xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าวิสัยทัศน์ 3 ปีพันล้าน "เบญจจินดา" ไซเบอร์ซิเคียวริตีไม่ใช่แค่โปรเจกต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ ‘ศุภกร กังพิศดาร’ แม่ทัพใหญ่ที่กลุ่มเบญจจินดา ตั้งมาคุมบริษัทลูกซึ่งเพิ่งแยกออกมาเพื่อปักธงเติบโตในตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีอย่างจริงจัง คาดว่าจะทำรายได้เบาๆ 1,000 ล้านบาท ใน 3 ปี ผลจากไอเดียการวางจุดยืนไม่เป็นบริษัทที่รับทำแค่โปรเจกต์แล้วจบไป แต่เน้นเป็นบริษัทที่วางแผนให้องค์กรแก้ไขความท้าทายและรับมือภัยไซเบอร์ได้ต่อเนื่อง ปิดฉากภาวะการลองผิดลองถูกสั่งซื้อระบบตามเทรนด์โลก และหาทีมมาดูแลเอง จนสุดท้ายองค์กรไปไม่ไหวเพราะ ‘ของถูกกองไว้-คนก็ขาด’ และไม่ได้ประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอัน

กลุ่มเบญจจินดาตั้งชื่อบริษัทใหม่ว่า ‘ไซเบอร์ อีลีท’ (Cyber Elite) รายได้ที่คาดว่าจะทำได้ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปีมาจากส่วนแบ่งตลาด 3-4% ในปีแรกที่จะเพิ่มเป็น 10% ของมูลค่าตลาดระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของไซเบอร์ หรือไซเบอร์ซิเคียวริตี้ (Cybersecurity) ในไทยที่พบว่ามีเงินสะพัดมากกว่าหมื่นล้านบาทในปีนี้และปีหน้า คาดว่าการเติบโตของตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยและเอเชียจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก เนื่องจากทุกส่วนงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีมากขึ้น รวมถึงเรื่องข้อกฎหมายของหน่วยงานการกำกับดูแล (Regulator) ในไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ที่ให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ความมั่นใจในการตั้งบริษัทลูกขึ้นใหม่อยู่ที่จุดแข็งเรื่องประสบการณ์ดูแล Cybersecurity ให้องค์กรขนาดใหญ่ของกลุ่มเบญจจินดา การจัดตั้งบริษัท ไซเบอร์ อีลีท เกิดขึ้นเพราะกลุ่มเบญจจินดาได้เห็นอัตราการเติบโตของธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตีในกลุ่มที่ก้าวกระโดดขึ้นอีก 40% ในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถ้าไม่แยกออกและยังปล่อยให้อยู่ในร่มของ UIH (บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท เบญจจินดา) จะยังจำกัดที่ธุรกิจเน็ตเวิร์กซิเคียวริตีซึ่งให้บริการคู่กับการเชื่อมต่อ ดังนั้น จึงมีการขยับขยายเพื่อให้สามารถครอบคลุมได้ครบทุกความต้องการด้านซิเคียวริตีขององค์กร

***ซิเคียวริตีคือเทรนด์

ศุภกร กังพิศดาร กรรมการผู้จัดการบริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด เล่าถึงการแยกออกมาตั้งบริษัทใหม่ในครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นเพราะการเติบโตที่บริษัทเห็นได้จากปัจจัยเสริมเรื่องการเปลี่ยนแปลงในยุคโควิด-19 และการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และการมองแนวโน้มในไทยและโลกที่พบว่าไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็น 1 ใน 3 เรื่องที่องค์กรใหญ่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทำให้การตั้งบริษัทไซเบอร์ อีลีทช่วยเสริมให้เบญจจินดาไม่หลุดจากกรอบเทรนด์ฮอตที่ทุกฝ่ายไม่มองข้าม

‘เฉพาะอยู่กับ UIH ก็มีการเติบโตเกิน 40% ถ้ายังอยู่ใน UIH ก็จะอยู่กับธุรกิจเน็ตเวิร์กซึ่งถูกให้บริการคู่ไปกับการเชื่อมต่อเท่านั้น จึงมีการตัดสินใจขยายเพื่อให้สามารถครอบคลุมครบทุกความต้องการขององค์กร สิ่งที่บริษัทมองแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ระดับโลกและประเทศไทย ซึ่งพบว่าวันนี้องค์กรใหญ่ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องคือเรื่อง cybersecurity ทั้งการป้องกันมัลแวร์และแรนซัมแวร์ เรื่องที่ 2 คือ Cloud และเรื่องที่ 3 คือ AI และ Machine Learning สามข้อนี้คือแกนหลักซึ่งจะไม่หลุดจากเทรนด์ที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ ซึ่งวันนี้ ทั้งโลกเข้าสู่บริการ managed service ด้านซิเคียวริตี องค์กรพยายามพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น เมื่อสังเกตพบเทรนด์นี้ จึงพยายามพัฒนาความสามารถให้รองรับเทรนด์ได้’


อีกปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็นหน่วยธุรกิจที่น่าสนใจและควรลงมาเล่นในตลาดแบบจริงจังขึ้นไปอีก คือแนวโน้มความแพร่หลายของเทคโนโลยีใหม่ เช่น บล็อกเชน เว็บทรี และอีกหลายเทคโนโลยีซึ่งมีการใช้งานที่กระจายศูนย์ ทำให้การรักษาความปลอดภัยจะต้องไปขึ้นอยู่กับผู้ใช้บริการปลายทางมากขึ้น จึงเห็นได้ชัดว่าจะเกิดการขยายตัว สำหรับประเทศไทย จากเทรนด์โควิด-19 และเวิร์กฟอร์มโฮม ทำให้ทุกคนต้องต่ออินเทอร์เน็ตเข้าสู่เครือข่ายขององค์กร ขณะเดียวกัน องค์กรต้องปรับตัวเพื่อรับกับกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแล

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ขนาดตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยเติบโตต่อเนื่อง เชื่อว่าปีนี้ตลาดน่าจะสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท และภาวะโควิด-19 มีโอกาสพาให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตน่าจะไม่ต่ำกว่า 15-20% ต่อปี การเปิดบริษัทใหม่ครั้งนี้คาดว่าจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาด 3-4% ของตลาดไทย อัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30 ถึง 50% ในปีถัดไป จนมีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาทในปี 2568

***เซกเมนต์ชัด โฟกัสประกอบร่าง

ศุภกร ย้ำว่า ความมั่นใจเรื่องรายได้เกิดขึ้นเพราะการเห็นช่องว่างในตลาด แม้จะไม่ใช่บริษัทเดียวที่เริ่มทำธุรกิจซิเคียวริตี แต่กลุ่มเบญจจินดาให้บริการด้านโทรคมนาคมมานานหลายสิบปี เห็นความต้องการหลากหลาย จึงมองสัดส่วนการบริการลูกค้าออกเป็น 2 เซกเมนต์ ส่วนแรกคือ ลูกค้า security maturity ที่ลงทุนและก่อร่างระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในระดับหนึ่งแล้ว เซกเมนต์นี้ไซเบอร์ อีลีทวางเป้าหมายจะช่วยให้องค์กรประกอบร่างและใช้ประโยชน์ระบบที่มีได้สูงสุด ซึ่งที่ผ่านมา อาจยังไม่ได้ปรุงแต่งระบบให้เหมาะกับองค์กรอย่างแท้จริง หรืออาจมีปัญหาขาดบุคลากรที่ยังเป็นความท้าทายของหลายองค์กรในการดำเนินการตามหน่วยงานกำกับดูแล

‘การทำซิเคียวริตีจะต้องอยู่ที่ความเสี่ยงขององค์กรที่ไม่เหมือนกัน การมองไม่ออกจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้ไม่สูงสุด เชื่อว่าเราจะตอบโจทย์ได้’

ขณะที่อีกเซกเมนต์คือ ลูกค้าที่ยังไม่มีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคาม กลุ่มนี้จะไม่ใช่ธนาคารหรือบริษัทเทคโนโลยี แต่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่มีอุปกรณ์และไม่มีบุคลากรซึ่งบริษัทจะไปเติมเต็มในรูปแบบ managed service ซึ่งส่วนนี้จะเพิ่มรายได้จากยอดที่มีอยู่ให้ดีขึ้น


เมื่อมองภาพรวม ไซเบอร์ อีลีท จะแบ่งบริการออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านแรกคือการทำโซลูชันซึ่งจะจัดเป็นแพกเกจที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรมตามการกำกับดูแล ด้านที่ 2 คืองานที่ปรึกษาซึ่งจะไม่ทำแค่เฉพาะโปรเจกต์มาตรฐาน ISO หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) เนื่องจากมองว่า 2 ตลาดนี้เริ่มอิ่มตัวแล้ว ผู้เล่นเริ่มเข้าสู่สงครามราคา ดังนั้น ไซเบอร์ อีลีท จะโฟกัสเรื่องการให้คำปรึกษาที่รองรับความต้องการรอบด้านของผู้บริหารด้านความปลอดภัยสารสนเทศ ที่จะต้องรายงานตรงถึงคณะกรรมการบริหาร

ด้านที่ 3 คือบริการ managed SOC ให้บริการศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุมความต้องการ ด้านที่ 4 คือโปรดักต์ซึ่งเบญจจินดามีความแข็งแรงเรื่องการวิจัยและพัฒนาภายในองค์กรและมีบุคลากรอยู่แล้ว ขณะที่ด้านที่ 5 คือบริการ cybersecurity capabilities ซึ่งเน้นพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ศุภกร ย้ำว่า ทีมงานของไซเบอร์ อีลีทจำนวน 90% มีใบรับรอง หรือ certificate ระดับนานาชาติที่องค์กรต้องการ ขณะเดียวกัน จุดแข็งของบริษัทคือ R&D หรือการวิจัยภายในองค์กรที่มีการพัฒนาและริเริ่มเซอร์วิสใหม่ต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีการตั้งทีมศึกษาเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยบนเทคโนโลยีใหม่อย่างเว็บทรี หรือ web 3.0 รวมถึงบล็อกเชน ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่า ‘แฮกยาก’ แต่ยังมีช่องโหว่ที่โปรโตคอล เช่น ผู้ใช้ ระบบยืนยันตัวตนของผู้ใช้ซึ่งอาจไม่ได้ป้องกันเพียงพอ รวมถึงจุดอื่นที่เชื่อมกับการถ่ายโอนข้อมูลที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ

‘ทุกบริษัทในกลุ่มจะสามารถแนะนำการขายมาที่ไซเบอร์ อีลีท เชื่อว่าเราจะเป็นศูนย์กลางให้บริการด้านความปลอดภัย เรามีทีมขายขนาดใหญ่ มีลูกค้ารวมหลายพันองค์กร’

นอกจากพลังของทีมขายของกลุ่มเบญจจินดาซึ่งจะขายร่วมกัน อีกจุดยืนที่ชัดเจนของไซเบอร์ อีลีท คือ การไม่ลงมือดำเนินการเองทุกอย่าง โดยจะมีพันธมิตรระดับโลกที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึงความเชี่ยวชาญระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่ช่วยสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการซิเคียวริตีรายอื่นและเสริมให้ธุรกิจของไซเบอร์ อีลีทยั่งยืนได้ คือการทำวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม รวมถึงการทำโซลูชันเฉพาะที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริงด้วยเป้าหมายอยากเป็นบริษัทซิเคียวริตีที่เข้าใจลูกค้า ซึ่งรองรับการทำธุรกิจยุคนิว นอร์มอล และต่อยอดใช้งานได้ต่อเนื่องในอนาคต ไซเบอร์ อีลีทเชื่อว่าจะโกยส่วนแบ่งรายได้ 3-4% ของตลาดรวม (คิดเป็นมูลค่า 350-400 ล้านบาทสำหรับปีนี้) เชื่อว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 30%ในปีต่อๆ ไป

***เงินลงทุนตั้งต้น 50 ล้านบาท

ศุภกร ให้ข้อมูลว่าไซเบอร์ อีลีทวางงบ 50 ล้านบาทเพื่อพัฒนาทุกส่วนในบริษัท ทั้งส่วนบุคลากร ส่วนอัปเกรดห้อง SOC และการนำเงินไปลงทุนกับงานวิจัย โดยตัวอย่างงานวิจัยที่จะได้เห็นคือ Security Intelligence Platform เชื่อว่าจะเปิดตัวได้ในปี 2566


แพลตฟอร์มดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้องค์กรเห็นภาพรวมซิเคียวริตีแบบบนลงล่าง (top down) โดยที่ผู้บริหารจะสามารถทำงานจากที่บ้านแล้วมองเห็นว่ามีช่องโหว่ที่ใดในระบบซึ่งเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อธุรกิจ ตัว Intelligence Platform ถือเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีหลากหลายโมดูลย่อยรวมกัน เชื่อว่าจะมีการเปิดตัวโมดูลย่อยเพิ่มเติมอีก ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีบริการด้าน Log Retention การจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูล และการใช้เทคโนโลยี AI และ Machine Learning ได้

ศุภกร ยืนยันว่าไซเบอร์ อีลีทจะไม่ได้แข่งขันกับผู้ให้บริการกลุ่ม SI เนื่องจากบริษัทวางจุดยืนการเป็นผู้ให้บริการหรือไซเบอร์ซิเคียวริตี โพรวายเดอร์ แม้จะประเมินการแข่งขันในตลาดได้ยาก แต่บริษัทวางเป้าหมายเปรียบเทียบกับบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง ‘เอคเซนเชอร์’ (Accenture) เนื่องจากไซเบอร์ อีลีทมองตัวเองเป็นผู้ตอบโจทย์ความท้าทายของธุรกิจ และจะไม่ทำเพียงแค่โครงการหรือโปรเจกต์ที่มีขั้นตอนตายตัวแบบ 1-2-3-4 เท่านั้น

‘ลูกค้าช่วงแรกเชื่อว่าจะเป็นบริษัทเอกชนเป็นหลัก คาดว่าลูกค้าเอกชนจะคิดเป็นสัดส่วน 70% อีก 30% เป็นภาครัฐ เนื่องจากโครงการรัฐต้องใช้เวลาและการขยายตลาดในอนาคต’

ความท้าทายของไซเบอร์ อีลีทนั้นไม่ต่างจากความท้าทายของบริษัทด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีในประเทศไทย นั่นคือการต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จุดนี้ผู้บริหารชี้ว่าการพัฒนาไซเบอร์ อีลีทได้ยั่งยืนนั้นจะต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง

‘การจะชนะได้จะต้องเข้าใจบริบทของธุรกิจลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทซิเคียวริตีไทยไม่เข้าใจ และเน้นขายระบบที่เป็นเทรนด์โลก แต่หากเป็นการขายระบบเพราะรู้ว่าเพียงพอสำหรับโจทย์ของลูกค้า จะมีโอกาสแก้ไขจุดบกพร่องของธุรกิจได้มากกว่า เป็นการแก้ได้ตรงจุด และสามารถช่วยให้องค์กรลงทุนได้เหมาะกับระดับความเสี่ยง’สำหรับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ไซเบอร์ อีลีทมองว่ากลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทคือกลุ่มที่ต้องการปรับกระบวนการเพื่อให้ผ่านวิกฤตได้ ซึ่งเมื่อผ่านวิกฤตได้แล้ว เชื่อว่ากลุ่มนี้จะอยากยกระดับกิจกรรมและลงทุนมากขึ้นอยู่แล้ว

***ไป CLM ช่วงปีที่ 3


เมื่อถามถึงเป้าหมายระยะยาวที่บริษัทมองไว้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ศุภกร ระบุว่าต้องการเป็นเบอร์ 1 ของตลาดซิเคียวริตีไทย ไม่ได้หวังเป็น ‘Accenture เมืองไทย’ แต่จะโฟกัสที่การเป็นผู้ให้บริการที่สามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดี

‘ใน 5 ปีจากนี้บริษัทมองที่ตลาดระดับภูมิภาค เพราะเห็นประเทศที่มีความต้องการ ทั้งพม่า ลาว และกัมพูชา เรามีแผนจะขยายผ่าน channel partner คาดว่าจะเริ่มบุกตลาดนอกประเทศไทยในช่วงปีที่ 3’

อย่างไรก็ตาม ในรายได้ 350-400 ล้านบาทสำหรับปีนี้ ศุภกร เชื่อว่าจะแบ่งเป็นรายได้จากโปรเจกต์แบบซื้อครั้งเดียวจบและแบบ recurring ที่มีรายได้ต่อเนื่อง เบื้องต้น บริษัทวางเป้าหมายให้สัดส่วนของ 2 กลุ่มนี้เป็น 50:50 แต่เชื่อว่าจะยังเป็น 60:40 ในระยะแรก

ปัจจุบัน ไซเบอร์ อีลิทมีพนักงานทั้งหมด 100 คน ประกอบด้วยกลุ่มที่โยกย้ายมาจาก UIH เดิม และการรับพนักงานเพิ่ม คาดว่าจะเพิ่มเป็น 150 คนในปี 2567 เนื่องจากเทรนด์บริการงานไซเบอร์ซิเคียวริตีในปัจจุบันนั้นไม่เน้นนำระบบเก่ามาให้ดูแล แต่มักต้องการนำบุคลากรไปนั่งและทำงานด้วย เทรนด์นี้อาจจะทำให้ต้องรับพนักงานเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

บอกแล้ว..ไซเบอร์ซิเคียวริตีไม่ใช่แค่โปรเจกต์


กำลังโหลดความคิดเห็น