xs
xsm
sm
md
lg

กรมพินิจฯ-ดีแทคลงนามร่วมพัฒนาทักษะดิจิทัล อบรมเยาวชนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และดีแทค ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อโอกาสในการทำอาชีพและทักษะการรับมือกับความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ หวังเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว จนถึงการสร้างอาชีพจากหลักสูตร ‘ดีแทค เน็ตทำกิน’

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมพินิจฯ จะให้การคุ้มครองดูแลทั้งเรื่องสภาพร่างกายและจิตใจ จัดการศึกษา เพิ่มทักษะต่างๆ โดยทีมนักวิชาชีพของกรมพินิจฯ เพื่อให้สามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับและฝึกฝนไปใช้ได้ภายหลังได้รับการปล่อยตัว โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา ที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างทักษะความสามารถให้เด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ จากรายงานสถิติคดีประจำปีงบประมาณ 2565 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่ามี Gen Z ซึ่งเป็นเด็กที่มีอายุเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ และเยาวชน หรือบุคคลที่มีอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ที่กระทำความผิดมีจำนวนมากถึง 12,202 คดีทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทั่วประเทศ รวม 3,000 ราย

“ภายในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมฯ มีรูปแบบการเรียน 3 รูปแบบให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย การศึกษาในระบบเดิม การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และการศึกษาทางเลือก เพื่อให้เด็กมีโอกาสในการจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) รวมถึงจัดให้มีการศึกษาและเสริมทักษะด้านวิชาชีพ”

เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรเพื่อนำไปใช้ในสังคมได้ตามปกติ ซึ่งในปีการศึกษา พ.ศ.2564 มีเยาวชนที่ได้รับการศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกหลักสูตร จำนวนทั้งสิ้น 1,557 คน และการฝึกอาชีพระยะสั้น จำนวนทั้งสิ้น 2,237 คน

นายสตีเฟ่น เจมส์ แฮลวิก รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เยาวชนที่อยู่ภายใต้การดูแลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัย Digital natives หรือ Gen Z ซึ่งเกิดระหว่าง พ.ศ.2540-2555 คือ ช่วงอายุ 10-25 ปี และเติบโตมากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว

“หน้าที่ของดีแทคและกรมพินิจฯ เพียงต้องทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อ และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางเทคโนโลยีดิจิทัลให้พร้อมกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ด้วยความมุ่งหวังว่าพวกเขาจะไม่พลาดที่จะมีโอกาสในการใช้ชีวิตร่วมกับคนในช่วงวัยเดียวกัน”

ภายใต้ความร่วมมือบันทึกความเข้าใจร่วมฉบับนี้ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และดีแทคจะร่วมกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันบนดิจิทัลและพัฒนาศักยภาพการขายสินค้าออนไลน์ สำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นระยะเวลา 3 ปี ดังนี้

1.สร้างทักษะให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ผ่านแพลตฟอร์ม e-Learning ให้เข้าใจและส่งเสริมทัศนคติให้เปิดรับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และมีศักยภาพในการเปิดร้านค้าออนไลน์ การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อต่อยอดสู่ผู้ประกอบการในอนาคต 

2.สร้างทักษะให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีทักษะสามารถแยกแยะและรับมือกับความเสี่ยงจากการใช้งานออนไลน์ และการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ รู้เท่าทัน และร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมสังคมออนไลน์ที่สร้างสรรค์ได้ (Digital Resilience)

3.ลงมือปฏิบัติจริงผ่านกิจกรรม Workshop และร่วมประกวดแข่งขันในแคมเปญที่จัดทำร่วมกันระหว่างดีแทค เน็ตทำกิน และศูนย์ฝึกอบรมทั้ง 20 แห่ง เพื่อให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั่วประเทศได้มีโอกาสฝึกฝน ลงมือทำตามสถานการณ์จริง

เบื้องต้น เยาวชนที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับใบประกาศนียบัตรจากดีแทค และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตร "เน็ตทำกิน" ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนนำไปใช้เทียบสมรรถนะการเรียนรู้ตามมาตรฐาน โดยในปีนี้จะมีเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างน้อย 500 คน จะเข้ามาเรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์


กำลังโหลดความคิดเห็น