นับเป็นประจำทุกปีที่ในช่วงเดือนพฤษภาคม กูเกิล (Google) จะมีการจัดงานประชุมนักพัฒนา Google I/O ที่ในช่วงนี้เริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลักในการนำเสนอ แม้ว่าสำนักงานหลายๆ แห่งของกูเกิลจะเริ่มกลับเข้าไปทำงานภายในออฟฟิศแล้วก็ตาม เบื้องต้น กูเกิล คาดการณ์ว่าจะมีนักพัฒนาเข้าร่วมกว่า 1.8 แสนคน จาก 191 ประเทศทั่วโลก และกว่า 85% ของผู้รับชมจะมาจากนอกสหรัฐฯ
เทรนด์หลักของงานประชุมนักพัฒนาในปีนี้ที่เกิดขึ้นคือ เรื่องของรูปแบบการทำงานที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันทั่วโลก จากสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ที่มาเร่งให้เกิดการนำดิจิทัลเข้ามาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องมือต่างๆ ของกูเกิลได้เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำงาน
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากผู้บริโภคเริ่มเข้าสู่ยุคของไฮบริดเวิร์ก และทุกคนต่างเห็นพ้องกันคือเรื่องข้อดีของการจัดการเวลาที่สามารถปรับเวลาทำงานให้เหมาะสมได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งปัญหาที่ตามมาคือปริมาณการประชุมที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 25% จนกลายเป็นไม่มีเวลาในการทำงานอื่นๆ
***เพิ่มฟีเจอร์ WorkSpace ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน
ในมุมของกูเกิล สิ่งที่จะช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้คือการนำพลังของ AI มาใช้งาน เพื่อให้เครื่องมืออย่าง Google WorkSpace มีความฉลาดเพิ่มมากขึ้น และรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน
ปัจจุบัน บริการของ Google WorkSpace จะครอบคลุมทั้งบริการอย่าง Gmail ปฏิทินและการจัดการนัดหมาย (Google Calendar) บริการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Google Drive) บริการประชุมสนทนาออนไลน์ (Google Meet) และชุดเครื่องมือจัดการเอกสารไม่ว่าจะเป็น Google Docs Sheet และ Slide ที่ชูจุดเด่นในเรื่องของการทำงานร่วมกันในทีมแบบออนไลน์
โดยภายในงานปีนี้ ได้แนะนำฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแบบไฮบริดเวิร์กที่น่าสนใจหลากหลายอย่าง เริ่มกันที่การสรุปข้อมูลจากแชตและอีเมลในองค์กร (Summaries) ที่จะนำ AI เข้าไปช่วยคัดกรองข้อมูลสำคัญเพื่อทำเป็นสรุปย่อ ช่วยลดระยะเวลาในการเปิดอ่านอีเมลย้อนหลังเพื่อให้สามารถใช้เวลาไปกับงานสำคัญมากขึ้น
ส่วนภายใน Google Meet ที่ปัจจุบันเริ่มให้บริการถอดคำพูดในหลากหลายภาษาแล้ว หลังจากนี้จะเพิ่มบริการอย่างบันทึกการประชุมอัตโนมัติ (Automated meeting transcription) มาช่วยให้พนักงานที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานประชุมสามารถติดตามรายละเอียดย้อนหลังได้ทันที
นอกจากนี้ ยังเพิ่มคุณสมบัติของการประชุมออนไลน์ด้วยการนำ AI มาช่วยปรับการแสดงผลของกล้องให้คมชัดมากยิ่งขึ้น เพิ่มลูกเล่นอย่างไฟสตูดิโอเพื่อช่วยปรับแสงให้เห็นได้ชัดเจน รวมถึงระบบปรับเสียงอัตโนมัติที่ช่วยลดเสียงสะท้อนจากการประชุม ทำให้ได้ยินเสียงพูดชัดเจนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังเสริมในส่วนของความบันเทิงบน Google Meet ด้วยการเพิ่มความสามารถในการแชร์วิดีโอสตรีมมิ่ง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับชมพร้อมกัน และเปิดโอกาสให้สามารถควบคุม และสั่งงานไฟล์มัลติมีเดียได้ และในอนาคตมีโอกาสที่จะขยายไปใช้ร่วมกับการสตรีมมิ่งผ่านแอปพลิเคชันจากนักพัฒนาอื่นๆ ด้วย
ปิดท้ายด้วยเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่กูเกิลให้ความปลอดภัยเสมอมา ตั้งแต่การเริ่มต้นออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้ปัจจุบันกว่า 99.99% ของสแปมอีเมลถูกคัดกรองทิ้งไปบน Gmail พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มความสามารถใหม่ในการเข้าไปตรวจสอบลิงก์ที่อยู่ใน WorkSpace ทั้งไฟล์เอกสารใน Docs Slide Sheet และทำการแจ้งเตือนในกรณีที่ตรวจพบไฟล์ต้องสงสัยที่มีอันตราย ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัยในการทำงานแบบไฮบริดเวิร์กมากยิ่งขึ้น
***ความเป็นส่วนตัวที่ผู้ใช้ควบคุมได้
ในประเด็นของความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว (Security & Privacy) สิ่งที่กูเกิลยึดมั่นมาตลอดคือเรื่องของการตั้งค่าที่เริ่มต้นจากความปลอดภัยของผู้ใช้ (Secure by default) พร้อมกับตั้งต้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการที่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ (Private by Design) และที่สำคัญคือทุกข้อมูลความปลอดภัยต่างๆ ต้องเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุม และจัดการได้ (You’re Control)
สิ่งที่ตามมาใน Google I/O 2022 คือการที่กูเกิลประกาศเพิ่มเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในการพัฒนาระบบป้องกันภัยคุกคามขั้นสูงเพิ่มเติมจากปัจจุบันขึ้นไปอีกขั้น พร้อมกับพัฒนาทักษะดิจิทัลทางด้านความปลอดภัยให้แก่บุคลากรมากกว่า 100 คน ผ่านโปรแกรมพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร
โดยปัจจุบันกูเกิลได้เริ่มบังคับให้ผู้ใช้งานบัญชีที่สมัครใหม่ทุกรายต้องใช้งานระบบยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน พร้อมกับแนะนำให้ผู้ใช้เดิมเปิดการใช้งานเพื่อช่วยปกป้องการเข้าถึงบัญชีโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกับนำ AI มาช่วยในการคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ
สถิติที่เกิดขึ้นคือ Gmail ได้ทำการป้องกันสแปมอีเมลไปแล้วมากกว่า 1.5 หมื่นล้านข้อความ Google Play มีการสแกนแอปพลิเคชันเพื่อช่วยป้องกันก่อนติดตั้งแอปลงบนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มากกว่า 1 แสนล้านครั้ง และการแจ้งเตือนล็อกอินได้ช่วยปกป้องการโจมตีบัญชีไปกว่า 5 พันล้านอุปกรณ์
พร้อมกันนี้ กูเกิลได้เตรียมเพิ่มความสามารถของ Google Chrome ที่ปัจจุบันให้บริการในส่วนของการเก็บรหัสผ่าน และข้อมูลบัตรเครดิต กรณีที่ใช้งานซื้อของผ่านบริการอีคอมเมิร์ซต่างๆ ด้วยการเพิ่มการทำบัตรเครดิตเสมือน เพื่อปกป้องข้อมูลเครดิตการ์ดใบจริงจากร้านค้า ซึ่งจะช่วยให้การซื้อของออนไลน์มีความปลอดภัยมากขึ้น
เบื้องต้น แนวคิดในการนำบัตรเครดิตเสมือนเพื่อชอปปิ้งออนไลน์เกิดขึ้นจากความต้องการป้องกันข้อมูลเครดิตการ์ดรั่วไหล ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากเว็บไซต์หรือร้านค้าที่โดนโจมตีซึ่งถ้ามีการใช้งานบัตรเครดิตเสมือนที่จำลองขึ้นแทน จะช่วยป้องกันข้อมูลในจุดนี้ได้มากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มรองรับทั้ง วีซ่า อเมริกันเอ็กซ์เพรส และแคปปิตอล วัน ก่อนขยายบริการไปยังมาสเตอร์การ์ดภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวได้มากที่สุด กูเกิล ได้ออกเครื่องมือใหม่เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถแจ้งลบข้อมูลส่วนตัวที่ปรากฏบนหน้า Google Search ได้ ทั้งในส่วนของเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ และอีเมล ซึ่งนับเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ควรเปิดเผยแบบสาธารณะโดยเมื่อพบเจอก็สามารถแจ้งลบได้แบบอัตโนมัติ
พร้อมกับเพิ่มระบบควบคุมโฆษณา (My Ad Center) กรณีที่โฆษณาไม่ตรงกับความสนใจ สามารถเลือกให้ไม่แสดงผลโฆษณานั้นๆ อีกครั้ง รวมถึงเข้าไปเลือกจัดการประเภทโฆษณาที่สนใจ เพื่อให้สามารถนำเสนอโฆษณาได้ตรงใจทั้งตามหัวข้อ แบรนด์ และเลือกปิดกั้นการโฆษณาอย่างเครื่องดื่ม หรือการพนันได้
***ค้นหา และสั่งงานด้วยเสียงที่สะดวกขึ้น
กลับมาที่บริการหลักของกูเกิล อย่างการค้นหาผ่าน Google Search ที่ปัจจุบันเพิ่มรูปแบบในการค้นหาให้มีความหลากหลายขึ้น ทั้งในส่วนของการค้นหาผ่านข้อความ รูปภาพ จนถึงเสียงที่ให้ความแม่นยำมากขึ้น จากฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการ ‘ค้นหา’ กูเกิล ได้เพิ่มฟีเจอร์ในการค้นหาจากหลายตัวแปร พร้อมกับเลือกเสนอข้อมูลเฉพาะในบริเวณใกล้ตัว หรือในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ด้วย
รูปแบบของการให้บริการคือ ผู้ใช้จะสามารถค้นหาผ่านข้อความ และรูปภาพพร้อมๆ กันได้ อย่างเช่น การค้นหาร้านอาหารจากรูปภาพบางส่วน พร้อมชื่อเมนู ที่จะแสดงผลออกมาเป็นร้านอาหารในบริเวณใกล้เคียง พร้อมเชื่อมต่อไปยัง Google Maps เพื่อนำทางไปยังร้านอาหารได้ทันที
ขณะที่ในส่วนของ Google Maps จะเพิ่มการแสดงผลแบบ Immersive ในเมืองใหญ่อย่าง ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว และทยอยขยายเพิ่มต่อไป รวมถึงการนำเสนอเส้นทางการเดินทางแบบรักษ์โลกที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ อย่างการใช้งานรถสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในเมืองที่รองรับด้วย
สุดท้ายคือการเพิ่มความสามารถของผู้ช่วยส่วนตัว (Google Assistant) ให้รองรับการสั่งงานด้วยเสียงได้ทันทีที่มองหน้าจอ Google Nest Hub หรือแตะที่ปุ่มไมค์ โดยไม่ต้องใช้คำสั่งเรียกอย่าง ‘Hey Google’ หรือ ‘โอเค กูเกิล’ เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว
โดยความสามารถในการสั่งงานด้วยเสียงรูปแบบใหม่นี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้งานที่เป็นเจ้าของ Google Nest สามารถสั่งงานข้อความที่ตั้งไว้ได้ทันทีหันไปมองหน้าจอ และตัวเครื่องตรวจพบใบหน้า หรือดวงตาที่ลงทะเบียนไว้ หรือการสั่งงานกับลำโพงอัจฉริยะ เพียงแค่แตะที่อุปกรณ์ก็สามารถสั่งได้ทันที ผ่านการใช้เสียงในการยืนยันตัวตน
กูเกิลให้ความมั่นใจว่าข้อมูลเสียงเหล่านี้จะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย และจะไม่มีการดักฟังการสนทนาต่างๆ เนื่องจากต้องมีปัจจัยเสริมในการเรียกใช้งานไมค์อย่างเช่นใบหน้า หรือการแตะสัมผัสที่ลำโพงก่อนเป็นต้น
*** Android 13 ขยายจุดศูนย์กลางจากมือถือสู่อุปกรณ์อื่น
สุดท้ายในส่วนของการอัปเดตระบบปฏิบัติการ Android ที่จะเตรียมปล่อย Android 13 ให้ใช้งานกันในช่วงปลายปีนี้โดยที่การเพิ่มความสามารถส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นนัยสำคัญในปีนี้
จุดที่น่าสนใจของ Android 13 คือกูเกิลเริ่มให้ความสำคัญกับอุปกรณ์อย่างสมาร์ทวอทช์ และแท็บเล็ตมากยิ่งขึ้น ด้วยการปรับแต่งเพิ่มเติมให้สมาร์ทวอทช์ที่ทำงานบน WearOS อย่าง Galaxy Watch4 สามารถใช้งานคำสั่งเสียง Google Assistant ได้แล้ว และปรับปรุงการใช้งานของแท็บเล็ตบน Android 13 ให้รองรับการใช้งานแบบมัลติทาสก์มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาสำหรับผู้ใช้งานแอนดรอยด์อีโคซิสเต็มที่จะได้ใช้งานกันในปลายปีนี้ จะมีทั้งฟีเจอร์การสลับการใช้งานหูฟังไร้สายระหว่างสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต รวมถึงการคัดลอกและวาง (Copy&Paste) ข้อความระหว่างอุปกรณ์ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และโครมบุ๊กที่ใช้งานบัญชีเดียวกัน เป็นต้น
ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการอัปเดตเรื่องความปลอดภัย อย่างการเข้ารหัสข้อความในการส่งข้อความสั้น (Google Messages) ปรับปรุงระบบ Google Wallet ให้รองรับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันมากขึ้น (ยังไม่รองรับในไทย) จนถึงการปรับแต่งการแจ้งเตือนของแต่ละแอปพลิเคชัน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานมากเกินไป
จะเห็นได้ว่าในภาพรวมของงาน Google I/O 22 ที่เกิดขึ้นนี้ กูเกิลจะเน้นไปที่การอัปเกรดบริการต่างๆ ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นเป็นหลัก