xs
xsm
sm
md
lg

Smart hospital ในความคิด ‘ฐากร’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เร่งจัดทำโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart hospital) ช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน อุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.ได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก ‘Takorn Tantasith’ เสนอให้รัฐบาลควรเร่งจัดทำโรงพยาบาลนำร่องอัจฉริยะ (Smart hospital) ขึ้น “จังหวัดละหนึ่งภาค” โดยระบุว่า

นับวันประเทศไทยต้องทุ่มเทงบประมาณด้านสาธารณสุขมากกว่าหนึ่งแสนล้านต่อปี และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี ประกอบกับตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ

จากข้อมูลเบื้องต้น มีคนไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากร ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติที่ว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อพุ่ง น้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคา รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขอย่างหนักหน่วง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลนอกจากจะต้องดูแลค่ารักษาพยาบาลสำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ยังจะต้องมาดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากอีก นอกจากจะเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นภาระกับประชาชนทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาหมอ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในกรณีที่การรักษาไม่ครอบคลุมสิทธิอีกต่างหาก

ประเทศไทยเดินหน้าเทคโนโลยี 5G ก่อนใครในกลุ่มอาเซียน ถ้ารัฐบาลเร่งเครื่องเดินหน้าให้ไทยมีระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะทั่วประเทศก่อนใครในอาเซียนอีกครั้งจะเป็นอีกหลักชัยของรัฐบาลแน่นอน

โรงพยาบาลอัจฉริยะนอกจากจะสามารถลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ภาคประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้แล้ว จะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ผมเสนอรัฐบาลเร่งจัดทำโรงพยาบาลนำร่องอัจฉริยะ (Smart hospital) ขึ้น “จังหวัดละหนึ่งภาค” ก่อน โดยจังหวัดนำร่องดังกล่าวจะต้องจัดทำฐานข้อมูลของคนไข้ในจังหวัดให้บูรณาการกันในจังหวัดให้ได้ ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดใด เดินทางไปรักษาที่ไหนในจังหวัดนั้น หากคนไข้ยินดีให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองแล้ว โรงพยาบาลก็สามารถบูรณาการการรักษาต่อเนื่องไปได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ชื่อนายเอ มีประวัติคนไข้ (HN) ที่โรงพยาบาลอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีธุระเดินทางไปหาญาติที่อำเภอชนบท ขอนแก่น เกิดเจ็บป่วยไม่สบายที่อำเภอชนบท หากคนไข้อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้ เพียงแต่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวติดตัวไปก็สามารถที่จะทราบประวัติการรักษาต่างๆ ของนายเอ ที่อำเภอน้ำพองได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปเจาะเลือดใหม่ คนไข้แพ้ยาอะไร คนไข้มีโรคประจำตัวอะไร คนไข้เคยใช้ยาอะไรรักษา เป็นต้น

โครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ นอกจากภาครัฐจะประหยัดเงินในการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องไปเริ่มต้นการรักษาพยาบาลใหม่แล้ว ประชาชนเองก็ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินทางมารักษาด้วย

ขั้นตอนในการจัดทำโรงพยาบาลให้เป็นอัจฉริยะกล่าวคือ จะต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลคนไข้ให้กันได้ มีระบบสัญญาณ 5G ที่มีความเสถียรใช้งาน บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความพร้อม นอกจากนี้ โรงพยาบาลใหญ่ๆ ในจังหวัดสามารถเปิดการรักษาผ่านระบบ 5G ได้เลย โดยหลายโรค คนไข้เพียงแค่เดินทางไปรอพบหมอผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ใกล้บ้านเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาลจังหวัดอีก ซึ่งการรักษาผ่านระบบ 5G จะเสมือนหนึ่งว่าคนไข้ได้พบหมอและตรวจรักษากับหมอโดยตรง หมอจะวินิจฉัยและวิเคราะห์ได้เลยเช่น โรคตา โรคความดัน โรคผิวหนัง โรคเบาหวาน เป็นต้น

ผมอยากจะเสนอรัฐบาลรีบจัดทำเถอะครับ คัดเลือกจังหวัดนำร่องจังหวัดละภาค เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าคัดเลือกจังหวัดขอนแก่นนำร่อง ก็ต้องบูรณาการฐานข้อมูลของคนไข้ทั้งจังหวัด จัดเตรียมสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระบบ 5G และบุคลากรให้พร้อมทุกโรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น ผมว่าทำได้ไม่ยากเลยครับ

ต่อไปประชาชนไปติดต่อโรงพยาบาลในจังหวัด นำไปแค่บัตรประชาชนเพียงใบเดียวก็สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงแล้วครับ

หากทำโครงการนำร่องสำเร็จแล้วค่อยๆ ขยายไปจังหวัดอื่นเพิ่มเติม ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 3 ปีให้ทั้งประเทศเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะทั้งหมด ถ้าทำสำเร็จได้ตามนี้ มั่นใจได้เลยว่าคะแนนเสียงกลับมาตรึม


กำลังโหลดความคิดเห็น