xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจการแผ่นดิน จับมือยูนิเซฟ สร้างโอกาสเยาวชนที่ไม่เรียนหลังจบ ม.3 ได้งานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (10 พ.ย.) นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ
ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (องค์การยูนิเซฟ) เพื่อพัฒนาโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) สานต่อเจตนารมณ์สร้างโอกาสเด็กไทยมุ่งสู่อนาคตชาติ

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อย่างต่อเนื่องมากว่า 4 ปี เพื่อเพิ่มทักษะอาชีพให้กับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานมีฝีมือ เพื่อให้มีความมั่นคงในอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมา ได้สร้างอาชีพให้เยาวชนกลุ่มนี้มีงานทำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาแล้วกว่า 700 ราย และจากสถิติข้อมูลการดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ ของทุกจังหวัดทั่วประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พบว่า นักเรียนที่เรียนจบ ม.3 ในปีการศึกษา 2564 กว่า 5 แสนราย ไม่ได้เรียนต่อในระบบการศึกษาสูงถึง 23,834 ราย ในจำนวนนี้มีผู้สมัครเข้าอบรมในโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ จำนวน 2,924 ราย ซึ่งการดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ สอดคล้องกับความสนใจขององค์การยูนิเซฟในฐานะองค์กรที่สนใจในการแก้ไขปัญหากลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรมใดๆ (กลุ่ม NEETs) (Not in Education, Employment or Training) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เพื่อเป็นการสานต่อความร่วมมือที่ยั่งยืนจึงมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งนอกจากบูรณาการร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานศึกษาวิจัยเชิงลึกแล้ว ที่สำคัญคือ การขยายและต่อยอดโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ ในการสร้างโอกาสให้เยาวชนได้มีงานทำที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริม และปกป้องสิทธิเด็กโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความเปราะบางที่สุดและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ด้วยความร่วมมือร่วมกันใน 4 ด้าน คือ

1. เทคนิคการประเมินโครงการฯ ร่วมมือเชิงเทคนิคเพื่อดำเนินการประเมินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินให้เกิดความเข้มแข็ง ให้เยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และขยายผลไปสู่กลุ่มเยาวชนอื่น รวมถึง กลุ่ม NEETs

2. พัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ โดยใช้ผลการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นฐานในการออกแบบการสื่อสารผ่านเครื่องมือ และช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างเด็กได้มีพฤติกรรมทางสังคมเชิงบวก ส่วนครอบครัว และชุมชน รวมถึงเครือข่าย มีความเข้าใจต่อโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มากขึ้น สามารถสื่อสารไปสู่ชุมชน และหมู่ผู้ปกครอง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ของโครงการฯ ได้อย่างทั่วถึง

3. ส่งเสริมและปกป้องสิทธิเด็ก สร้างความตระหนักรู้ผ่านการรณรงค์ส่งเสริมสาธารณะ การจัดกิจกรรม การประชุมสัมมนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีของเด็กและเยาวชน 4. แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับสิทธิเด็ก โดยสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและองค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทยกับหน่วยงานด้านการพัฒนาอื่นๆ ในระดับชาติและระดับภาคส่วนย่อยในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับสิทธิเด็กและการพัฒนาเด็ก พร้อมทั้งขยายผลแนวปฏิบัติต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น