xs
xsm
sm
md
lg

“ทรู-ดีแทค” ยื่นหนังสือเร่งรัดบอร์ด กสทช.เคาะดีลควบรวม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทรู-ดีแทค” ยื่นหนังสือเร่งรัดบอร์ด กสทช. เคาะดีลควบรวม หวั่นมาตรการเยียวยาห้ามใช้คลื่นร่วมกันทำผู้บริโภคเสียประโยชน์ ชี้ กสทช. ดึงล่าช้าเข้าเดือนที่ 9 สร้างความเสียหาย เชื่อบอร์ด กสทช.ต้องเดินหน้าตัดสินภายในกฎหมาย และยึดหลักประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นหลัก

วันนี้ (11 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เดินทางมายื่นหนังสือเร่งรัดให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาการควบรวมของทรูและดีแทคให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยมี พล.อ.กิตติ เกตุศรี ผู้ปฏิบัติงาน ส่วนงานประธาน กสทช. เป็นผู้แทนรับมอบ โดยหนังสือระบุเรื่องขอให้ กสทช.พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า การประชุมของบอร์ด กสทช.ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ คาดว่าจะยังไม่ได้ข้อยุติและยังไม่มีการตัดสินใจอย่างชัดเจนในเรื่องการควบรวมธุรกิจทรูและดีแทค จึงได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธาน และคณะกรรมการ กสทช.ทุกท่านให้ช่วยเร่งรัดการพิจารณาการควบรวม เนื่องจากเรื่องนี้ล่าช้ามาเกือบ 9 เดือนแล้ว หลังจากที่ได้ส่งหนังสือขอควบรวมธุรกิจไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 จึงกังวลว่าหากปล่อยเวลาให้ยืดยาวจะเกิดผลกระทบต่อบริษัท และผู้บริโภค เพราะแทนที่ผู้บริโภคจากของทรูและดีแทคจะได้ใช้บริการร่วมกันก็ยังไม่สามารถใช้บริการได้

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการควบรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เนื่องจากลูกค้าจะสามารถใช้คลื่นที่เป็นโครงข่ายร่วมกันได้ แม้จะมีข้อกังขาเรื่องเงื่อนไขที่ห้ามไม่ให้ผู้ขอควบรวมใช้โครงข่ายร่วมกันนั้น ก็ต้องมาดูเรื่องการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นหลักการตามประกาศปี 2561 ข้อ 12 ที่กำหนดว่าหาก กสทช.พิจารณาว่าถ้ามีการควบรวมธุรกิจแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ภายใต้อำนาจที่ กสทช.มีก็สามารถกำหนดมาตรการให้ผู้ขอควบรวมได้ปฏิบัติตามหลังจากที่มีการอนุมัติให้มีการควบรวมแล้ว

ส่วนประเด็นที่ทักท้วงเกี่ยวกับบริษัทที่ปรึกษาอิสระของ กสทช. คือ บริษัท ฟินันซ่า ว่าไม่เป็นกลางเพราะมีนามสกุลของผู้บริหารซึ่งเกี่ยวข้องกับทรูนั้น ส่วนตัวไม่สามารถให้ความเห็นได้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้นเป็นที่ปรึกษา

ทั้งนี้ เมื่อ 2 บริษัทรวมกัน มีสถานีฐานร่วมกันคือประโยชน์ของผู้บริโภค ที่ผ่านมาทรูและดีแทคทำตามกฎหมายและประกาศของ กสทช.ทุกอย่าง ความล่าช้าสร้างความเสียหายก็อาจดำเนินการฟ้องร้อง

ขณะที่นายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ ดีแทค กล่าวว่า หากมีการควบรวมลูกค้าดีแทคจะได้ประโยชน์อย่างมากเพราะดีแทคไม่มีคลื่น 2600 MHz ซึ่งถือเป็นคลื่นมาตรฐานการให้บริการ 5G ดังนั้น การควบรวมธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์

ด้าน น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การประชุมวันที่ 12 ต.ค.นี้ บอร์ด กสทช.ต้องหารือข้อมูลใหม่ตามที่บอร์ดมีมติให้จ้างบริษัทวิจัยต่างประเทศศึกษาผลกระทบของผู้บริโภคจากการควบรวมกิจการบริการโทรศัพท์มือถือ คือ SCF Associates ซึ่งบอร์ดต้องมาหารือถึงขั้นตอนต่างๆ ในการลงมติ เบื้องต้น ยอมรับว่าผลการศึกษามีข้อกังวลถึงผลกระทบต่อตลาด รวมถึงการศึกษามาตรการเยียวยา ส่วนการที่เอกชนมายื่นเรื่องเร่งรัดให้บอร์ด กสทช.เร่งพิจารณาเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจเอกชนได้ ขอยืนยันว่า กสทช.ไม่ได้ยื้อเรื่องนี้ ซึ่งส่วนตัวอยากให้เรื่องนี้จบโดยเร็วเช่นกัน คาดไม่เกินสิ้นเดือน ต.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น