xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กสทช. ลั่น 20 ต.ค.จบแน่ ดีลทรู ดีแทค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด กสทช.ยังไม่เคาะควบรวมทรู-ดีแทค แจงต้องรอผลการศึกษาอีกส่วนหนึ่งวันที่ 14 ต.ค.นี้ ลั่น 20 ต.ค. นัดประชุมวาระพิเศษ เคาะให้จบอย่างแน่นอน

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ กสทช. วันที่ 12 ต.ค.2565 เรื่องการลงมติควบรวมกิจการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมจากบริษัทที่จ้างผลการศึกษาผลกระทบการควบรวมจากต่างประเทศ ที่จะมีเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 14 ต.ค.นี้

ดังนั้น ในวันที่ 20 ต.ค. บอร์ด กสทช.นัดประชุมวาระพิเศษเพื่อตัดสินเรื่องนี้อย่างแน่นอน และยืนยันว่าต้องจบ ไม่ยืดเยื้อ

นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช.และอดีตกรรมการ กสทช.กล่าวว่า เอกสารที่บอร์ดได้รับในการประชุมครั้งนี้เป็นเพียงเอกสารผลสรุปเท่านั้น ดังนั้น บอร์ดจึงขอดูเอกสารตัวเต็มในวันที่ 14 ต.ค.นี้ เพราะอาจจะมีข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเพิ่มเติมแต่วันที่ 14 ต.ค.เป็นวันหยุด และไม่อยากประชุมในวาระปกติ เนื่องจากต้องใช้เวลานานเกรงว่าจะกระทบต่อวาระปกติของ กสทช. จึงนัดเป็นวาระพิเศษในวันที่ 20 ต.ค.แทน

คณะกรรมการ กสทช.ทุกท่านมีจุดยืน เพียงแต่ว่ากังวลเรื่องข้อกฎหมาย หากกรณีที่ตัดสินใจมีมติให้อนุญาตโดย กสทช.มีอำนาจตัดสิน ซึ่งฝั่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างเอกชนจะเดินหน้าฟ้องในมาตรา 157 ว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการตัดสินแต่มาพิจารณาให้เกิดความเสียหาย แต่ถ้า กสทช.บอกว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินและทำได้เพียงรับทราบการควบรวม ฝั่งประชาสังคมจะเดินหน้าฟ้องว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ประเด็นที่ทำให้เกิดความล่าช้าคือความรอบคอบในประเด็นข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าจะตัดสินแบบไหนกรรมการ กสทช.ก็หลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องไม่ได้

สำหรับความเห็นที่คาดว่าจะให้มีการควบรวมมี 2 ระดับ คือ 1 กสทช.รับทราบการควบรวมซึ่งหมายถึงอนุญาตให้มีการควบรวม และระดับที่ 2 กสทช.มีอำนาจให้อนุญาต แต่ผลปลายทางจะเหมือนกันคือทำให้เกิดการควบรวม โดยส่วนนี้หลังจากการลงมติอนุมัติแล้วจะมีมาตรการออกมาเป็นเงื่อนไขให้บริษัทผู้ขอควบรวมดำเนินตามแนวทางที่ กสทช.กำหนด ดังนั้น คาดว่าทางออกกลางๆ ที่จะเกิดขึ้นคืออนุมัติให้มีการควบรวมโดยมีเงื่อนไขกำกับ

“จึงมองได้ว่าหากมีสงครามตัวแทนเกิดขึ้นคงจะมีการตกผลึกในกรณีการควบรวมให้แล้วเสร็จไปนานแล้ว ถ้าจะมีการล็อบบี้ หรือทำความเข้าใจและเสนอความเห็นไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรื่องการควบรวมธุรกิจจะสิ้นสุดโดยไม่มีการประวิงเวลามาจนถึงตอนนี้” นพ.ประวิทย์ กล่าว

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวสำหรับการพิจารณาต้องร่วมโหวตเรื่องข้อกฎหมายก่อน เพราะส่วนตัวเห็นว่า กสทช.มีอำนาจในการตัดสินว่าอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้มีการควบรวม จากนั้นต้องมาดูมาตรการตามกฎหมายว่ามาตรการที่ออกมามีความจำเป็นและเพียงพอต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ และมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ถ้ามาตรการที่ออกมามีความจำเป็นแต่ไม่เพียงพอโดยไม่สามารถแก้ผลกระทบได้ ต้องพิจารณาไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม แต่ถ้ามาตรการออกมาเพียงพอและมีเหตุผลได้สัดส่วน และอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไข หากเปรียบเทียบเงื่อนไขในต่างประเทศ 1.ไม่อนุญาตให้ควบรวม 2.อนุญาตแต่ต้องขายกิจการที่ให้บริการซ้ำซ้อนกันออกไป 3.อนุญาตให้ควบรวมโดยมีเงื่อนไข โดยบังคับให้เอกชนมาใช้บริการร่วมกันได้ ซึ่งมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องความเสียหายต่อบริษัทที่ขอควบรวมเรื่องมูลค่าหุ้นลดลง ขณะเดียวกันหุ้นส่วนบริษัทที่เป็นคู่แข่งสูงขึ้น ต้องบอกว่าหุ้นของโทรคมนาคมมีขึ้นและลง โดยหุ้นของทรู เวลาข่าวเผยแพร่ออกมาว่ามีแนวโน้มให้ควบรวมหุ้นจะสูงขึ้น ดังนั้น ถ้ามีมติออกมาให้เกิดการควบรวมหุ้นอาจจะสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ให้ควบรวมหุ้นจะตกลง จึงมีจังหวะและวัฏจักรไปตามสภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น