เปิดแนวคิด ‘สยาม เตียวตรานนท์’ ซีอีโอ TKC พลิกมุมมองงาน CSR จากเดิมที่เป็นแค่การบริจาคระบบไอที หรือการสร้างอาคารเรียน สู่หนทางสร้างความยั่งยืนด้วยการนำเทคโนโลยีสื่อสารและไอที เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยระบบสมาร์ท โซลูชัน นำร่องโครงการสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ร่วมกับ ‘มูลนิธิณัฐภูมิ’ ที่จังหวัดลำปาง โดย TKC หวังผลสำเร็จให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร และบริษัทสามารถพัฒนาต่อยอดนำโซลูชันด้านการเกษตรขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศ
สยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC กล่าวว่า ธุรกิจที่จะเป็นอนาคตของ TKC ในปี 2565 นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในเรื่องงานระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล ระบบรักษาความปลอดภัยสาธารณะและระบบบริการดูแลบำรุงรักษา TKC ได้เผยโฉมธุรกิจใหม่ด้าน Cyber Security, Cloud และ Smart Solution โดยวางเป้าหมาย Smart Solution ไว้ 6 สายงานหลัก ประกอบด้วย 1.Smart Farming 2.Smart Logistic 3.Smart Education 4.Smart Airport 5.Smart Factory และ 6.Smart Hospital
ในงานด้าน Smart Hospital TKC มีประสบการณ์จัดทำโครงการร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ด้วยการนำเสนอระบบ Hybrid Cloud, Blockchain, AI และจากความสำเร็จในการร่วมมือครั้งนี้ TKC เตรียมนำโซลูชันขยายไปช่วยพัฒนาโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป
‘สำหรับ Smart Logistic นั้น TKC เตรียมรับข่าวดีในเร็วๆ นี้หลังจากได้ศึกษาและเตรียมงานร่วมกับพันธมิตรมากว่า 2 ปี โครงการนี้เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนายกระดับการบริหารจัดการในภาพรวม รวมถึงตอบโจทย์ในการนำไปสู่ธุรกิจออนไลน์ใหม่ๆ’
นอกเหนือจากธุรกิจหลัก TKC ยังให้ความสำคัญกับโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) แบบยั่งยืน ซึ่งในอดีต TKC อาจทำแค่การแจกอุปกรณ์ มอบทุนการศึกษาหรือการสร้างอาคารโรงเรียน แต่ในปี 2565 นี้ TKC มีเจตนารมณ์และความท้าทายในการปรับรูปแบบโครงการ CSR มาสู่โครงการ CSR แบบยั่งยืน โดยการเข้าไปร่วมศึกษาปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมและมีผลลัพธ์กับเป้าหมายอย่างแท้จริง
สำหรับเฟสต่อไปในปีนี้ TKC ตั้งเป้าจะพัฒนาเพิ่มขึ้นมาอีก 3 ระบบ คือ 1.ระบบโดรน ที่สามารถใช้ spectrum สแกนดูสภาวะและคุณภาพของพืชผลการเกษตรได้ 2.ระบบโซลาร์เซลล์ ที่นำพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้มูลนิธิฯ และเกษตรกร 3.นำระบบ IOT มาใช้สำหรับการเกษตรแบบระบบปิดโดยที่ระบบ IOT มีเซ็นเซอร์ สำหรับวัดคุณภาพดิน ความชื้น ความร้อน มลพิษ เพื่อยกระดับให้ผลผลิตการเกษตรมีคุณภาพสูงสุด
ทั้งนี้ หลังจากที่ TKC ได้เข้าไปร่วมศึกษาปัญหาร่วมกับมูลนิธิณัฐภูมิ ทำให้มองเห็นถึงปัญหาของรากหญ้าหรือประชากรส่วนใหญ่ในประเทศพบว่า การทำเกษตรยังเป็นอาชีพหลักของคนไทยส่วนใหญ่ และที่สำคัญเกือบทั้งหมดประสบปัญหาเดียวกันคือการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ขาดโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและวิชาการสมัยใหม่ รวมทั้งเกษตรกรมีอายุมาก เฉลี่ยแล้วมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ซึ่งคุ้นชินกับการทำเกษตรแบบไม่พึ่งพิงเทคโนโลยี
สำหรับเป้าหมายสูงสุดของ TKC คือความยั่งยืนที่ว่านั้นจะต้องส่งผลใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.เราจะนำเทคโนโลยีด้านการเกษตร มาช่วยทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 2.นำเทคโนโลยีมาแก้ไขและพัฒนากระบวนการทำงาน และ 3.เกษตรกรต้องมีต้นทุนในการทำเกษตรที่น้อยลง นั่นหมายความว่าเกษตรกรจะมีรายได้ที่มากขึ้น
คำถามที่ตามมาคือ TKC จะร่วมมือกับใคร?
‘มูลนิธิณัฐภูมิ’ ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปางของ ‘ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย’ ที่ ‘สยาม’ เรียกขานอย่างคุ้นเคยว่า ‘พี่อู๊ด’ โดยมูลนิธิฯ มีเป้าหมายที่ต้องการช่วยคนลำปางที่เป็นเกษตรกรแล้วมีหนี้สินล้นพ้นตัวให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือที่ลงตัวระหว่าง TKC กับมูลนิธิณัฐภูมิ
ในด้านมูลนิธิฯ มีการจัดอบรมเกษตรกรทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ และเชิญวิทยากรมาบรรยายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ปราชญ์ดิน เพื่อมาสอนแนวทางการทำเกษตรแบบมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ TKC ได้เข้ามาช่วยโดยนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม สำหรับในเฟสแรก TKC พัฒนาระบบคือ 1.‘ระบบหยดน้ำ’ (Drip irrigation) เป็นระบบเซ็นเซอร์ IOT เพื่อนำมาวิเคราะห์ดูสภาพดินที่ใช้เพาะปลูกโดยเก็บข้อมูลเพื่อควบคุมการใช้ปริมาณน้ำที่เหมาะสม
2.โดรนใช้เพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ แนวทางที่ดีที่สุดคือระบบต้องใช้งานง่าย หรือเรียกว่า ‘User Friendly’ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ในไร่ขนาดใหญ่ได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ โครงการ Smart Farming ถึงแม้เริ่มจากโครงการ CSR แต่ในสายตา ‘สยาม’ คือโอกาสรุกสู่ธุรกิจใหม่ ซึ่งยังไม่ใช่ในเวลานี้เพราะอยู่ในช่วงเรียนรู้ ลองผิดลองถูก แล้วนำมาแก้ไข ถ้า TKC สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรมจริง ในอนาคตโอกาสทางธุรกิจก็จะตามมาเอง
‘ในความคิดของผม ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถพลิกชีวิตและโลกธุรกิจ โดยเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการทำงาน เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนได้จริง เพียงแต่ว่าเราต้องศึกษาให้เข้าใจกระบวนการและปัญหาที่แท้จริง เราถึงจะ design เทคโนโลยีให้เหมาะสมได้ ถ้าเราประสบความสำเร็จในโครงการนี้ มูลนิธิฯ และ TKC จะเป็นตัวอย่างในการนำร่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับด้านการเกษตรและเป็นตัวผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับเกษตรกรในประเทศไทย’