xs
xsm
sm
md
lg

AIS Fibre-Nokia โชว์เทคโนโลยีเน็ตความเร็วสูง 25 Gbps

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



AIS Fibre จับมือ Nokia ทดสอบเทคโนโลยีส่งสัญญาณด้วยใยแก้วนำแสงทำให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงถึง 25 Gbps ในโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกเดิมที่ใช้งาน เตรียมนำเข้าไปให้บริการในตลาดองค์กรธุรกิจที่ต้องการอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายแบบ 10Gbps+

ธนิตย์ ชัยยะบุญธนิตย์ รักษาการกรรมการผู้จัดการธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า AIS Fibre ให้ความสำคัญกับการเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมเพื่อมอบบริการที่ดีที่สุดให้ลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเตรียมเทคโนโลยีเครือข่ายที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานทั้งความเร็วและยืดหยุ่นเพื่อรองรับอนาคต

“การร่วมกับโนเกีย ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยี 25G PON ทำให้ใช้งานเน็ตความเร็วสูงระดับ 25 Gbps ครั้งนี้ถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี และทำให้เชื่อว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างแน่นอนในอนาคต”  
อาเจย์ ชาร์มา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทยและกัมพูชา กล่าวว่า เทคโนโลยี 25G PON ที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยให้เครือข่ายใยแก้วนำแสงเชื่อมต่อได้กับทุกการใช้งานและทุกเวลา เพื่อส่งมอบบริการให้ผู้ใช้ทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ธุรกิจ และสถานีติดตั้งเครื่องรับ-ส่งสัญญาณ


โดยการทดสอบครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ปัจจุบัน AIS Fibre เป็นผู้ให้บริการเน็ตบ้านรายแรกที่ให้บริการบรอดแบนด์ด้วยสายไฟเบอร์ออปติกแท้ 100% ใช้อุปกรณ์ส่งสัญญาณทางสายด้วยใยแก้วนำแสง (Optical Line Terminal : OLT) ไปยังอุปกรณ์แปลงสัญญาณแสงปลายทาง (Optical Network Terminal : ONT) ด้วยความเร็วที่รวมกันได้มากถึง 37.5 Gbps ผ่านอุปกรณ์ 25G PON ONT ที่ความเร็ว 25 Gbps อุปกรณ์ XGS-PON ONT ที่ความเร็ว 10 Gbps และอุปกรณ์ G PON ONT ที่ความเร็ว 2.5 Gbps

การทดลองทดสอบนี้สามารถประยุกต์เข้ากับการใช้งานยุคใหม่ อย่างเกมเสมือนจริง (VR Gaming) และโฮโลแกรม ส่งผลให้สามารถนำเสนอบริการเครือข่ายที่มีตัวเลือกด้านความเร็วอย่างครบครันให้แก่ลูกค้าได้ถึงระดับ 25 Gbps บนแพลตฟอร์มที่มีอยู่ในขณะนี้โดยไม่จำเป็นต้องขุดถนนเพื่อวางสายไฟเบอร์ชุดใหม่

นอกจากนี้ เครือข่าย 25G PON ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้เอไอเอส สามารถนำเสนอบริการให้แก่ลูกค้าประเภทองค์กรมาเปลี่ยนเครือข่ายเป็นแบบ 10G+ และมีความหน่วงต่ำแทนที่การเชื่อมต่อแบบจุดต่อจุด (Point to Point - P2P) นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถใช้เทคโนโลยีสำหรับ 5G backhaul ที่จะค่อยๆ เพิ่มความสำคัญเมื่อมีการสร้างสถานีติดตั้งเครื่องรับ-ส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการความถี่สัญญาณ 5G ในระดับที่สูงขึ้นได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น