LINE ประเทศไทย ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ แยกกลุ่มธุรกิจครีเอเตอร์ และการใช้งานเสียงออกจากกัน พร้อมเตรียมเปิดโอกาสครีเอเตอร์กว่า 1 ล้านรายผลิตงาน NFT ทำตลาดร่วมกับพันธมิตรมาร์เก็ตเพลสในไทย
นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า จากสถานการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา LINE ประเทศไทย ได้มีการปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง และวางแผนธุรกิจที่สามารถไปต่อได้หลังโควิด-19
หนึ่งในนั้นคือ LINE ได้มีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจในกลุ่ม LINE Consumer Business ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.กลุ่มธุรกิจด้านครีเอเตอร์ (LINE Creator Business) และ 2.กลุ่มธุรกิจบริการภายใต้การโทร.ด้วยเสียง (LINE VOIP Business)
“การมุ่งมั่นสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีบนแพลตฟอร์มยังคงเป็นจุดมุ่งหมายหลัก ควบคู่ไปกับการยกระดับครีเอเตอร์ชาวไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก พร้อมกับปรับโครงสร้างเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต”
สำหรับในกลุ่มครีเอเตอร์จะเน้นการผลักดันการสร้างสรรค์ผลงานสติกเกอร์ ไปสู่งานศิลปะในแง่ของลิขสิทธิ์ รวมถึงการเข้าไปจับตลาด NFT ที่สามารถขยายโอกาสไปยังกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และสร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้น
โดยในปัจจุบัน LINE ประเทศไทยได้เป็นพันธมิตรกับตลาด NFT (NFT Marketplace) ชั้นนำ อย่าง EAST NFT, Bitkub NFT, Coral by KASIKORN X และ Zixel by Zipmex รวมถึง DOSI มาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ภายใต้ Naver จากเกาหลีใต้
“การทำงานของ LINE จะมีตั้งแต่การเข้าไปให้ความรู้ครีเอเตอร์ รวมถึงการสรรหาสิทธิพิเศษจากมาร์เก็ตเพลสเพื่อให้ครีเอเตอร์สามารถผลิตผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ในขณะที่ธุรกิจ VOIP จะเน้นการขยายบริการเสริมเข้าไปจับกลุ่มผู้ใช้งาน LINE Call และ VDO Call ที่มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนกว่า 34 ล้านคน และ 22 ล้านคนตามลำดับ อย่างการเปิดให้เลือกเสียงเพลงรอสายเฉพาะบุคคล (Assign by Friend) ด้วยการนำ LINE Melody มาใช้ รวมถึงเพิ่มบริการดูดวงออนไลน์เข้าไปเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา คนไทยมีการใช้งาน LINE Sticker กว่า 35 ล้านคนต่อเดือน มีการจำหน่ายสติกเกอร์ไปกว่า 5.3 ล้านชุด จากครีเอเตอร์กว่า 1 ล้านราย ขณะที่บริการ LINE Melody มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนกว่า 2.2 ล้านคน และ LINE Horo มีผู้ใช้งานกว่า 3 ล้านคน