ตลาดแอปเรียกรถ หรือ ride-hailing ในไทยส่อแววแข่งเดือด โดยเฉพาะเซกเมนต์นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสถูกดูดไปสู่บริการน้องใหม่อย่าง “แอร์เอเชีย ไรด์” (airasia ride) จากภาพน้องใหม่สายการบินต้นทุนต่ำที่เบียดยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการบินขึ้นมาเติบโตอย่างโดดเด่นได้สำเร็จ วันนี้ airasia กำลังขยับโฟกัสมาปฏิวัติอุตสาหกรรมแอปเรียกรถอย่างจริงจัง โดยย้ำว่า airasia จะเป็นสายการบินแรกที่สามารถรับส่งผู้โดยสารได้จากหน้าประตูบ้านทั้งขาไปและขากลับ
อีกนัยของการประกาศเช่นนี้ คือ การกวาดโกยทุกเม็ดเงินที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการเดินทางของลูกค้า airasia ไอเดีย “ไม่ยอมให้เงินรั่วไหลไปที่อื่น” นี้นำไปสู่วิสัยทัศน์ด้านดิจิทัลของ airasia เพื่อสานต่อการดำเนินงานของโกเจ็ก (Gojek) อาวุธที่ airasia ควักสตางค์ซื้อมาเพื่อต่อสู้กับแกร็บ (Grab) รวมถึงแอปเรียกรถรายอื่นที่แข่งขันกันดุเดือดเลือดสาดอยู่แล้วในกรุงเทพฯ
เวลานั้น airasia ฮุบธุรกิจบริการเรียกรถและชำระเงินของ Gojek ในประเทศไทยด้วยมูลค่ารวมกัน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยูนิคอร์นจากจาการ์ตานั้นได้รับหุ้น 4.76% ใน airasia Digital การร่วมทุนทางดิจิทัลรอบนี้เคยใช้ชื่อว่า RedBeat Ventures และเปิดตัวในปี 2561 ซึ่งทำให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ของ airasia ประกอบด้วยแอปพลิเคชันมือถือ ได้พัฒนาเป็นซูเปอร์แอปที่ให้บริการซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสายการบิน เช่น บริการอีคอมเมิร์ซสำหรับผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และความงาม บริการโลจิสติกส์ข้ามประเทศ บริการส่งอาหาร และบริการชำระเงิน ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาเล่นๆ เพราะบริษัทร่วมทุนอย่าง airasia Digital มีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมในมาเลเซีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกับกูเกิล (Google) เพื่อจัดหาวิศวกรซอฟต์แวร์และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำนวนมาก
หากเจาะลงไปเฉพาะบริการแอปเรียกรถ airasia นั้นเริ่มให้บริการในมาเลเซียตั้งแต่สิงหาคม 2564 ในช่วง 1 ปี airasia ride ทำยอดเรียกใช้บริการรถรับส่งครบ 2 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นเร็วมากหลังจากให้บริการรับส่งครบ 1 ล้านครั้ง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนกระทั่งคนไทยได้เห็นภาพการเปิดตัว airasia ride ในฐานะบริการเรียกรถแท็กซี่ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อ 31 พฤษภาคม 2565 เพียงไตรมาสเดียวที่ให้บริการในไทย สถิติจาก data.ai ชี้ว่ายอดดาวน์โหลดแอป airasia ride ในไทยคิดเป็น 19.2% ของยอดดาวน์โหลดรวมทั่วโลก 7.67 ล้านครั้ง ทำให้ไทยเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 ของ airasia ride ในขณะนี้
ตัวเลขนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวที่นำพา “ความหนาว” มาให้ Grab, LineMan และคนในวงการแอปเรียกรถ แต่เป็นกลยุทธ์สุดกร้าวที่ airasia ride กำลังประกาศในโอกาสให้บริการแอปเรียกรถครบ 1 ปี กลยุทธ์นั้นคือการเปลี่ยน “ไรเดอร์” หรือพาร์ตเนอร์คนขับอิสระให้มาเป็นพนักงานประจำที่มีสวัสดิการสวยหรูครบเกือบเทียบเท่าลูกเรือในเที่ยวบิน เป็นการนำร่องก่อนในมาเลเซีย ในฐานะภารกิจยกระดับคุณภาพชีวิตพร้อมรับผิดชอบต่อสังคม
***ใช้งบ CSR ดูดไรเดอร์ อุ้มค่าธรรมเนียมน้อย-ให้ส่วนลดเที่ยวบิน
ในทางทฤษฎี airasia ride เป็นส่วนหนึ่งของ airasia Super App ซึ่งมีงานรองรับไรเดอร์ทั้งส่วน airasia food และ airasia xpress ทั้ง 2 บริการนี้มีการเสนอให้ไรเดอร์มาเป็นพนักงานประจำในมาเลเซียตั้งแต่สิงหาคม 65 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม CSR ตอบเเทนสังคมของ airasia Super App แต่ในทางเทคนิค การเปลี่ยนบทบาทจากการจ้างงานอิสระมาเป็นการจ้างงานแบบประจำในมาเลเซียถูกเรียกว่าโปรแกรม Allstar Ride Hailing Driver เป็นโปรแกรมเพิ่มเติมมาจากพาร์ตเนอร์คนขับที่มีสัญญา (Contract Drivers Program) และพาร์ตเนอร์คนขับอิสระ (Independent Drivers program)
โครงการนี้ขีดเส้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 65 พาร์ตเนอร์คนขับที่ผ่านการรับรองในระบบและผู้ขับรายใหม่จะสามารถเข้าร่วมโครงการ Allstar Ride Hailing Driver หรือการว่าจ้างพนักงานอิสระสู่งานประจำได้ในมาเลเซีย ซึ่งพาร์ตเนอร์คนขับที่เข้าร่วมโครงการในประเทศมาเลเซียนี้จะได้รับการสนับสนุนที่ช่วยให้มีรายได้ขั้นพื้นฐานต่อเดือน อีกทั้งยังมีสวัสดิการค่าน้ำมันให้ ซึ่งจะสร้างโอกาสให้พาร์ตเนอร์คนขับที่เข้าเป็นพนักงานมีรายได้ประจำ
นอกจากนี้ คนขับที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ยังมีสิทธิได้ผลประโยชน์จากสวัสดิการ Allstar เช่นเดียวกับพนักงานประจำ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ประกันรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถึงบุตรและคู่สมรส วันหยุดประจำปี ตลอดจนส่วนลดการเดินทางสำหรับพนักงานที่เดินทางกับสายการบินของบริษัท
นอกจากนี้ พาร์ตเนอร์คนขับที่เข้าร่วมโครงการ Allstar Ride Hailing Driver ยังได้รับโอกาสการเข้าถึงการรับส่งผู้โดยสารที่สนามบินได้ก่อนใคร เพิ่มโอกาสทางด้านรายได้ให้มากขึ้นในช่วงที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาค
รายละเอียดสวัสดิการนี้ใช้กับมาเลเซียเป็นประเทศแรก โปรแกรมจะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคและประเทศ ดังนั้น ไรเดอร์ผู้ขับ airasia ride ในไทยจะต้องรอตรวจดูรายละเอียดที่แน่ชัดอีกครั้ง
นับตั้งแต่ airasia ride เปิดให้บริการทั่วอาเซียนตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ถึงตอนนี้จำนวนคนขับที่ลงทะเบียนร่วมเป็นพาร์ตเนอร์มีมากถึง 53,000 คน เป็นไรเดอร์ในไทย 3,000 คน ถือเป็นหนึ่งในแอปเรียกรถที่เติบโตเร็วที่สุด ตรงนี้ airasia เคลมว่าตัวเองเป็นผู้นำในการคิดค่าบริการที่เป็นธรรม ทั้งค่าโดยสารที่ยุติธรรมต่อลูกค้า และค่าตอบแทนที่เป็นธรรมต่อคนขับ
ในเว็บไซต์ airasia ride ระบุว่า ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มที่ชาร์จจากไรเดอร์ผู้อยู่ในโครงการ Allstar จะมีสัดส่วน 15% ตัวเลขนี้ต่ำกว่า Grab ที่คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการแอปพลิเคชันจากไรเดอร์ 25% โดยหักจากกระเป๋าเครดิตรับงานทุกครั้งที่ไรเดอร์กดรับงาน
***ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม แคปปิตอล เอ กล่าวว่า airasia เป็นบริษัทแรกในภูมิภาคที่ให้ข้อเสนอการจ้างงานแบบประจำเต็มเวลาแก่คนขับที่ผ่านการรับรอง โดยบอกว่าเป็นการตัดสินใจสร้างสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการ
“ในธุรกิจแอปเรียกรถ พาร์ตเนอร์คนขับถือเป็นบุคลากรอันสำคัญยิ่งของเรา นับตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มทำธุรกิจ airasia ride สิ่งสำคัญที่สุดของเรา คือ การดูแลพาร์ตเนอร์คนขับของเราให้ดี และเราภูมิใจมากที่เป็นผู้นำตลาดในวงการแอปเรียกรถด้วยการประกาศในวันนี้” โทนี่ระบุ “คนขับทุกคนสามารถเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมพาร์ตเนอร์คนขับที่มีสัญญา (Contract Drivers Program) หรือเป็นพนักงานประจำแบบ Allstar (Allstar Ride Hailing Drivers) ซึ่งจะได้รับค่าจ้างที่ดีกว่าและโอกาสเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพ เช่น ผู้จัดการดูแลพาร์ตเนอร์คนขับ โค้ชคนขับ หรือผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ”
โทนี่ ย้ำว่าไรเดอร์ที่เข้าร่วมโครงการเป็นพนักงานประจำ จะถือว่าได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแคปปิตอล เอ โดยการมาเป็นลูกจ้างประจำจะทำให้ได้รับสวัสดิการและผลประโยชน์แบบ Allstar เช่นเดียวกับพนักงานประจำ และจะได้รับความมั่นคงทางรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานให้ดีขึ้น รวมถึงผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุ เป็นการเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตและเส้นทางอาชีพ ซึ่งในวันหนึ่ง ไรเดอร์อาจกลายเป็นลูกเรือ นักบิน นักวิเคราะห์ นักการตลาดดิจิทัลก็ได้
นี่เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ airasia ride ที่จะดึงดูดและรักษาคนขับให้เข้ามาร่วมงาน และให้บริการได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ความต้องการการจองรถรับส่งแบบออนไลน์กำลังพุ่งขึ้นสูง ปัจจุบัน airasia ride ให้บริการใน 11 เมืองทั่วประเทศมาเลเซีย และมีแผนจะเปิดตัวในสิงคโปร์ อินโดนีเซียในปีนี้ด้วย
การขยายไปยังอินโดนีเซียและสิงคโปร์ภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้ airasia ride แข่งขันกับ Grab โดยตรงในระดับภูมิภาค จุดนี้ผู้เล่นทุกรายในตลาดจะต้องเตรียมรับมือให้ดีกับความร่วมมือใหม่ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากโทนี่ย้ำว่า airasia ไม่ต้องการสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง บริษัทอาจร่วมมือกันหรือมองหาโอกาส เพื่อให้สามารถค้นพบเทคโนโลยีและชุดความรู้ที่เหมาะสม
“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว ผมรู้ว่าเราเล็กในภาคธุรกิจบริการเรียกรถ แต่ก่อนหน้านี้เราก็เคยเล็กในอุตสาหกรรมสายการบินมาก่อนเช่นกัน”
มั่นใจเบอร์นี้ จะไม่ให้ Grab หนาวได้อย่างไรไหว!?