ยูทูป (YouTube) ประกาศผลักดันนโยบายใหม่เพื่อให้หลักเกณฑ์ชุมชนเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เน้นป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อโลกแห่งความเป็นจริง ยืนยันเปิดกว้างในการแสดงออกภายใต้ขอบเขตของกฎหมายในแต่ละท้องถิ่น
แมท ฮัลพริน รองประธาน และหัวหน้าฝ่ายความน่าเชื่อถือและความปลอดภัย กูเกิล กล่าวว่า ที่ผ่านมายูทูปได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ชุมชน เพื่อให้บรรดาครีเอเตอร์เข้าใจถึงสิ่งที่สามารถนำเสนอบนแพลตฟอร์ม พร้อมไปกับเป็นการช่วยปกป้องชุมชนของผู้ใช้งาน
“ยูทูปได้รับคำถามเกี่ยวกับวิธีตัดสินเรื่องขอบเขตการบังคับใช้นโยบายเป็นประจำ ในขณะเดียวกัน เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้นโยบายก็ต้องพัฒนาตามไปด้วย ทำให้ทางยูทูปมีการตรวจสอบนโยบายเป็นประจำเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกแพลตฟอร์ม”
แน่นอนว่า ปัจจุบันเนื้อหาส่วนใหญ่บน YouTube ไม่ละเมิดหลักเกณฑ์ แต่ทีมงานยังเดินหน้าตรวจหาช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้น หรือค้นหาความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ทดสอบนโยบายในรูปแบบที่ต่างจากเดิม
พร้อมยกตัวอย่างในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้น มีการนำข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับ 5G และการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเชื่อมโยงเข้าหากันทำให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งผลกระทบต่อสถานีฐานเครือข่าย 5G ในอังกฤษ หรือประเด็นที่อ่อนไหวต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในสังคม
“ประการสำคัญของนโยบายคือ การป้องกันอันตรายร้ายแรงในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะนำเนื้อหาที่ทำให้เกิดความไม่พอใจทั้งหมดออกจาก YouTube เพราะเชื่อว่าการอภิปรายที่เปิดกว้างและการแสดงออกอย่างอิสระมักช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นต่อสังคม”
เบื้องต้น หลังการปรับปรุงนโยบายแล้ว ทีมความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยจะรับหน้าที่พัฒนาวิธีแก้ไขที่ปรับให้เหมาะกับผู้ใช้ อย่างการประเมินเนื้อหาที่เป็นอันตรายประเภทที่เฉพาะเจาะจง
จากนั้นจะดูวิดีโอหลายสิบหรือหลายร้อยรายการเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของการกำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงอธิบายอย่างละเอียดถึงตัวอย่างวิดีโอที่ระบบจะนำออกหรืออนุมัติสำหรับแต่ละนโยบาย บนเป้าหมายในการลดภัยร้ายแรง และช่วยให้ผู้กลั่นกรองเนื้อหาหลายพันรายทั่วโลกบังคับใช้นโยบายได้
พร้อมกันนี้ ยูทูปได้เปิดตัวดัชนี้ชี้วัดที่เรียกว่า อัตราการดูที่มีการละเมิด (Violative View Rate : VVR) เพื่อระบุยอดการรับชมบนยูทูปจากเนื้อหาที่มีการละเมิด เพื่อวัดประสิทธิภาพของการบังคับใช้ โดยในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.10-0.11%
นอกจากนี้ ยังเข้าไปติดตามการอุทธรณ์ที่ครีเอเตอร์ยื่นเข้ามา โดยในช่วงไตรมาส 3 ยูทูปได้นำวิดีโอมากกว่า 5.6 ล้านรายการออกเนื่องจากละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน และได้รับการอุทธรณ์การนำวิดีโอออกประมาณ 271,000 รายการ หลังจากที่ตรวจสอบแล้ว ได้คืนสิทธิให้การอุทธรณ์เหล่านั้นประมาณ 29,000 รายการ