ชื่อของสกาย ไอซีที (SKY ICT) เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในแวดวงธุรกิจไอทีโซลูชัน โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังเข้าร่วมประมูลโครงการใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการ โดยเฉพาะวางระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่องให้แก่ท่าอากาศยานไทย (AOT) รวมถึงโครงการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) และการวางระบบสื่อสารอีกหลายรายการ
ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักของ SKY ICT กว่า 80% มาจากการเข้าร่วมประมูลโครงการภาครัฐ ส่งผลให้ในช่วงปีที่ผ่านมา SKY ICT ได้เริ่มกระบวนการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่การเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายสัดส่วนธุรกิจในการเข้าไปให้บริการภาคเอกชนเพื่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว
มองย้อนไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ SKY ICT ในปี 2562 นั้นพุ่งสูงถึง 3,971.87 ล้านบาท ตามมาด้วย 3,550.17 ล้านบาทในปี 2563 และปรับลดลงมาเหลือ 3,000.84 ล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าค่อนข้างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน
แต่เชื่อว่าด้วยสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ มีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการยกเลิกมาตรการ Test & Go ทำให้ในช่วงหลังจากนี้รายได้จากกลุ่มธุรกิจการบินจะฟื้นตัวกลับมา เมื่อรวมกับงานที่เข้าทำสัญญาและงานที่รอส่งมอบ (Backlog) กว่า 17,216 ล้านบาท ที่จะทยอยสร้างรายได้กลับเข้าสู่บริษัท ทำให้คาดว่าในปีนี้ SKY ICT จะสามารถสร้างอัตราการเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 15%
ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ระบุถึงเป้าหมายสำคัญของการทำธุรกิจคือ ต้องการเป็นพลังที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลง และผลักดันให้สังคมไทยดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน และจากระดับโลกเข้ามาสู่ในประเทศไทย ทำให้เชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไปได้ยิ่งขึ้น โดยในช่วงปีที่ผ่านมา SKY ICT ได้พัฒนาแพลตฟอร์มที่น่าสนใจขึ้นมาให้บริการแก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัย ภายใต้ชื่อ ‘ทศกัณฐ์’ (TOSSAKAN) ก่อนต่อยอดสู่ระบบบริหารจัดการการเข้าใช้พื้นที่ในอาคารอย่าง ‘วิมาน’ (VIMARNN) ที่เพิ่งเปิดตัวในปีนี้
ขณะที่ฝั่งของธุรกิจการบิน ได้พัฒนาแอปพลิเคชันอย่าง Sawasdee By AOT ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางหลักในการให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่พร้อมเปิดระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับบริการดิจิทัลต่างๆ ได้ แสดงให้เห็นถึงความครอบคลุมในแง่ของความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย
3 Tech Talent Transformation ในการทรานส์ฟอร์มคน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคน ทั้งการ Reskills และ Upskills เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์การทำงานในยุคปัจจุบันที่มีเรื่องของ Hybrid Works เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
‘SKY ICT ได้วางแผนใหญ่อย่าง Connecting Thailand เพื่อเชื่อมต่อให้องค์กร เศรษฐกิจ และสังคมไทยให้ดีขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีระดับโลกเข้ามาให้บริการแก่คนไทย ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องของพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นสูง การต่อยอดของข้อมูลด้วยการนำ AI มาช่วยงาน และการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลเพื่อให้รับกับความต้องการของตลาด’
โดยทาง SKY ICT ได้แบ่งกลุ่มกลยุทธ์ออกมาเป็น 3 แกนหลักด้วยกันเพื่อให้ครอบคลุมเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย การเข้าไปให้บริการในภาคธุรกิจ และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนกำลังคนทางเทคโนโลยี
*** นำเทคโนโลยีขั้นสูงให้บริการคนไทย
เริ่มกันจาก 1.Advanced Tech ด้วยการเข้าไปจับมือกับพันธมิตรระดับโลกนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาให้บริการแก่คนไทย ทั้งในเรื่องของ IoT, Big Data, Cloud ที่ถูกนำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นโซลูชันที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ที่เห็นภาพได้ชัดเจนมากที่สุดคือการเข้าไปให้บริการในส่วนของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการบิน (Aviation Tech) ซึ่งปัจจุบัน SKY ICT ได้สัญญาจ้างงานในการให้บริการระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing System : CUPPS) กับท่าอากาศยานไทย (AOT) เริ่มให้บริการในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ
โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าโครงการกว่า 8,620 ล้านบาท ที่ครอบคลุมระยะเวลาให้บริการ 10 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2573 ที่จะเข้าไปช่วยดูแลระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Check-in) ระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Self Check-in Kiosk) ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ จนถึงระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ และระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ที่จะนำความเชี่ยวชาญของระบบตรวจจับใบหน้า (Facial Recognition) ร่วมกับการพิสูจน์ยืนยันตัวตน (Biometrics) มาช่วยในการเช็กอินผู้โดยสาร ซึ่งถ้าลงทุนแล้วเสร็จจะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น
อีกบริการที่เกิดขึ้นแล้วคือการปรับปรุงแอป Sawasdee by AOT ให้กลายเป็นซูเปอร์แอปสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อ และต่อยอดการใช้ชีวิตในประเทศไทย สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด ตั้งแต่การเดินทางเข้าสนามบิน เบื้องต้น แอปรองรับการตรวจสอบเที่ยวบิน จองบริการอย่างรถเช่า บริการช่วยขนกระเป๋า แผนที่นำทางภายในอาคาร แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารในประเทศไทย สะสมคะแนนเพื่อแลกรับของรางวัลได้
ส่วนในเฟสถัดไปจะมีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทซิตีแอป เพื่อเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบให้รองรับพันธมิตรร้านค้าออนไลน์ที่สนใจเข้ามานำเสนอสินค้า และบริการให้นักท่องเที่ยว
‘ในช่วงที่ผ่านมาบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามากว่า 40 ล้านคน ลดเหลือไม่ถึง 4 ล้านคน ซึ่งคาดว่าหลังจากการเปิดประเทศ และยกเลิกนโยบายคัดกรองบางอย่างจะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศได้ พร้อมตั้งเป้าว่า 10% ของนักเดินทางที่เข้ามาจะใช้บริการแอป Sawasdee by AOT’
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของแอป Sawasdee by AOT นั้นมีค่อนข้างเยอะ เนื่องจากถ้าไม่ใช่นักเดินทางก็ไม่มีความจำเป็นต้องโหลดแอปมาใช้งาน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการเชื่อมโยงกับสนามบิน และบริการอื่นๆ ที่ครอบคลุมการท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น รวมถึงบริการจองคิวรถแท็กซี่ในสนามบิน เพื่อให้ได้คิวพิเศษสำหรับผู้ที่จองล่วงหน้าด้วย
*** ต่อยอดแพลตฟอร์มความปลอดภัย
2.AI-Empowered Solution ในการพัฒนาโซลูชันที่นำความสามารถของ AI มาใช้งาน โดยนำความสามารถของแพลตฟอร์มความปลอดภัย TOSSAKAN มาใช้งาน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากองค์กรธุรกิจเป็นอย่างดี และมีโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต
สำหรับความท้าทายในการให้บริการแพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัย TOSSAKAN นั้นจะอยู่ที่การเชื่อมต่อฐานข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่มาใช้งาน บนพื้นฐานของการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ประกอบกับในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันหลายๆ องค์กรธุรกิจยังมองว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องรอง สิ่งที่ต้องลงทุนในเวลานี้คือต้องทำให้ธุรกิจกลับมาได้ก่อน
ดังนั้น สิ่งที่ TOSSAKAN กำลังพัฒนาเพิ่ม เพื่อเข้าไปช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำธุรกิจคือการทำระบบยืนยันตัวตน (e-KYC) ที่ปัจจุบันเริ่มเข้าไปให้บริการแล้วในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งโลจิสติกส์ ธนาคาร การเงิน ประกันภัย รวมถึงกระดานแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลด้วย
นอกเหนือจาก TOSSAKAN ทาง SKY ICT ได้พัฒนาบริการใหม่อย่าง VIMARNN (Visitor Management System) ที่นำความเชี่ยวชาญของเทคโนโลยีการตรวจจับ และวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องวงจรปิด (Computer Vision) มาให้บริการอย่างการตรวจจับป้ายทะเบียนในอาคารจอดรถ การตรวจจับใบหน้า ที่ประยุกต์ใช้งานร่วมกับการตรวจจับพฤติกรรมการใช้งานในแต่ละสถานที่ได้ด้วย
‘บริการอย่าง VIMARNN จะเข้าไปตอบโจทย์ในกลุ่มธุรกิจรีเทลเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้สามารถนับจำนวนผู้คนที่เข้ามาเดินภายในห้างสรรพสินค้า รวมถึงการตรวจจับเพื่อสร้าง Heat Map หรือจุดที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากที่สุด ซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงการให้บริการได้’
*** สร้าง Tech Talent รับการเปลี่ยนแปลง
‘จากที่สัมผัสมาจะพบว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีใครต้องการเข้าออฟฟิศทุกวัน แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องการ Work from Home พวกเขายังต้องการเพื่อนเพื่อพัฒนาตนเองให้เก่งยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น การมีแชริ่งคอมมูนิตี จะเปิดกว้างให้นักพัฒนาสามารถมาพูดคุยกันได้’
นอกจากนี้ การมีทีมที่คอยดูแลพัฒนาบุคลากรจะช่วยเข้ามาดูแลในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะถ้าสามารถพัฒนาทีมงาน หรือเข้าไปเริ่มตั้งแต่ระดับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จะเป็นการพัฒนาบุคลากรอย่างแท้จริง โดยล่าสุดทาง SKY ICT ได้เปิดพื้นที่ SKY Space เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นทั้งพื้นที่สำนักงานอัจฉริยะ เปิดให้พนักงานสามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างอิสระ รวมถึงเป็นพื้นที่รวบรวมเทคโนโลยีล้ำสมัย มาจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจได้ทดลองใช้งาน รวมถึงเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้วย
‘จาก 3 แกนหลักนี้ ทำให้ SKY ICT คาดหวังว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีที่ครบวงจรเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้อย่างแน่นอน’