หลังจาก LINE ประเทศไทย เริ่มตัดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรทิ้งไป ทั้งในส่วนของบริการอย่างเดลิเวอรี ที่แยกออกไปเป็น LINEMAN Wongnai และยุติบริการ LINE TV ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา พร้อมกับเข้าไปบุกตลาดใหม่อย่างบริการวิดีโอสั้นอย่าง LINE Voom และเพิ่มบริการที่ตรงกับพฤติกรรมของคนไทยอย่างดูดวงและแก้บนเข้ามา
แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่เปลี่ยนไปของ LINE ในปีนี้ ที่จะเริ่มเห็นว่าทุกธุรกิจและบริการจะต้องเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญให้แก่บริษัท โดยเฉพาะหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจในฝั่งของผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Business) พร้อมกับตั้ง ‘นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร’ ที่แต่เดิมรับผิดชอบในตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ (CCO) ที่ดูแลในฝั่งของธุรกิจบริการที่สร้างรายได้ให้แก่ LINE ขึ้นมาเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) พร้อมรับผิดชอบหน้าที่ในภาพรวมมากขึ้น
การเข้ามารับหน้าที่ของ ‘นรสิทธิ์’ จึงส่งผลต่อกลยุทธ์ในธุรกิจหลายๆ ส่วนของ LINE ประเทศไทย ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการนำทรัพยากรของทั้ง 2 ส่วนธุรกิจมาผสมผสานเพื่อก่อให้เกิดไอเดีย และการเฟ้นหาพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาให้ LINE ประเทศไทย สามารถเดินหน้าต่อไปรับกับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
นรสิทธิ์ ระบุถึงความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นว่า จากเดิมที่ดูแลในส่วนของธุรกิจเป็นหลัก พอเข้ามาดูในส่วนของบริการ และคอนเทนต์ก็จะสามารถบริหารจัดการการทำงาน จนถึงสร้างไอเดียใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้มากกว่าเดิม และให้เตรียมรอดูบริการใหม่ๆ ที่จะออกมาให้เห็นกันได้เลย พร้อมย้อนให้เห็นว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา LINE ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาทั้งในส่วนของในประเทศ และในระดับโลก ซึ่งนับจากนี้จะมีการเพิ่มบริการที่น่าสนใจต่อตลาดมากขึ้นด้วย
สำหรับโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ของฝั่ง LINE Consumer จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักด้วยกันคือ 1.กลุ่มธุรกิจด้านครีเอเตอร์ (LINE Creator) ที่รวบรวมบริการสื่อสารผ่านข้อความ และสติกเกอร์เข้ามา เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น และอีกส่วนคือ 2.กลุ่มธุรกิจภายใต้การโทร.ด้วยเสียง (VOIP) จากเทรนด์การใช้งานทั้ง LINE Call และ Video Call ที่เพิ่มสูงขึ้นจึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการขยายบริการต่อไปในอนาคต
***มุ่งหาช่องทางสร้างรายได้ให้ครีเอเตอร์
ปัจจุบันในฝั่งธุรกิจคอนซูเมอร์ของ LINE จะมีบริการหลักๆ ที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็น LINE Sticker ที่เริ่มต้นตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2011 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนสูงถึง 35 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยกว่า 50 ล้านคน โดยที่ผ่านมาการสร้างรายได้ของกลุ่มธุรกิจสติกเกอร์คือการผลักดันให้ครีเอเตอร์คนไทยเข้าร่วมออกแบบสติกเกอร์และวางจำหน่าย ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 1 ล้านราย จำหน่ายสติกเกอร์ไปแล้วกว่า 5.3 ล้านชุด
พร้อมกับต่อยอดโอกาสของครีเอเตอร์ให้เข้าสู่ธุรกิจลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายลิขสิทธิ์ตัวคาแร็กเตอร์ของสติกเกอร์ที่ออกแบบ โดยเฉพาะการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของครีเอเตอร์ไปยังการสร้างรายได้ผ่าน NFT ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงศึกษาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดให้ทั้งแบรนด์ ครีเอเตอร์ และผู้ใช้งานได้ประโยชน์ไปด้วยกัน
ในเบื้องต้น LINE มองว่า การที่จะบุกตลาด NFT นั้นต้องมองก่อนว่าตลาดเมืองไทยมีความพร้อมมากแค่ไหน มีจำนวนผู้ใช้งานสกุลเงินดิจิทัลในแง่ของการสะสมผลงานศิลปะมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่การเข้าไปทำกำไรจากการซื้อขาย
ขณะเดียวกัน ในกรณีที่มีตลาดเปิดพร้อมให้เข้าไปจำหน่าย NFT แล้วมีศิลปินหรือครีเอเตอร์เข้าไปทำตลาดหรือไม่ ดังนั้นในจุดเริ่มต้น LINE จะเริ่มจากการเข้าไปผลักดันให้ครีเอเตอร์กว่า 1 ล้านราย เริ่มผลิตงาน NFT ที่สามารถสร้างรายได้จากตลาดระดับโลกได้ ภายใต้การเข้าไปให้ความรู้แก่ครีเอเตอร์ทั้ง การทำ LINE Creator NFT Academy ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตสินค้า NFT จนถึง LINE Creators NFT for Business เพื่อเสริมความรู้ในแง่การทำธุรกิจาก NFT ให้ครอบคลุมมากที่สุด
“ด้วยรูปแบบของ NFT ที่เห็นในปัจจุบัน เชื่อว่าผลงานจะออกมาในลักษณะของงานศิลปะมากกว่า แต่เชื่อว่าถ้าในอนาคตมีตลาดที่พร้อม มีเคสให้นำไปใช้งาน ความนิยมของ NFT จะพุ่งสูงขึ้นอย่างแน่อน”
***สร้างจุดเด่นต่อยอดโทร.ฟรีผ่าน LINE
นอกเหนือจากบริการ LINE แชตแล้ว อีกบริการที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือ LINE Call ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานต่อเดือนราว 34 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 20% ในขณะที่ LINE VDO Call มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านราย เติบโตถึง 30% ทำให้ LINE มองเห็นโอกาสในการขยายบริการเสริมที่จะเข้ามาจับกลุ่มผู้ใช้งาน LINE Call มากขึ้น อย่างบริการเสียงเพลงรอสาย LINE Melody ที่เริ่มให้บริการในปี 2019 และปัจจุบันมีผู้ใช้งานต่อเดือนกว่า 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 600% พร้อมคลังเพลงที่เพิ่มขึ้นกว่า 38,000 เพลง
นรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของ LINE Melody คือการเปิดช่องทางให้ผู้ใช้งาน LINE ได้เข้าไปอุดหนุนศิลปินที่ชื่นชอบ พร้อมมีการจัดอันดับเพลงที่ได้รับความนิยม เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ศิลปิน และสนับสนุนศิลปินในการทำเพลง
“เมื่อเทียบจำนวนผู้ใช้งาน LINE Call ที่มีกว่า 34 ล้านคนต่อเดือน ทำให้ LINE Melody ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดย LINE กำลังจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่อย่างการเลือกเสียงเพลงรอสายให้เหมาะกับผู้ใช้งานแต่ละคน เพื่อให้สามารถเลือกได้ว่าถ้าเป็นเพื่อนคนไหนโทร.มาจะได้ยินเสียงเรียกสายที่แตกต่างกัน”
ขณะเดียวกัน เมื่อผู้บริโภคมองว่าการโทร.ฟรีผ่าน LINE ได้เข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้โทรศัพท์ และเข้าใจแล้วว่าในการโทร.ต้องใช้งานดาต้าที่อาจจะมีค่าใช้จ่าย แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นที่จะใช้งาน ประกอบกับด้วยการที่ LINE กลายเป็นช่องทางสื่อสารหลักในการติดต่อธุรกิจมากยิ่งขึ้น ทำให้มีโอกาสในการขยายตัวของผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีกมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้งาน LINE ทั้ง 50 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมีในฝั่งของคอนเทนต์อย่าง LINE Today ที่มีการเพิ่มบริการอย่าง LINE Horo หรือดูดวง เสริมไปจากฟีเจอร์แก้บน แก้ชง ที่เพิ่งเปิดให้บริการในปี 2021 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าใช้งานกว่า 3 ล้านรายต่อเดือน ซึ่งจุดเริ่มต้นของบริการนี้เกิดขึ้นจากที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คนไทยไม่สามารถเดินทางไปวัดเพื่อไหว้พระ ขอพร ทำบุญ และแก้บน
โดย 3 สถานที่ขอพร แก้บนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดบนแพลตฟอร์ม คือ 1.หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ 2.ไอ้ไข่ กุมารเทพ วัดเจดีย์ และ 3.หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรมหาวิหาร
“ช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งาน LINE ขอพร แก้บน จะมากขึ้นในช่วงกลางเดือน และปลายเดือน ที่เป็นช่วงประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาล และมีการใช้งานในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนา ปีใหม่ และตรุษจีนที่เพิ่มขึ้นด้วย”
พร้อมกับเพิ่มเนื้อหาใน LINE Horo ครอบคลุมเกี่ยวกับการดูดวง ฤกษ์มงคล เช็กสีเสื้อมงคล และเปิดไพ่ทาโรต์ เพื่อให้ LINE Horo ขยับสู่การเป็นศูนย์กลางคอนเทนต์ดูดวงในโลกออนไลน์