ตลาดโปรเจกเตอร์กลายเป็นอีกหนึ่งตลาดผลิตภัณฑ์ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ทำให้การใช้งานโปรเจกเตอร์ในห้องประชุมขนาดใหญ่ หรือการนำไปใช้ในภาคของสถาบันการศึกษามีปริมาณที่ลดลง พร้อมกับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่แทนที่รูปแบบการเรียนการสอนเดิม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดทำให้เกิดดีมานด์ใหม่ๆ จากกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจกับโฮมโปรเจกเตอร์ที่นำไปใช้เพื่อความบันเทิงภายในบ้านมากขึ้น เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีฉายภาพที่ให้ความสว่าง และมีความละเอียดสูงมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการนำไปใช้กับงานตามนิทรรศการ หรือการจัดอีเวนต์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ที่กลายเป็นโอกาสสำคัญจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน เทรนด์การใช้งานของเทคโนโลยีโปรเจกเตอร์ได้เปลี่ยนผ่านจากโปรเจกเตอร์แบบหลอดภาพ สู่เลเซอร์โปรเจกเตอร์ที่ให้ความสว่างสูง ใช้พลังงานต่ำ อายุการใช้งานที่นานขึ้น ตัวเครื่องมีขนาดเล็กลงทำให้เกิดความสะดวกในการนำไปใช้งานเรียบร้อยแล้วด้วย
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงสัดส่วนของเลเซอร์โปรเจกเตอร์ที่กลับมาเติบโตต่อเนื่องทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยว่า จากช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เลเซอร์โปรเจกเตอร์มีสัดส่วนสูงถึง 86% และมีโอกาสขยายไปเป็น 90% ในช่วงสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันเอปสันยังคงสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดโปรเจกเตอร์มาได้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 โดยมีส่วนแบ่งตลาดในไทยอยู่ที่ราว 38% ส่วนคู่แข่งจะอยู่ที่ราว 25% 10% และ 4% รวมกับแบรนด์อื่นๆ อีกราว 23% ทำให้เห็นได้ว่าเอปสันนับเป็นผู้นำในตลาดนี้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ในตลาดประเทศไทยกลุ่มสินค้าโปรเจกเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดยังคงเป็นกลุ่มสินค้าในความสว่าง 2,000-5,000 ลูเมน (หน่วยวัดความสว่างของหลอดไฟ) ที่มีสัดส่วนสูงถึง 78% ตามด้วยกลุ่มสินค้าที่มีความสว่างสูงกว่า 5,000 ลูเมนที่ 8% โฮมโปรเจกเตอร์ 6% รวมถึงมีกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มโปรเจกเตอร์ความสว่างสูง (High Brightness) ที่มีสัดส่วนราว 2% ในแง่จำนวนเครื่อง แต่ถ้าคิดเป็นมูลค่าแล้วสูงกว่า 25% ของตลาดโปรเจกเตอร์ เนื่องจากราคาเฉลี่ยของเครื่องอยู่ที่กว่า 5 แสนบาท
“ตลาดโปรเจกเตอร์กลุ่มที่ใช้งานภายในบ้านถือว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ จากปีที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งราว 3-4% แต่ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 6% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดโปรเจกเตอร์ความสว่างสูงที่เริ่มถูกนำไปใช้กับอุตสาหกรรมไมซ์ หลังการเปิดประเทศ”
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณความต้องการที่เข้ามาเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมาสินค้าในกลุ่มนี้มีไม่เพียงพอ ส่งผลให้การเติบโตที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่ได้สะท้อนถึงดีมานด์ที่แท้จริงของตลาด และเชื่อว่าเทรนด์การนำโปรเจกเตอร์ไปใช้งานในบ้านจะมีการเติบโตต่อไปจากกลุ่มผู้ใช้ที่ปรับตัวทำงานจากที่บ้าน รองรับทั้งสันทนาการ และใช้ทำงานได้ด้วย
***ปรับตัวสู่โปรเจกเตอร์นอกห้องเรียน-ประชุม
สิ่งที่ทำให้ตลาดโปรเจกเตอร์เกิดการเปลี่ยนแปลงมาจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาใช้เรียนในห้องเรียนทำให้โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่เป็นกำลังซื้อหลักหดหายไป ขณะที่ในกลุ่มองค์กรจากเดิมพนักงานใช้ห้องประชุมขนาดใหญ่ที่มีโปรเจกเตอร์เพื่อประชุมงาน กลายมาเป็นผ่านช่องทางออนไลน์แทน ทำให้บทบาทของโปรเจกเตอร์ที่ใช้ในห้องลดลง
โดยเฉพาะในตลาดของภาคการศึกษาที่นับเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด เมื่อเกิดการชะลอซื้อทำให้ในภาพรวมของตลาดโปรเจกเตอร์ไม่เติบโตเหมือนยุคก่อนๆ ทำให้คาดว่ามูลค่าตลาดจะอยู่ที่ราว 1,300-1,400 ล้านบาท แต่มีโอกาสที่จะทรงตัวอยู่ในระดับบวกลบไม่เกิน 5% เป็น 1,500 ล้านบาท หรือราว 40,000-50,000 เครื่องในปีหน้าได้
“สถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกจากเดิมที่คาดไว้ว่าหลังโควิดน่าจะดีขึ้น แต่กลับไม่ได้ดีอย่างที่คาดไว้ เนื่องจากยังเห็นแนวโน้มในการชะลอการลงทุนอยู่ แต่จากสัญญาณที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่มีการเปิดประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจเริ่มกลับมาหมุนเวียน การจัดกิจกรรม และอีเวนต์ต่างๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นทำให้ตลาดโปรเจกเตอร์น่าจะเริ่มกลับมาได้”
แน่นอนว่าในแง่ของการเติบโตกลุ่มโปรเจกเตอร์ระดับความสว่างไม่เกิน 5,000 ลูเมน จะยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของจำนวนเครื่อง แต่ถ้าคิดในเชิงมูลค่าจะอยู่ที่ราว 40% ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีทั้งการซื้อเข้าไปทดแทนเครื่องเดิม รวมถึงการอัปเกรดรุ่นใหม่ที่เพิ่มฟีเจอร์การทำงานไร้สายเข้าไปให้เข้ากับเทรนด์การใช้งานในปัจจุบัน
เสริมด้วยการนำไปใช้งานกับธุรกิจไมซ์ ทั้งการจัดกิจกรรม ร้านอาหาร งานเปิดตัวรถยนต์ การนำไปใช้สำหรับการจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ หรือแม้แต่ในงานวัดก็เริ่มมีการนำโปรเจกเตอร์ความสว่างสูงไปใช้งาน เพื่อสร้างสีสัน และบรรยากาศให้มีความสวยงามขึ้น และกลายเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาคอนเทนต์ พร้อมปล่อยเช่าโปรเจกเตอร์แก่ผู้ที่สนใจด้วย
“กลุ่มโปรเจกเตอร์ความสว่างสูงมีโอกาสที่จะเติบโตราว 5-10% ในแง่ของจำนวนเครื่อง และมากกว่า 10% ในเชิงมูลค่า เพราะเริ่มมีการนำไปใช้งานที่เห็นได้จริง อย่างการฉายภาพไปยังอาคารในลักษณะของ Immersive Museum Mapping”
ข้อดีของโปรเจกเตอร์คือสามารถฉายไปยังพื้นผิวที่ไม่เรียบได้ ในขณะที่จอแสดงผลต่างๆ จะไม่สามารถนำไปใช้งานในพื้นผิวที่ไม่เป็นระนาบได้ ทำให้รูปแบบของการนำโปรเจกเตอร์ไปใช้สามารถสร้างสรรค์ได้มากกว่า ประกอบกับการพัฒนาของเวอร์ชวลเอฟเฟกต์ทำให้สามารถพัฒนาคอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจมาจัดแสดงได้
***ขยายฐานโปรเจกเตอร์ขนาดเล็ก-น้ำหนักเบา
ปัจจุบัน ไลน์สินค้าในกลุ่มโปรเจกเตอร์ของเอปสันมีครอบคลุมมากกว่า 33 รุ่น ครอบคลุมตั้งแต่ความสว่างระดับ 1,000 ลูเมน ความละเอียด Full HD ไปจนถึงความสว่าง 30,000 ลูเมน ความละเอียด 4K เพื่อรองรับตั้งแต่การใช้งานทั่วไปภายในบ้าน จนถึงตามห้างสรรพสินค้า และนำไปใช้กับงานอีเวนต์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เอปสันยังเห็นช่องว่างของตลาดโปรเจกเตอร์ที่ต้องการเครื่องที่มีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบาลงเพื่อนำไปใช้งานได้สะดวกในทุกสถานที่ ตั้งแต่การนำไปใช้ในห้องประชุม หรือหอประชุมขนาดใหญ่ เวทีงานแสดง คอนเสิร์ต พิพิธภัณฑ์ และตามสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้มีการเสริมไลน์สินค้าในกลุ่มเลเซอร์โปรเจกเตอร์เพิ่มเติมในซีรีส์ EB-PU2200 ที่มีให้เลือกระดับความสว่างตั้งแต่ 13,000-20,000 ลูเมน ซึ่งถ้าเทียบกับรุ่นก่อนหน้าที่ให้ความสว่างเท่ากันจะมีขนาดเล็กลงถึง 64% และเบาลงกว่า 50% เหลือ 24.4 กิโลกรัมเท่านั้น ประกอบกับด้วยเทคโนโลยีฉายภาพแบบ 3LCD ที่เป็นลิขสิทธิ์ของเอปสัน ทำให้ได้ภาพที่สีสันสมจริง ส่วนที่ขาวที่สุด และดำที่สุดมีความต่างกันชัดเจน
“การที่โปรเจกเตอร์มีขนาดเล็กลงมาจากการเปลี่ยนระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวที่ช่วยลดความร้อนของแหล่งกำเนิดแสงภายในตัวเครื่อง ช่วยยืดอายุการใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพได้ถึง 20,000 ชั่วโมง โดยไม่ต้องบำรุงรักษา”
นอกจากนี้ ยังถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่น และทนทาน รองรับแรงสั่นสะเทือนอย่างบนเวทีและผ่านมาตรฐาน IP5X ป้องกันฝุ่นผงและควันจากการนำไปติดตั้งใช้งานในสถานที่ต่างๆ ทำให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ช่วยตอกย้ำภาพความเป็นผู้นำในตลาดโปรเจกเตอร์ของเอปสันต่อไปในอนาคต