยใช้เงินสดที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering - IPO) กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและแผนการระดมทุนเพิ่ม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2566

สำหรับการควบรวมกิจการกับ บริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด บลูบิคมั่นใจว่าการครอบครองมือหนึ่งด้านการวางระบบ ERP ของ Microsoft Dynamics 365 ที่ได้รับการรับรองเป็น Gold Certified Partner จากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จะสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เนื่องจากการพัฒนาการวางแผนและการจัดการทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรหรือระบบงาน ERP นั้นเป็นหัวใจหลักในการเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตและกระบวนการดำเนินงานให้มีความคล่องตัวของธุรกิจ และยังเป็นที่ต้องการจากองค์กรชั้นนำที่ต้องปรับตัวเข้าสู่การทำธุรกิจยุคดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

“ทีมงานผู้เชี่ยวชาญระบบ ERP จำนวนมากกว่า 130 คน ที่เติมเข้ามาจาก Innoviz จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ และตอบสนองความต้องของลูกค้ากลุ่มเดิมของบลูบิคได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการขยายบริการและผลิตภัณฑ์หลักของบลูบิคไปยังฐานลูกค้าของ Innoviz ที่มีอยู่มากกว่า 200 ราย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค การเงินและธนาคาร และหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย จึงมั่นใจได้ว่าลูกค้าทั้ง 2 ฝั่งจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดภายใต้การให้บริการผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลกแบบครบวงจรที่สามารถรองรับทุกความต้องการของลูกค้าได้” นายพชร กล่าวเสริม

ในส่วนกระบวนการควบรวมกิจการของ Innoviz จะแบ่งการชำระค่าหุ้นออกเป็น 3 งวด งวดแรกจะเริ่มต้นในไตรมาส 1 ปี 2566 และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 โดยบลูบิคจะเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดด้วยเงินสด แบ่งเป็น 3 งวด ประกอบด้วย งวดแรกจะเข้าซื้อในสัดส่วน 55% โดยใช้เงินกู้ยืมจากสถาบัน ในราคาซื้อขายหุ้นที่เท่ากับกำไรสุทธิของ Innoviz ในปี 2565 คูณด้วย 12 เท่าของ P/E และคูณด้วยสัดส่วนหุ้น 55% ขณะที่งวดที่ 2 จะซื้อในสัดส่วน 30% โดยราคาซื้อขายหุ้นจะเท่ากับกำไรสุทธิของ Innoviz ในปี 2566 คูณด้วย 16 เท่าของ P/E และคูณด้วยสัดส่วนหุ้น 30% และงวดสุดท้าย ในสัดส่วน 15% บนราคาซื้อขายหุ้นอิงกับกำไรสุทธิของ Innoviz ในปี 2566 คูณด้วย 16 เท่าของ P/E และคูณด้วยสัดส่วนหุ้น 15% สำหรับการชำระค่าหุ้นในงวดที่ 2 และ 3 นั้น บริษัทฯ จะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน

  เป้าหมายในอนาคตของบลูบิคคือการเป็น Tech Company และ Venture Builder ระดับสากล
นายพชร กล่าวทิ้งท้ายว่า การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบลูบิคนั้นเป็นไปตามแผนการลงทุนที่บริษัทฯ ได้วางไว้ เพื่อรองรับกระแสการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและความต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้สร้างข้อได้เปรียบในภาคธุรกิจที่ยังคงแรงต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกเหล่านี้ทำให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ได้สะท้อนผ่านผลประกอบของบริษัทฯ ที่สามารถทำนิวไฮในหลายไตรมาสติดต่อกัน

“ดังนั้น การเข้าซื้อกิจการของทั้ง 2 บริษัทจะทำให้การเติบโตนับจากนี้ของบลูบิค โดยเฉพาะในปี ​2566 เป็นไปอย่างน่าจับตามอง จากผลพวงของจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี เป็นการตอกย้ำความเป็น Tech Company ที่มุ่งเน้นการเป็น Venture Builder ระดับสากล”

ก่อนหน้านี้ บลูบิคเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 ว่าเติบโตเกินคาดทั้งรายได้และกำไร โดยมีรายได้รวม 181 ล้านบาท เติบโตถึง 155% และกำไรสุทธิ 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันยังเติบโตที่อย่างต่อเนื่อง และการขยายรูปแบบการให้บริการของบริษัทฯ ที่ครอบคลุมมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดมีการจัดตั้งบริษัทย่อยเพิ่มเติม ได้แก่ บริษัท บลูบิค (เวียดนาม) จำกัด ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อเตรียมขยายการให้บริการในประเทศเวียดนาม

ถึงสิ้นไตรมาส 3 บริษัทบลูบิคมีจำนวนบุคลากรทั้งหมดกว่า 330 คน และเคยคาดว่าจะมีบุคลากรมากกว่า 350 คนภายในสิ้นปี 65


กำลังโหลดความคิดเห็น