“ชัยวุฒิ” เร่งหาเงินเคลียร์หนี้ NT ที่ค้างค่าบำรุงรักษาโครงการเน็ตประชารัฐอยู่ 3,600 ล้านบาท หลังขอเงิน กสทช.แล้ววืด เตรียมชงเข้าบอร์ดดีอีของบประมาณ ลั่นต้องวางแผนระยะยาวเพื่อจ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท ให้โครงการเดินหน้าต่อ ส่วนโครงการฟรีไวไฟชุมชนรายได้น้อย อยู่ระหว่างทำเรื่องของบประมาณ กสทช. 300 ล้านบาท
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสกำลังอยู่ระหว่างการเสนอวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เพื่อของบประมาณสำหรับจ่ายค่าบำรุงรักษาโครงการเน็ตประชารัฐที่ค้างจ่ายหนี้ให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ตั้งแต่ปี 2561 เป็นจำนวนเงินกว่า 4,000 ล้านบาท แต่หลังจากเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ NT ลดให้เหลือ 3,600 ล้านบาท เนื่องจากดีอีเอสไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ และได้เคยทำเรื่องขอเงินจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว แต่ไม่เข้าเงื่อนไขของกองทุน กสทช. ดังนั้น ดีอีเอสต้องพิจารณาถึงงบประมาณในระยะยาวที่ต้องใช้งบงประมาณในส่วนนี้ปีละ 1,000 ล้านบาท ด้วยว่าจะสามารถของบจากกองทุนดีอีหรืออาจจะตั้งเป็นงบประมาณประจำของกระทรวงดีอีเอส
เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญ มีประโยชน์ และทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ที่เอกชนไม่เข้าไปลงทุนเพราะความหนาแน่นของประชากรไม่สอดคล้องกับการทำธุรกิจ เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งนอกจากโครงการเน็ตประชารัฐแล้ว ดีอีเอสยังได้ของบประมาณจาก กสทช. 300 ล้านบาท ในการทำโครงการฟรีไวไฟ เพื่อชุมชนที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลทำถือว่าไปถูกทางแล้ว
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านดิจิทัลที่น่าพอใจจากรายงานระดับโลกของ We are Social โดยรายงานอัปเดตล่าสุด Digital 2022 July Global Statshot Report ซึ่งทำการเก็บข้อมูลจากมากกว่า 220 ประเทศ พบว่า สถานะด้านดิจิทัลของประเทศไทยบนแผนที่โลกติดอันดับต้นๆ ในหลายหัวข้อ ได้แก่ อันดับ 1 ของโลกในการซื้อสินค้าออนไลน์ อันดับ 3 ในเรื่องความเร็วเน็ตบ้าน (Fixed Internet Connection Speed) ด้วยสปีดที่อัปขึ้นจากปีก่อนหน้า 15.9% สัดส่วนการใช้มือถือของคนไทยมากกว่า 95 ล้านเลขหมาย กว่า 77% ของประชากรไทยเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ดี สิ่งที่กระทรวงดีอีเอสอยากจะเร่งผลักดันในลำดับถัดไปเพื่อปลดล็อกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ คือ ดิจิทัลไอดี (Digital ID) ที่ช่วยให้การยืนยันตัวตนทางออนไลน์ทำได้ง่ายสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ใช้คิวอาร์โค้ดแทนสำเนาบัตรประชาชนหรือการแลกบัตรประชาชนเพื่อความปลอดภัยและสามารถตรวจสอบในระบบได้ว่าเป็นคนนั้นจริง โดยขณะนี้กำลังคุยกับกระทรวงมหาดไทยจัดทำระบบยืนยันตัวตนผ่านการสแกนใบหน้า ซึ่งตั้งใจจะทำให้เสร็จภายในปีนี้