xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับวิศวกร Samsung ทำไม ‘สมาร์ทโฟนจอพับ’ ถึงท้าทายการออกแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากมีประสบการณ์ในการพัฒนาสมาร์ทโฟนจอพับมาต่อเนื่องถึง 3 รุ่น ก่อนที่จะเปิดตัว Samsung Galaxy Z Fold 4 ในช่วงปลายปีนี้ ทางซัมซุง ได้เปิดให้พูดคุยกับทีมงานวิศวกร และนักออกแบบถึงความท้าทายในการพัฒนาสมาร์ทโฟนจอพับออกมาเป็นรูปแบบใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคได้ใช้งานกัน

ที่ผ่านมา ซัมซุงถือเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนจอพับ โดยได้รับอานิสงส์ส่วนหนึ่งมาจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เริ่มหันมาทำงานบนสมาร์ทโฟนมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจของดีลอยท์ ที่พบว่า 70% ของผู้ใช้งานมือถือที่ได้ลองใช้งานสมาร์ทโฟนจอพับแล้วจะไม่กลับไปใช้งานในรูปแบบเดิม

โดยในช่วงแรกกลุ่มผู้ที่เริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนจอพับจะมาจากผู้ที่สนใจเทคโนโลยี จนเริ่มคิดว่าเป็นเพียงการใช้งานสมาร์ทโฟนรูปแบบ แต่ในความเป็นจริงกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนมากยังตื่นเต้นกับสมาร์ทโฟนจอพับกันอยู่ เมื่อประกอบกับประสบการณ์ใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ ที่นักพัฒนาต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างรูปแบบการใช้งานที่สามารถดึงความสามารถของสมาร์ทโฟนจอพับออกมาได้

ขณะที่เป้าหมายระยะยาวของซัมซุง ที่ยังนำเสนอนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง คือการรักษาการใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ของผู้บริโภคให้เกิดการใช้งานต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไปจนถึงสมาร์ทวอทช์ เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกมากที่สุด


กลับมาที่ความท้าทาย ในการออกแบบ Samsung Galaxy Z Fold 3 และ Samsung Galaxy Z Flip 3 ในช่วงปีที่ผ่านมา สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟน Bar Type ทั่วไป สมาร์ทโฟนจอพับมีจุดที่ต้องปกป้องมากกว่า และที่สำคัญคือทำให้แน่ใจว่าจะสามารถพับ และกางใช้งานได้อย่างลื่นไหล แม้ว่าจะได้รับแรงกระแทกก็สามารถป้องกันตัวโครงเครื่องให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับการที่โจทย์ในการใช้งานของผู้ใช้สมาร์ทโฟนจอพับที่ได้รับกลับมาคือ อยากได้เครื่องที่มีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถใช้งานได้แบบไม่ต้องระมัดระวัง ทำให้การพัฒนาทั้ง Fold 3 และ Flip 3 กลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก


ซัมซุง เริ่มอธิบายตั้งแต่การเลือกนำเฟรมตัวเครื่องที่เป็น Armor Aluminum มาใช้ ที่เปรียบเหมือนโครงกระดูกของร่างกาย ที่เชื่อมต่อความแข็งแรงไปยังหน้าจอ และในขณะเดียวกัน ยังช่วยให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักที่ไม่มากเกินไป เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถถือใช้งานได้ต่อเนื่อง ไม่รู้สึกว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่มีขนาดใหญ่เกินไป และถือว่าได้แก้โจทย์ในเรื่องของความแข็งแรงไปในตัว


จุดถัดมาที่มีความท้าทายมากขึ้นคือการทำให้สมาร์ทโฟนจอพับกันน้ำได้ เพราะต้องออกแบบให้มั่นใจว่าจะไม่มีช่องว่างใดๆ ที่ทำให้น้ำเข้า โดยมี 3 ส่วนหลักที่ต้องป้องกันคือ หน้าจอ บริเวณข้อพับ และบริเวณเชื่อมต่อสายแพหน้าจอ ที่ซัมซุง ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละจุด เริ่มจากหน้าจอมีการนำเทปกันน้ำเข้ามาคลุมในจุดสำคัญๆ โดยที่จะต้องระวังในเรื่องของความเหนียว และความยืดหยุ่นให้เหมาะสม


ต่อมาในส่วนของข้อพับ (Hinge) ที่นำน้ำมันหล่อลื่นมาเคลือบทำให้สามารถกันน้ำได้ และในจุดนี้ต้องมีการป้องกันไม่ให้เศษฝุ่นแข็งลอดเข้าไปทำความเสียหายกับหน้าจอ จึงมีการนำไนลอนไฟเบอร์ที่มีความยืดหยุ่นสูงเข้ามาช่วยลดช่องว่างระหว่างข้อต่อกับหน้าจอ

เมื่อเห็นถึงรายละเอียดที่ลึกมากขึ้น และความใส่ใจของทีมพัฒนาแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าหลังจากนี้ เมื่อ Galaxy Z Fold รุ่นใหม่เปิดตัวจะได้เห็นนวัตกรรมที่พัฒนาจากฟีดแบ็กของผู้ใช้งานอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น